วิถีแห่งความปลอดภัยทางถนน | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

วิถีแห่งความปลอดภัยทางถนน | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

​​​​​​​รายงานข่าวอุบัติเหตุตามหน้าหนังสือพิมพ์รายวันที่เกิดขึ้นเสมอทุกวี่วัน เป็นเพียงปลายของยอดภูเขาน้ำแข็งของการเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทยในแต่ละปี เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดบนท้องถนนได้คร่าชีวิตคนไทยถึงเกือบ 2 หมื่นคนต่อปี หรือเฉลี่ย 2 คนต่อชั่วโมง! 

รวมถึงทำให้เกิดความบาดเจ็บหรือพิการเป็นจำนวนมาก เฉลี่ย 2 พันกว่าคนต่อวัน ก่อให้เกิดความโศกเศร้าและความสูญเสีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อครอบครัวคนไทยหลายหมื่นครอบครัวในแต่ละปี

เมื่อมองในมุมมองของประเทศ เราได้สูญเสียบุคลากรที่เล่าเรียนมา คนทำงานและพลเมืองของประเทศซึ่งเป็นพลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไปอย่างน่าเสียดาย โดยเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่าสูญเสียคนไป 2 คนทุกๆ ชั่วโมง หรือประมาณ 1,500 คนต่อเดือน

ความปลอดภัยบนท้องถนน จึงควรเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วน รวมถึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะใช้ชีวิตในเมืองและประเทศที่ปลอดภัย

มายาคติหนึ่งที่มักมีต่อเรื่องอุบัติเหตุทางถนนคือ อุบัติเหตุทางถนนเกิดจากพฤติกรรมส่วนตัวของบุคคลเอง ถ้าผู้ใช้ถนนมีความระมัดระวังที่ดี อุบัติเหตุก็จะไม่เกิดขึ้น แต่กระบวนทัศน์ในปัจจุบันได้ไปพ้นจากการโทษเหตุที่เกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียวไปไกลแล้ว

บทความนี้จะชวนมาทำความรู้จัก “วิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย” หรือ Safe System Approach ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่ถูกอ้างอิงจากหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีหลักการพื้นฐานสำคัญที่น่าสนใจ 5 ประการ

วิถีแห่งความปลอดภัยทางถนน | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

1.การยอมรับในข้อจำกัดของมนุษย์ว่าความผิดพลาดของมนุษย์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ (Humans make errors) ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ของมนุษย์ สามารถเกิดจากสิ่งแวดล้อม สถานการณ์คับขันที่เผชิญ หรือข้อจำกัดส่วนบุคคล เช่น อายุ โรคประจำตัว ความเครียด ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย

วิถีแห่งความปลอดภัยทางถนน | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

ดังนั้น การออกแบบถนนหรือระบบขนส่งควรสร้างสภาพแวดล้อม ที่คำนึงถึงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น เช่น สหรัฐและเนเธอร์แลนด์ได้นำหลักการ Forgiving Highway จากปี 2503 มาใช้ โดยออกแบบถนนที่ช่วยให้ยานพาหนะซึ่งออกนอกเส้นทาง สามารถเปลี่ยนเส้นทางได้อย่างราบรื่น มีพื้นที่ว่าง (clear zone) ที่เอื้อต่อการหยุดรถเมื่อรถหลุดออกจากเส้นทาง

2.ร่างกายของมนุษย์มีความเปราะบาง สามารถทนแรงชนได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นก่อนเกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต (Humans are vulnerable to injury) ร่างกายทนการปะทะด้วยความเร็วได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น โอกาสรอดชีวิตจะยิ่งน้อยลงเมื่อความเร็วขณะชนเพิ่มขึ้น

การลดความเร็วของยานพาหนะ จึงไม่เพียงลดความเสี่ยงของการเกิดข้อผิดพลาด แต่ยังช่วยลดความรุนแรงของอาการบาดเจ็บเมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้น

3.ความปลอดภัยทางถนนเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนทุกฝ่าย (Responsibility is shared) ทั้งผู้ออกแบบ ผู้สร้าง ผู้บริหารจัดการ ผู้ใช้ และผู้ช่วยเหลือในยามได้รับอุบัติเหตุ ที่ควรร่วมมือกันอุดช่องโหว่ของระบบการป้องกันภัยและสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน

ในการร่วมกันสร้างความปลอดภัยนี้จะเน้นที่ความร่วมมือและการเป็นผู้นำ โดยแต่ละประเทศให้ความสำคัญต่อแต่ละภาคส่วนแตกต่างกัน เช่น ประเทศสวีเดนให้ความสำคัญและความรับผิดชอบเป็นพิเศษกับผู้ออกแบบระบบและรัฐบาล

4.ไม่ควรมีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนแม้แต่คนเดียว (No death or serious injury is acceptable) ระบบขนส่งควรมีทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยควบคู่กัน โดยระบบที่ปลอดภัยมีเป้าหมายในการลดอัตราการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตให้เป็นศูนย์ แม้จะยังไม่สามารถลดอัตราการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเป็นศูนย์ได้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น 

แต่การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้มีผู้เสียชีวิตแม้แต่คนเดียวแสดงถึงมุมมองที่ว่า อุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ซึ่งจะช่วยให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

วิถีแห่งความปลอดภัยทางถนน | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

5.การแก้ปัญหาควรใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุก (Proactive vs Reactive) มีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและความตั้งใจที่จะป้องกันความเสี่ยง มีการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบในทุกส่วนเพื่อผลลัพธ์ที่ทวีคูณ เมื่อมีส่วนใดเสียหาย ระบบจะยังสามารถป้องกันอุบัติเหตุและผู้ใช้ถนนจะยังได้รับการคุ้มกัน

ตัวอย่างจากประเทศไทย อาทิ ยุทธศาสตร์ของกรมทางหลวงชนบทมีการเปลี่ยนแปลงจากการมุ่งเน้นที่การเข้าแก้ไขสถานการณ์หลังเกิดเหตุ เป็นการระบุความเสี่ยงในระบบและเข้าป้องกันล่วงหน้าอย่างตรงจุด

กรอบแนวคิดเชิงนโยบายในการแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนในปัจจุบัน มองอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นมากไปกว่าเกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคล แต่มองสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นระบบ โดยตระหนักถึงข้อจำกัดของมนุษย์ และอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันแก้ไขและป้องกัน

ในบริบทของประเทศไทยซึ่งได้เข้าร่วม ทศวรรษแห่งการดำเนินการด้านความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety) ตั้งแต่ปี 2554 ประกอบกับงานด้านความปลอดภัยทางถนนถูกระบุในแผนงานสำคัญของประเทศ และสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้บ้างในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตหลักหมื่นคนต่อปี แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันแก้ไข เพื่ออนาคตของถนนไทยที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ถนนทุกคน.