เช็กลิสต์ 26 พรรณไม้ ดูดซับฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศ

เช็กลิสต์ 26 พรรณไม้ ดูดซับฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศ

ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่ยังคงเกินค่ามาตรฐานอยู่ในวันนี้กว่า 27 จังหวัดทั่วประเทศไทย ทำให้เรายังคงต้องดูแล ป้องกันตนเอง ขณะเดียวกัน การปรับปรุงสภาพอากาศภายในบ้าน ติดตั้งเครื่องกรองอากาศ และปลูกต้นไม้ ก็ถือเป็นวิธีที่สามารถลดฝุ่น รวมถึงมลพิษอื่นๆ ได้อีกด้วย

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ทั่วไทย จากรายงานของ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 07.00 น. ยังคงพบคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน 27 จังหวัด 

  • ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 42-133 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 14-89 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 25-91 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 19-58 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 7-16 มคก./ลบ.ม.
  • กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ​ ​กทม. เกินค่ามาตรฐาน 4 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 23-64 มคก./ลบ.ม.

 

ฝุ่นจิ๋ว ร้ายแรงแค่ไหน 

จากคู่มือ เรียนรู้ รู้อยู่กับ ฝุ่นPM2.5 โดย กลุ่มเฝ้าระวังฝุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึง ความร้ายแรงจากฝุ่นจิ๋วนี้ว่า สามารถผ่านการ กรองของขนจมูกและเข้าสู่ชั้นในสุดของปอดได้ แม้ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 จะไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายแบบเฉียบพลัน ต้องใช้เวลาสะสมนับสิบปีถึงจะแสดงผล

 

แต่มันสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางพาสารอื่นๆ เข้า สู่ปอด ด้วยการให้สารเหล่านั้นมาเคลือบบนผิว ของมัน เช่น สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนัก เป็นต้น ฝุ่นละอองจิ๋วตัวนี้ก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น หรือเกินค่า มาตรฐานเป็นครั้งแรก หากแต่มันมีอยู่ และจางหาย ไปเป็นวัฏจักรในบ้านเรามานานหลายปีแล้ว

 

เช็กลิสต์ 26 พรรณไม้ ดูดซับฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ฝุ่น มาจากไหน 

  • ไอเสียจากรถยนต์ หรือจากการจราจร จากข้อมูลโดยกรมควบคุมมลพิษ การเผาไหม้น้ำมันดีเซลบวกกับการจราจร ที่ติดขัด น่าจะเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุด
  • อากาศพิษจากปล่องโรงงาน อุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือ เชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะถ่านหิน
  • การเผาในที่โล่ง และในที่ไม่โล่ง การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ของภาค การเกษตรเพื่อเตรียมการเพาะปลูก การเผาป่า และการเผาขยะ

 

นอกจากปัจจัยทางด้านการเผาไหม้เชื้อเพลิงแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ฝุ่น PM2.5 ปกคลุม ประเทศไทยของเราหนาแน่นเป็นพิเศษก็คือ “สภาพภูมิอากาศ” หากเป็นช่วงเวลาที่ลมสงบนิ่ง บรรดาสารพิษทั้งหลายก็จะถูกสะสมเอาไว้ในชั้นบรรยากาศ

 

แต่เมื่อถึงเวลาที่ลมร้อนเริ่มพัด มา ฝุ่นเหล่านี้ก็จะถูกพัดให้ลอยสูงขึ้น และค่อยๆ จางหายไปในที่สุด ก่อนจะเกิดการสะสมใหม่ เมื่อลมสงบอีกครั้ง สำหรับช่วงที่ผ่านมา ภาวะลมสงบเกิดขึ้นยาวนานกว่าปกติ เราจึงเห็น ภาวะฝุ่นที่ปกคลุมนี้ได้อย่างชัดเจนเท่านั้นเอง

 

เช็กลิสต์ 26 พรรณไม้ ดูดซับฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศ

 

รับมือฝุ่นจิ๋ว สำหรับประชาชน 

สำหรับการรับมือ ฝุ่นละออง PM2.5 สำหรับประชาชนนั้น หลายกิจกรรมในครัวเรือนอาจเป็นสาเหตุของการเกิดฝุ่นหรือมลพิษทางอากาศได้ เช่น

  • การสูบบุหรี่
  • การจุดธูปเทียน
  • การหุงต้มด้วยถ่านไม้หรือฟืน
  • กิจกรรมต่างๆ ในสำนักงาน เช่น การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร

