5 เทรนด์อัพเกรดงานวิจัย กระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 66

5 เทรนด์อัพเกรดงานวิจัย กระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 66

SCI-TU เผย 5 เทรนด์งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย หลังผ่านพ้นวิกฤต ‘โควิด 19’ ทั้งด้านการแพทย์สุขภาพ การเกษตร การท่องเที่ยว อาหาร และความเชื่อ หนุนใช้ ‘งานวิจัย’ เสริมความแข็งแกร่ง เกิดนวัตกรรมตอบโจทย์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ระยะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่ง คณะวิทย์ มธ. เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดรายได้และเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ

ด้วย 5 เทรนด์ด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย สร้างเม็ดเงินหรือสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ มีดังนี้

1.เทรนด์การแพทย์สุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นในเรื่องนี้ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีการตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) โดยที่ผ่านมาคณะวิทย์ มธ. มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง

อาทิ “ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์” (THAMMASK) หน้ากากอนามัย ช่วยสะท้อนน้ำและไม่ดูดซับความชื้น โดย อ.ดร.ธนิกา หุตะกมล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ซึ่งเป็นทางเลือกของการผลิตหน้ากากอนามัย ที่มีบทบาทอย่างมากในช่วงที่ไทยขาดแคลนหน้ากากอนามัยจากระบาดของโรคโควิด 19 เมื่อหลายปีที่ผ่านมา

5 เทรนด์อัพเกรดงานวิจัย กระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 66

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ส่อง 3 "เทรนด์ดูแลสุขภาพ" ปี 66 บริการไหนตอบโจทย์คนยุคใหม่

เทรนด์ "อาหาร" และ "สุขภาพ" กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่ยุค New normal

สรุป 10 เทรนด์ "อาหารและเครื่องดื่ม" มาแรงปี 2022

15 สมุนไพรHerbal Champions สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสู่ตลาดโลก

 

"การเกษตร ท่องเที่ยว"เทรนด์น่าจับตามอง

2.เทรนด์เกษตรกรรม เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีรายได้จากการส่งออกพืชผลที่สำคัญจำนวนมาก ซึ่งคณะวิทย์ มธ. มีแนวทางในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร ไปยังปลายทางสำคัญ คือ เป็นอาหารปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ผ่านโครงการ TU Organic Farm โดย ผศ.ดร.วิลาวรรณ์ เชื้อบุญ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร  ที่เป็นต้นแบบของเกษตรอินทรีย์ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทยด้วย

3.เทรนด์การท่องเที่ยว นับเป็นอีกหนึ่งรายได้หลักของประเทศ ขณะนี้มีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น ชาวต่างชาติมีแนวโน้มเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว จะช่วยให้ตลาดการท่องเที่ยวของไทยมีความโดดเด่น

5 เทรนด์อัพเกรดงานวิจัย กระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 66

ทั้งในแง่ของความน่าสนใจ แต่ยังเพิ่มการเข้าถึงที่สามารถต่อยอดให้กับชุมชนขนาดเล็กที่มีศักยภาพได้ โดย นายธนโชติ เฉวียงหงษ์ นักศึกษาสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มธ. พัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม แอปพลิเคชัน ‘Smart Local Guide’ ต้นแบบนวัตกรรมเพื่อชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ เพิ่มรายได้ผู้ประกอบการในชุมชน 

 

งานวิจัย ช่วยอัพเกรดเทรนด์ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

4.เทรนด์อาหาร เนื่องจากประเทศไทยมีอาหารที่หลากหลายและโดดเด่น สามารถนำมาต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมหรือยกระดับการเป็นครัวโลกได้ ซึ่งสามารถผสมผสานความน่าสนใจของวัตถุดิบด้านเกษตร ให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น และเสริมด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยให้ได้อาหารที่มีจุดเด่น สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

คณะวิทย์ มธ. มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การวิจัยอาหารนวัตกรรม "สเปรดเนยถั่วจากเมล็ดมะขาม" ที่มีไขมันต่ำ ปราศจากสารก่อภูมิแพ้ โดยมี รศ.ดร.วรางคณา สมพงษ์ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย และยังมีอาหารสำหรับผู้ที่ดูแลสุขภาพอย่าง "ผลิตภัณฑ์ข้นหวานจากข้าวและธัญพืช" (Oryzwel) ที่พัฒนาโดย ผศ.ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร เพื่อเป็นทางเลือกของผู้ที่ชอบรับประทานอาหารประเภทของหวาน ไม่มีส่วนผสมของนมวัวและน้ำตาลทราย เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้นมวัวและกลูเตน ใช้รับประทานได้หลากหลายเมนู

5 เทรนด์อัพเกรดงานวิจัย กระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 66

