ออกแบบชีวิต ฉบับ 'ธนา เธียรอัจฉริยะ' อยาก Work life balance ต้องลงทุน

ออกแบบชีวิต ฉบับ 'ธนา เธียรอัจฉริยะ' อยาก Work life balance ต้องลงทุน

หลายคนอยากมีความสมดุลชีวิตและการทำงาน อยากมีชีวิตที่ออกแบบได้และได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ในมุมมอง 'ธนา เธียรอัจฉริยะ' มองว่า หากต้องการ Work life balance ต้องลงทุน 'อยากมีชีวิตที่ออกแบบได้' ต้องสั่งสมประสบการณ์ มีทักษะที่ตลาดต้องการ และมีเครือข่ายที่ดี

Key Point : 

  • การมีชีวิตที่เลือกได้ ออกแบบได้ หรือสามารถมี Work life balance ได้นั้น ในมุมมองของ 'ธนา เธียรอัจฉริยะ' มองว่า การจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องสั่งสมทั้งเงิน ประสบการณ์ และกัลยาณมิตร 
  • ขณะเดียวกัน แม้การทำงานในปัจจุบันเอื้อต่อการที่คนรุ่นใหม่จะมี Work life balance ได้มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญ คือ วินัย และการบริหารทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างเวลา
  • คนที่เริ่มคิด Work life balance ตั้งแต่อายุน้อยๆ จะเสี่ยงกว่าคนที่ประสบความสำเร็จ ทุกอย่างต้องลงทุน ต้องมีเงินเก็บพอสมควร ถึงเวลานั้นเราจึงจะเริ่มเลือกได้

 

แม้ปัจจุบัน ชีวิตจะสามารถออกแบบได้ แต่กว่าที่จะมาอยู่ตรงจุดนี้ 'ธนา เธียรอัจฉริยะ' ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการหลักสูตร สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ (ABC) มหาวิทยาลัยศรีปทุม , ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะต้นแบบของคนรุ่นใหม่ ที่ผ่านประสบการณ์การตลาดในหลายอุตสาหกรรม เผยว่า การมีชีวิตที่เลือกได้ ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้ตนเองเติบโตพอที่จะออกแบบชีวิตได้

 

แน่นอนว่า 'โชค' ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ตนได้ไปอยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็ว แต่ที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ กัลยาณมิตร พี่น้อง เพื่อนฝูง ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เจ้านายที่สอนงานและให้โอกาส รวมถึงประสบการณ์สำคัญๆ หลายอย่างในชีวิตโดยเฉพาะเรื่องที่ทำแล้วล้มเหลว เป็นบทเรียนที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น Up level ขึ้นทุกครั้ง

 

 

ออกแบบชีวิต ฉบับ \'ธนา เธียรอัจฉริยะ\' อยาก Work life balance ต้องลงทุน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ออกแบบชีวิตได้ ต้องมีวินัย

 

บริบทในยุคที่เปลี่ยนไป อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่ออกแบบชีวิตได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม 'ธนา' มองว่า ไม่ว่ายุคไหนเราก็ออกแบบชีวิตของเราได้ ยุคนี้มีข้อดีที่บริษัทให้โอกาสและมีความยืดหยุ่นกับพนักงานมากขึ้นมาก มี Work From Anywhere มีความพยายามเอาใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น แต่ในที่สุดก็จะขึ้นกับวินัยของตัวเองมากกว่าว่าพยายามจะออกแบบชีวิตของเราหรือไม่ และมีวินัยเพียงพอที่จะทำมันหรือไม่มากกว่า

 

“หัวหน้างานสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน เขาไม่ได้วัดเป็นชั่วโมงการทำงานตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ดังนั้น ในแง่ของการทำงาน หากอยากมี Work life balance มีเวลาไปทำอย่างอื่น ต้องทำงานให้สำเร็จก่อน Work life balance ใช้ได้กับคนที่มีทางเลือก คนที่เริ่มคิด Work life balance ตั้งแต่อายุน้อยๆ จะเสี่ยงกว่าคนที่ประสบความสำเร็จ โลกนี้มันโหดร้าย หากไม่ชอบทำงาน ไม่มี Passion อยากมีเวลาไปเที่ยว เห็นคนอื่นได้ใช้ชีวิต แต่อย่าลืมว่า ทุกอย่างต้องลงทุน ไม่ได้มาฟรีๆ ต้องมีเงินเก็บพอสมควร ถึงเวลานั้นเราจึงจะเริ่มเลือกได้”