 

 

ฝุ่นระดับไหน อันตรายต่อสุขภาพ 

การปฏิบัติตนต้องพิจารณาจากระดับสีค่าฝุ่น PM2.5 คำแนะนำจาก กรมอนามัย มีดังนี้ 

1) สีฟ้า ระดับดีมาก (0 – 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

  • ประชาชนทุกคนสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ 

2) สีเขียว ระดับดี (26 – 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

  • ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง 

3) สีเหลือง ระดับปานกลาง (38 – 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

  • ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและผู้มีโรคประจำตัวควรเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ 

4) สีส้ม ระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (51 – 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

  • ประชาชนทั่วไปควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน กลุ่มเสี่ยงควรลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม 

5) สีแดง ระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป)

  • ควรลดหรืองดการทำกิจกรรมนอกบ้าน เปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ สำหรับกลุ่มเสี่ยงให้งดออกนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน

 

เช็กลิสต์ 26 พรรณไม้ ดูดซับฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศ

 

ต้นไม้ดูดซับฝุ่น สารพิษทางอากาศ

สำหรับ การป้องกันระยะยาวที่สามารถทำได้ ดังนี้ 

1. การปรับปรุงคุณภาพอากาศ ภายในที่พักอาศัย ต้องมั่นใจว่าภายในบ้านหรืออาคารมี การระบายอากาศ และการทำความ สะอาดอย่างสมำเสมอ

2. ติดตั้งอุปกรณ์ลดฝุ่นละอองภายในบ้าน ควรทำความเข้าใจหลักการของ อุปกรณ์นั้นๆ เพื่อการป้องกันที่ เหมาะสม รวมทั้งการบำรุงรักษา อุปกรณ์นั้นอย่างถูกต้อง เช่น การ ล้างแผ่นกรองตามความถี่ของการใช้ อุปกรณ์

3. ปลูกต้นไม้ช่วยลดมลพิษ โดยตัวอย่างชนิดของพรรณไม้ที่มีคุณสมบัติใน การดูดซับฝุ่นละออง และสารมลพิษทางอากาศอื่น ได้แก่ 

ไม้ยืนต้นที่ช่วยดูดซับฝุ่นละออง 

  • กระถิน
  • มะขาม
  • บุนนาค 
  • ขนุน
  • ชาสีทอง 
  • มะม่วง 
  • มะกอกน้ำ

ไม้ยืนต้นที่ช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

  • ราชพฤกษ์ 
  • ชงโค
  • มะเกลือ
  • เสม็ดแดง
  • ข่อย
  • หูกวาง
  • ขนุน 
  • เสลา
  • แคฝรั่ง
  • มะเดื่อ
  • ฝรั่ง
  • พระยาสัตบรรณ

ไม้ประดับที่สามารถดูดซับสารพิษในอากาศได้ดี

  • หมากเหลือง 
  • จั๋ง 
  • พลูด่าง
  • ไทรใบเล็ก
  • หนวดปลาหมึก
  • เศรษฐีเรือนใน
  • วาสนาอธิฐาน 

 

เช็กลิสต์ 26 พรรณไม้ ดูดซับฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศ

 

เลือกหน้ากากอนามัยอย่างไร

ทั้งนี้ การป้องกันฝุ่น PM2.5 ที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงการสูดฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็จำเป็นต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยมีวิธีการเลือก ดังนี้

1) หน้ากาก N95

  • ต้องเลือกที่มีขนาดเหมาะ แนบกระชับกับใบหน้า ครอบจมูกและใต้คางได้อย่างมิดชิด

2) หน้ากากอนามัย

  • ต้องผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ อย่างน้อย 3 ชั้น โดยมีแผ่นกรองอยู่ชั้นกลาง

3) หน้ากากผ้า

  • ต้องตัดเย็บจากผ้าที่ซ้อนกันอย่างน้อย 2 ชั้น หรือมีความหนาไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร และมีขนาดเหมาะกับใบหน้า ทั้งนี้ ต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นให้ถูกวิธี และควรเปลี่ยนเมื่อใส่แล้วรู้สึกไม่กระชับใบหน้า หายใจลำบากมากขึ้น ฉีกขาด เปื้อน หรือเปียกน้ำ

 

 

อ้างอิง : กลุ่มเฝ้าระวังฝุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , กรมอนามัย