มหาวิทยาลัยไทยชิง "ตลาดนักศึกษาจีน" เพิ่มรายได้ "ธุรกิจการศึกษา"

มหาวิทยาลัยไทยชิง "ตลาดนักศึกษาจีน" เพิ่มรายได้ "ธุรกิจการศึกษา"

ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา “ประเทศจีน” ได้เปิดประเทศโดยผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 ซึ่งส่งผลดีในหลายๆ ด้านของประเทศไทย อย่าง การท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวจีนเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวประเทศไทย

เช่นเดียวกับ “ธุรกิจการศึกษา” ของไทยในระดับของอุดมศึกษา ที่เรียกได้ว่ามีสัดส่วนนักศึกษาจีนในไทยมากเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนนักศึกษาต่างชาติในไทย 

ต่อมาเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้นักศึกษาจีนในไทยต้องกลับไปเรียนออนไลน์ยังประเทศตัวเอง ซึ่งเมื่อมีการจีนเปิดประเทศ และการแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทยรุนแรงน้อยลง ทำให้นักศึกษาจีนกลับมาเรียนยังมหาวิทยาลัยจำนวนมากขึ้น

ข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่าในปี 2020 นักศึกษาจีนที่ศึกษาระดับอุดมศึกษาในไทยมีจำนวน 14,423 คน โดยมีสถาบันการศึกษาของไทยหันมาเปิดรับนักศึกษาจีนเพิ่มขึ้นจำนวน 102 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น

  • สถาบันในกรุงเทพฯ
  • ปริมณฑล 50แห่ง
  • ภาคกลาง 7 แห่ง
  • ภาคเหนือ 19 แห่ง
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 แห่ง
  • ภาคตะวันออก 5 แห่ง
  • ภาคใต้ 5 แห่ง

โดยร้อยละ 70 ของนักศึกษาจีน (10,083 คน) เลือกศึกษาในสถาบันเอกชน ส่วนร้อยละ 30 (4,340 คน)

สำหรับเลือกศึกษาใน สถาบันของรัฐ มหาวิทยาลัยที่มีจำนวนนักศึกษาจีนมากที่สุด 10 อันดับแรก ในปีการศึกษา 2020 ได้แก่

  • ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ 2,826 คน 
  • ม.อัสสัมชัญ 1,560 คน
  • ม.เกริก 894 คน
  • ม.เชียงใหม่ 882 คน
  • ม.นานาชาติแสตมฟอร์ด 824 คน
  • ม.ชินวัตร 592 คน
  • ม.กรุงเทพ 483 คน
  • ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 451 คน
  • ม.กรุงเทพธนบุรี 342 คน
  • ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 340 คน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

เหตุใด? นักศึกษาจีนมาเรียนประเทศไทย

ขณะที่ข้อมูลจาก สถานเอกอัคราชทูตจีนประจำประเทศไทย ระบุว่านักศึกษาจีนในไทย (ทุกระดับชั้น)อาจมีจำนวนรวมมากถึง 50,000 คน จากการศึกษา ผู้วิจัยพบว่านักศึกษาจีนในไทยส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน เช่น ยูนนาน กวางสี เป็นต้น ส่วนนักศึกษาจีนที่มาจากพื้นที่อื่นๆ มีเป็นส่วนน้อย แต่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นและหลากหลายขึ้นกว่าในอดีต

ตลาดนักศึกษาจีน ในไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น ไทยสามารถรองรับการขยายตัวของนักศึกษาจีนได้มากขึ้นและครอบคลุมได้ทุกความต้องการ ทำให้นักศึกษาจีนในไทยจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งการขยายตัวของนักศึกษาจีนในไทยเช่นนี้ส่งผลดีต่อไทยในเรื่องรายได้

 

มหาวิทยาลัยไทยชิง \"ตลาดนักศึกษาจีน\" เพิ่มรายได้ \"ธุรกิจการศึกษา\"

 

อย่างไรก็ตาม "ประเทศไทย" เป็นประเทศที่มีนักศึกษาจีนเป็นนักศึกษาต่างชาติมากที่สุดและมีการเคลื่อนไหวที่ โดดเด่นในสังคม การเพิ่มขึ้นของนักศึกษาจีนในไทยเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่