 

 

3 ปัจจัย สู่ชีวิตที่เลือกได้

 

ธนา กล่าวต่อไปว่า หากอยากจะมีชีวิตที่พอเลือกได้ ปัจจัยพื้นฐานแรกๆ ที่ต้องมี คือ 'เงินเก็บ' ที่พอสมควร ซึ่งนอกจากเกิดจากรายได้ต่างๆ ที่สะสมมาแล้ว วินัยเรื่องการออม ไม่เป็นหนี้ และการรู้จักลงทุนก็ทำให้เราน่าจะมีเงินพอที่จะเลือกใช้ชีวิตได้ รวมถึงความไม่ฟุ้งเฟ้อก็จะทำให้มาถึงระดับ Financial Independence ได้ง่ายขึ้น

 

ปัจจัยถัดมา คือ 'การสั่งสมทักษะและประสบการณ์' โดยเฉพาะเรื่องภาวะผู้นำเมื่ออายุมากขึ้นทำให้คนสนใจอยากจ้าง หากมีคนอยากจ้างเราทำงานมากพอ เราก็จะเลือกสิ่งที่ทำได้ง่ายขึ้น ปัจจัยสุดท้าย “เรื่องวินัย” การให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่จำกัดที่สุด คือ เรื่องของเวลา ซึ่งแต่ละช่วงเวลาก็จะมีความสำคัญของชีวิตต่างกัน

 

ออกแบบชีวิต ฉบับ \'ธนา เธียรอัจฉริยะ\' อยาก Work life balance ต้องลงทุน

 

ช่วงแรกๆ ของการทำงาน คือ เรื่องเงินเก็บและการเรียนรู้ สร้างความสามารถให้ตัวเอง ต่อมาก็เป็นเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ครอบครัว ระหว่างทางก็เป็นเรื่องการดูแลร่างกายและจิตใจของตัวเองให้แข็งแรง เราต้องเรียงว่าอะไรสำคัญ ออกแบบชีวิตก่อน และมีวินัยที่จะบังคับตัวเองทำให้เรื่องสำคัญก่อนได้

 

“ผมเคยเรียงไว้ตามความสำคัญในช่วงลูกยังเล็กไว้ว่า ลูกสาว ร่างกาย ความสุขเล็กๆ น้อยๆ และการทำตัวมีประโยชน์ แล้วก็ใช้ชีวิตตามนั้น ตัดเรื่องไม่จำเป็นออก เราก็จะได้ในสิ่งที่เราให้คุณค่ากับมันจริงๆ”

 

สะสมคำขอบคุณ เหมือนการปลูกต้นไม้

 

ในหลักของเศรษฐศาสตร์เรามักจะคิดว่าทรัพยากรมีจำกัด เราต้องใช้เวลาจำกัด วิธีการคิด ทุกอย่างจำกัด ทำให้ต้องแสวงหาสิ่งที่ผลตอนแทนเยอะถึงจะคุ้มกับสิ่งที่เราทุ่มเท แต่อยากจะลองให้ไอเดียเรื่องผลตอบแทนที่อาจจะไม่ใช่เงินอย่างเดียว คือ Currency ในชีวิต มองว่ามี 3 อย่าง คือ 'เงิน' แน่นอนว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่บางช่วงอาจจะสำคัญมาก

 

ถัดมา 'ประสบการณ์' ที่ช่วยเราได้เยอะในระยะยาว พอมีประสบการณ์เราจะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก ตัวตนเด่นขึ้น ฉลาด ทำอะไรได้มากขึ้น

 

และสุดท้าย 'การสะสมคำขอบคุณ' การสร้างเครือข่าย และการรู้จักเป็นผู้ให้ (Giver) ทำให้เรามีเพื่อนฝูง และอยู่ในกลุ่มคน Giver เพราะเราเป็น Giver ก่อน เป็นการสะสมคำขอบคุณ และทำให้เรามีความสุข หรือ เรียกว่า การปลูกต้นไม้ 