5.เทรนด์ความเชื่อ (สายมู) ที่มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งคณะวิทย์ มธ. มีการเรียนการสอนและพัฒนางานวิจัยสำหรับนักศึกษาเรียนรู้การรวบรวมสถิติทำ Big Data เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มในการสนับสนุนการคาดการณ์หรือพยากรณ์ และใช้เทคนิคทางสถิติเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการให้บริการลูกค้าบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม รองรับกลุ่มการเติบโตของตลาดสายมู โดยให้โจทย์วิจัยเพื่อค้นหาคำอธิบายให้ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และนำเสนอด้วยเทคโนโลยีที่น่าสนใจ เพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วยหลักเหตุและผล

ขณะนี้คณะวิทย์ มธ. มีแผนในการต่อยอดไปทำ "Mutelu Mapping" เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสายมู ร่วมกับการใช้ Data Analytics ให้การดูทำเลที่ตั้งของสถานที่ รวมถึงการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม (Remote Sensing) ดูแผนที่ (GIS) หรือ "ฮวงจุ้ย" และประกอบการดูดวงดาว ซึ่งเป็นการนำสิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารองรับต่อความเชื่อต่างๆ

5 เทรนด์อัพเกรดงานวิจัย กระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 66

คณะวิทย์ มธ. รุกปั้น Gen Z สู่ ‘ศิลปินวิทยาศาสตร์’

รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (คณะวิทย์ มธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันคณะวิทย์ มธ. มีหลักสูตรและรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผังเมือง และสิ่งแวดล้อม ที่คำนึงถึงภูมิประเทศที่ผลต่อสุขภาพ ที่ต้องมีองค์ประกอบที่ดีของดิน น้ำ ลม แสง ให้ความสบายในทุกฤดูกาล ซึ่งต้องบูรณาการทักษะด้านวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อทางจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน ในยุคแห่งที่คนแสวงหาที่พึ่งทางใจ ในด้านจิต วิญญาณ พลังเหนือธรรมชาติ ที่ต่อยอดไปสู่ธุรกิจ

“การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจด้วยเทรนด์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้ง 5 ด้าน ต้องเริ่มขับเคลื่อนด้วยการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สถานการณ์และแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยตัวอย่างของผลงานนวัตกรรมของคณะวิทย์ มธ. สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของการเรียนการสอนภายใต้แนวคิด "SCI+BUSINESS" ปั้นเด็กวิทย์คิดประกอบการ ส่งเสริมให้นักศึกษาเป็น Creator เป็น ‘ศิลปินด้านวิทยาศาสตร์’ ที่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา วิกฤตและความผันผวนของโลก (VUCA World) เห็นปัญหาแล้วรู้สึกว่าสนุกที่จะฟันฝ่าออกไป โดยมีคณาจารย์เป็นโค้ช และใช้การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมมาตอบโจทย์และแก้ปัญหา Pain Point เหล่านั้นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”รศ.ดร.สุเพชร กล่าว

โดยคณะวิทย์ มธ. มีวิชาพื้นฐานสำหรับการประกอบการโดยเฉพาะปูพื้นนำไปสู่ในเรื่องของการส่งเสริมการเป็นสตาร์ทอัพ (Startup) ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาโปรเจค (Project) ของนักศึกษา บ่มเพาะให้เกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตามเทรนด์โลก ช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจาก 88 SANDBOX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสร้างสตาร์ทอัพ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และภาคเอกชนอีกด้วย

รศ.ดร.วราฤทธิ์ พานิชกิจโกศลกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการข้อมูลจำนวนมาก อาทิ การสร้างแอปพลิเคชันช่วยวิเคราะห์ผลตรวจเอกซเรย์ทางการแพทย์  วิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน การเคลื่อนไหวของราคา เป็นต้น

5 เทรนด์อัพเกรดงานวิจัย กระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 66

โดยอาจเรียกได้ว่า นี่เป็นยุคทองของ Big Data ซึ่งคนรุ่นใหม่ (Gen Z) มีความจำเป็นต้องมีทักษะด้านข้อมูล หรือ Data Skill ซึ่งคณะวิทย์ มธ. มีหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนเรื่องการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล ที่จะเป็นพื้นฐานที่นำไปประยุกต์ต่อยอดด้านต่าง ๆ ได้ ตามความสนใจของนักศึกษา โดยสามารถหาความรู้เฉพาะด้านเพิ่มเติม อาทิ การแพทย์ การเงิน ผ่านการทำโปรเจคหรือในการเรียนในวิชาเลือก

"ในอดีตการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ อาจต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่มีความเฉพาะเจาะจงที่ตอบโจทย์ตามความต้องการของตลาดในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในปัจจุบันเราถูกเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีออนไลน์ และเอไอ (AI) ซึ่งการสร้างนวัตกรรมก็ต้องอาศัยผู้ที่สามารถจัดการข้อมูลได้เป็นอย่างดี และสามารถนำข้อมูลองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆซึ่งคณะวิทย์ มธ. เปิดกว้างสำหรับทุกความต้องการของคนรุ่นใหม่ ที่คอยสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะต่างๆ ที่ขับเคลื่อนผ่านแรงบันดาลใจของผู้เรียนให้ไปสู่ความสำเร็จได้" รศ.ดร.วราฤทธิ์ กล่าว