  • ที่นั่งในมหาวิทยาลัยของจีนมีจำกัด เนื่องจากไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ละปีจะมี นักศึกษาจีนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ประมาณ 2 ล้านคน
  • การศึกษาต่อในไทยมีค่าใช้จ่ายไม่สูง (โดยประมาณ) เพียงปีละ 30,000 หยวนขึ้นไป ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ชนชั้นกลางในจีนสามารถแบกรับได้อย่างไม่ลำบาก
  • หลักสูตรมีความหลากหลายและยืดหยุ่น สามารถตอบโจทย์นักศึกษาจีนได้ ทั้งในแง่ของสาขาวิชา และภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน
  • ชื่นชอบสถานที่ท่องเที่ยว สังคมวัฒนธรรม อาหาร หรือดาราและภาพยนตร์ไทย 
  • เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศ ทั้งในด้านการศึกษา ความปลอดภัย ความมั่นคง คุณภาพชีวิต รวมถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน ทั้งนี้ นักศึกษาจีนส่วนใหญ่ไดรับการสนับสนุนจากผู้ปกครองเป็นอย่างดี
  • กฎระเบียบเรื่องวีซ่าของไทยไม่เข้มงวดนัก
  • ความร่วมมือไทย-จีน ยังอาจเป็นโอกาสให้กับนักศึกษาจีนในการประกอบอาชีพในอนาคตด้วย

 

มธบ.ทำความร่วมมือม.ในจีน เพิ่มตลาดนักศึกษาจีน 

สถาบันอุดมศึกษาของไทยหลายแห่งจึงหันมาปรับหลักสูตรและทำการตลาดเพื่อดึงนักศึกษาจีนให้เข้ามา ศึกษาเพิ่มขึ้น  ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า มธบ.ถือเป็นสถาบันแรก ๆ ที่บุกเบิกเปิดตลาดการศึกษาใน ประเทศจีน จึงทำให้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับในกลุ่มนักศึกษาจีนที่สนใจศึกษาในต่างประเทศ อีกทั้งหน่วยงานการศึกษาของรัฐบาลจีนได้รับรองผู้สำเร็จการศึกษาจาก มธบ.อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

จากการศึกษาสามารถประมาณการได้ว่านักศึกษาจีนในไทยสร้างรายได้ให้กับไทยเป็นจำนวนเงินหลัก1,000 ล้านบาทต่อปี และยังส่งผลดีต่อไทยในเรื่องการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทย การกระชับความสัมพันธ์ไทย-จีน รวมถึงการเพิ่มบทบาทของไทยในในภูมิภาคอาเซียน

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลจีนเองค่อนข้างให้ความสำคัญกับการสนับสนุนนักศึกษาที่สนใจจะมาศึกษาในประเทศไทย โดยมีการให้ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาจีนที่สนใจมาเรียนในประเทศไทยด้วย

มธบ.มีนักศึกษาจีนรวมกันกว่า 3,000 คน โดยหลักสูตรที่นักศึกษาจีนสมัครเรียนมากที่สุด ได้แก่

  • หลักสูตรด้านบริหารธุรกิจ
  • หลักสูตรการท่องเที่ยวและโรงแรม
  • หลักสูตรศิลปกรรม ฯลฯ  

ซึ่งการเรียนการสอนนักศึกษาจีนต้องดูตามแนวนโยบายของรัฐบาลจีนด้วย เนื่องจากมีผลต่อการกลับไปรับใบรับรองวุฒิการศึกษาที่ประเทศจีน

"เมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 นักศึกษาจีนจะกลับประเทศของตัวเอง และรัฐบาลจีนอนุญาตให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ พอจีนเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 มกราคมผ่านมา ขณะนี้มีนักศึกษาจีนกลับมาเรียนที่มหาวิทยาลัยแล้ว โดยปีการศึกษา 2566 มีนักศึกษาใหม่ชั้นปี 1 ราว 1,000 กว่าคน และในช่วงต้นเดือนมกราคม" ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับการเปิดให้นักศึกษาจีนมาเรียนในมหาวิทยาลัย เริ่มต้นด้วยการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีนมาก่อนหน้านี้ จากนั้นก็ใช้ศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาจาก มธบ.ไปช่วยประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย รวมถึงหลักสูตรต่าง ๆ ที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย ตอนนี้ มธบ.มีนักศึกษาจีนมาจากหลากหลายเมือง เช่น เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, เฉิงตู, คุนหมิง, ฮาร์บิน เป็นต้น

 

มหาวิทยาลัยไทยชิง \"ตลาดนักศึกษาจีน\" เพิ่มรายได้ \"ธุรกิจการศึกษา\"

 

ผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงการศึกษา

อย่างไรก็ตาม การเปิดโอกาสให้นักศึกษาจีนเข้ามาเรียนในไทย เป็นการสร้างอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เพราะการที่นักศึกษาจีนเข้ามาในประเทศ ไม่เพียงจะเข้ามาแค่ศึกษาเท่านั้น หากพวกเขายังมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย ตลอดจนการท่องเที่ยว ซึ่งก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมกันด้วย

ก้าวต่อไปของ มธบ.จึงอยากผลักดันเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงการศึกษา (educational tourism) เพราะประเทศไทยมีศักยภาพหลายด้าน ทั้งค่าครองชีพถูก, สถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม และการศึกษามีคุณภาพ ฯลฯ