 

ออกแบบชีวิต ฉบับ \'ธนา เธียรอัจฉริยะ\' อยาก Work life balance ต้องลงทุน

 

ดูแลสุขภาพ สุขในสิ่งที่ทำ

 

อย่างไรก็ตาม แม้ในตอนนี้จะเรียกว่าชีวิตได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำและออกแบบได้ แต่ที่ผ่านมา ก็เคยมีบางช่วงที่หลงลืมการดูแลตัวเอง “ธนา” เล่าว่า ผมเคยไม่ดูแลร่างกาย ปล่อยให้ตัวเองอ้วนมากและไม่แข็งแรงจนถึงกับเข้าโรงพยาบาลตอนอายุ 37 ปี และเป็น Panic Disorder อยู่สามเดือนด้วยความกลัวตายแล้วค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นมาจากการลดน้ำหนัก กินผักและออกวิ่ง จึงเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจให้เปลี่ยนตัวเองเพราะกลัวจะกลับเข้าไปในความรู้สึกแย่ๆ แบบนั้นอีก จึงต้องออกกำลังกายทุกวัน และพยายามดูแลสุขภาพทั้งเรื่องการกินและความเครียดควบคู่กันไป

 

“สำหรับการสมดุลชีวิต การทำงาน และการให้เวลาครอบครัว ต้องบอกว่า ผมไม่ได้คิดถึงความสมดุลอะไรมากนักเพราะช่วงนี้ว่าง ใช้ชีวิตแบบไม่ได้กะเกณฑ์ ทำอะไรที่มีความสุข หลีกเลี่ยงเรื่องเครียด ปัจจุบัน ลูกสาว 2 คนก็โตและเรียนอยู่ต่างประเทศ จึงใช้เวลากับภรรยาบ้าง อยู่กับตัวเองบ้าง และหาอะไรสนุกๆ ทำตามที่อยากทำ เหนื่อยไปก็พัก และพยายามทำตัวมีประโยชน์กับคนอื่นถึงแม้จะเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม”

 

ตอนนี้รู้สึกมีความสุขกับชีวิต เคยคุยกับพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) ว่าตอนนี้มีเป้าหมายอะไรในชีวิตอีกหรือไม่ เขาตอบมาคำหนึ่งว่า เป้าหมายในชีวิตตอนนี้ คือ การลดเป้าหมาย มันคือ ดีมานด์ ซัพพลายทางเศรษฐศาสตร์ ความพอใจของเรา คือ เราตั้งเป้าหมายสูงและไขว้คว้าไปเรื่อยๆ ขณะที่ ฝั่งพุทธศาสนา ให้ลดเป้าหมายลงมาเพื่อให้ถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น Happiness มันอยู่ตรงกลางระหว่างที่เราบรรลุเป้าหมาย พออายุเยอะ เห็นอะไรมาเยอะ เราจะรู้ว่าการดึงเป้าหมายให้ต่ำลงมาเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า และมีความสุขง่ายขึ้น

 

หากจะถามว่าปัจจุบันเรียกว่าประสบความสำเร็จหรือยัง ธนา มองว่า ชีวิตมาไกลกว่าที่คิดมาก สิ่งที่ทำให้คิดว่าชีวิตโอเคแล้ว ก็คือ ความรู้สึกที่ไม่คิดว่าจะกลับไปแก้ไขอดีต เพราะอดีตทำให้ตัวตนเราเป็นแบบวันนี้ และเป็นตัวตนที่เราพอใจ ความสำเร็จอยู่กับความพอใจในสิ่งที่เป็น ในสิ่งที่มี ถ้าพอใจแล้วก็คงถือเป็นความสำเร็จ

 

“สิ่งที่อยากมี คือ สุขภาพแข็งแรง สุขภาพดี ไปไหนมาไหนได้อย่างสบายๆ ตอนอายุเจ็ดสิบ ก็น่าจะทำให้ยังสนุกอยู่ไม่น้อยในการเลือกที่จะทำอะไรก็ได้ในช่วงเวลานั้น” ธนา กล่าวทิ้งท้าย