ดังนั้น เป้าหมายใหญ่ของ มธบ.จึงมองถึงการเติบโตในอนาคตที่จะต้องรักษานักศึกษาจีนที่มีอยู่ให้ดีที่สุด และพยายามเพิ่มจำนวนนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันระบบการศึกษาของไทยค่อนข้างเปิดกว้าง และมธบ.มุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นสากลและนานาชาติ จึงต้องมีนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากนักศึกษาจากประเทศจีน ทั้งนั้น เพื่อหวังยกระดับ มธบ. เพื่อไปสู่ educational tourism ในอนาคต

 

เปิดรับนักศึกษาจีน สร้างรายได้ให้จังหวัดกว่า 600 ล้านบาท

ตามที่ประเทศจีนมีนโยบายเปิดประเทศ ในวันที่ 8 ม.ค.นี้ คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยในปีนี้ประมาณ 5 ล้านคน

นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จ.ขอนแก่นมีความพร้อมเกี่ยวกับเรื่อง การศึกษา สาธารณสุข คมนาคม และเรื่องบริการต่างๆ ลักษณะของขอนแก่นจะเป็นเมืองทำธุรกิจ การศึกษาและการบริการสุขภาพ การที่ประเทศจีนเปิดประเทศให้เดินทางออกนอกประเทศได้ ขอนแก่นจะได้ผลดีไปด้วย เพราะนักศึกษาจากประเทศจีน รอจะเข้ามาเรียนในจังหวัดประมาณ 2,000 คน และคนจีนยังสนใจการบริการสุขภาพ การตรวจโรค เสริมความงาม รักษาโรคเฉพาะ ทั้งยังเด่นในเรื่องอาหารการกิน มีวัฒนธรรมที่ดี  ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้กว่า 600 ล้านบาทต่อปี

ปี 2023 จ.ขอนแก่นได้เตรียมการโปรโมท Soft Power เรื่องวัฒนธรรม ทั้งเรื่องการแต่งกาย ผ้าไหม ผ้าพื้นเมือง เป็นอัตลักษณ์ของคนอีสาน ที่จะเน้นประชาสัมพันธ์ในปีนี้ ซึ่งหอการค้าได้มีการคุยผ่านบริษัททัวร์ในประเทศจีน ให้มาสำรวจพื้นที่ในอีสานมากขึ้นและเรื่องการเดินทางสะดวกสบาย ที่มีไฟล์ทบินจากจีนมา กรุงเทพฯและ จากกรุงเทพฯ มาขอนแก่น ประมาณ 20 ไฟล์ทบินต่อวัน

การเดินทางอีกเส้นทางคือ รถไฟความเร็วสูงจากจีนคุนหมิงเชื่อมมายังเวียงจันทร์ สปป.ลาว และจากสปป.ลาว เดินทางมาขอนแก่นอีกไม่เกิน 3 ชั่วโมง น่าจะเป็น 2 เส้นทางหลักสำหรับชาวจีนที่จะเดินทางมาขอนแก่น

 

มหาวิทยาลัยไทยชิง \"ตลาดนักศึกษาจีน\" เพิ่มรายได้ \"ธุรกิจการศึกษา\"
 

ส่วนความกังวลเกี่ยวกับเรื่องโรคระบาดโควิด-19 เชื่อว่า รัฐบาลได้วางแผนและดูแลเป็นอย่างดี โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้พิสูจน์แล้วว่าระบบสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ด้านต่างๆ มีความพร้อมมากและเชื่อว่าประชาชนได้รับวัคซีนแล้วประมาณ 80% จึงทำให้มั่นใจจะรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในครั้งนี้ได้แน่นอน 

สำหรับเม็ดเงินที่คาดว่าจะได้รับ จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนปีนี้ โดยส่วนนักศึกษาที่จะเข้ามาเรียน 2,000 คน มีค่าใช้จ่ายส่วนตัวประมาณ 300,000 บาท ต่อปี น่าจะมีรายได้ประมาณ 600 ล้านบาท จะทำให้เกิดห่วงโซ่ในการพัฒนาธุรกิจต่อในอนาคตได้

 

ม.เกริกร่วมทุนจีน เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา

ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า การร่วมทุนเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาและสร้างความเข้มแข็งให้กับมหาวิทยาลัย ที่ประสบปัญหาการบริหารจัดการจากจำนวนนักศึกษาที่ลดลง เตรียมเปิดวิทยาลัยนานาชาติและปรับ 10 หลักสูตรรองรับ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มจำนวนนักศึกษาจีนให้ได้ปีละ 1,000 คน

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก กล่าวต่อว่าจากจำนวนนักศึกษาลดลงจากเดิมที่มีประมาณกว่า 3,000 คน เหลือประมาณ 2,000 คน ทำให้มหาวิทยาลัยประสบปัญหาด้านการดำเนินการ ซึ่งการร่วมทุนกับต่างชาติสามารถทำได้ภายใต้กฎหมายกำหนด ยืนยันว่าไม่มีบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งนี้

การร่วมทุนจะทำให้เกิดประโยชน์ทางด้านการศึกษาเกิดการแลกเปลี่ยนบุคลากรและความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งจีนเป็นตลาดใหญ่ แต่ละปีมีนักเรียนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประมาณ 9 ล้านคน แต่มหาวิทยาลัยของจีนทั้งรัฐและเอกชนรองรับได้ประมาณ 6 ล้านคน จึงถือว่าเป็นโอกาสของไทย

ขณะนี้ มีนักศึกษาจีนมาเรียนหลักสูตรระยะสั้นด้านภาษาและวัฒนธรรมประมาณ 50 คน และมหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างปรับ 10 หลักสูตรสอนเป็นภาษาจีนและอังกฤษ เช่น หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต โดยเตรียมเปิดวิทยาลัยนานาชาติ เป็นต้น

นายฐนน พูลทรัพย์ไพศาล ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและรองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ ม.เกริก กล่าวว่าจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติรวมถึงมหาวิทยาลัยเกริกด้วย โดยได้มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ตามมาตรการการเฝ้าระวัง โควิด-19

โดยทำการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่กระทบต่อการเรียนของนักศึกษา และยังคงรักษามาตรฐานคุณภาพกระบวนการเรียนการสอนเน้นคุณภาพให้ผู้เรียนได้รับองค์ความรู้อย่างเต็มที่เสมือนการเรียนการสอนในสภาวะปกติเช่นกัน

นายฐนน กล่าวต่อว่า สำหรับนักศึกษาจีนเมื่อเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ และพบกับคณาจารย์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากมหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งไปต้อนรับ และ ดูแลอำนวยความสะดวกตลอดการเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิจนถึงมหาวิทยาลัยเกริกก็ได้มีการพาเยี่ยมชมแนะนำสถานที่เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนแบบปกติต่อไป

 

มหาวิทยาลัยไทยชิง \"ตลาดนักศึกษาจีน\" เพิ่มรายได้ \"ธุรกิจการศึกษา\"

 

ม.รังสิตทยอยเปิดรับนักศึกษาจีน 

สถาบันจีน- ไทย  ในปัจจุบันจะเห็นว่าศักยภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจจีนได้รับการยอมรับมากขึ้นในเวทีโลก จีนจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการร่วมแก้ไขปัญหาระดับโลกอย่างสร้างสรรค์ และมีส่วนรับผิดชอบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของประชาคมโลก รวมทั้งมีบทบาทอย่างเข้มแข็งทั้งในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค โดยในเอเชียจีนมีบทบาทอย่างสูงในการร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) การประชุม ASEAN+1 การประชุม ASEAN+3 การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS)

การประชุมอาเซียน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ยุทธศาสตร์มุ่งลงใต้ของจีนเป็นการเพิ่มทางออกสู่ทะเลทั้งมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกผ่านมณฑลยูนนาน และเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง จีนจึงเร่งรัดการสร้างความเชื่อมโยงทางคมนาคมในภูมิภาคทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ

ไทยจะมีส่วนร่วมด้วยมากที่สุดคือ โครงการสร้างทางรถไฟระหว่างจีน ลาว ไทย และการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมทางบก (R3A: ไทย-ลาว-จีน) R8 R9 และ R12 (ไทย – ลาว – เวียดนาม – จีน) รวมถึงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (ห้วยทราย – เชียงของ) อีกด้วย

ขณะเดียวกันจีนจำเป็นต้องพยายามเสริมสร้างภาพลักษณ์ของจีนยุคใหม่ที่เป็นมิตร เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและลดความหวาดระแวงจากนานาประเทศ เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้จีนแล้ว ยังเป็นยุทธศาสตร์ที่จะป้องปรามการกลับเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียของสหรัฐฯ อีกด้วย

ทั้งนี้ นักศึกษาจีนที่เรียนในมหาวิทยาลัยรังสิตทุกชั้นปี ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก มีประมาณ 1,000 คน ส่วนใหญ่กระจายไปตามคณะต่าง ๆ ซึ่งนักศึกษาจีนรวมถึงนักศึกษาประเทศอื่น ๆ ตอนนี้เริ่มทยอยกลับมาเรียนออนไซต์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 แล้ว ตามคำร้องของแต่ละคณะ ซึ่งในเดือนมกราคม 2566 จะเป็นการทยอยกลับมาลอตใหญ่ภายหลังจีนมีนโยบายเปิดประเทศ

จำนวนนักศึกษาจีน และนักศึกษาต่างประเทศของ ม.รังสิต เติบโตเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด ถ้าเฉพาะจำนวนนักศึกษาจีนหากเทียบสถิติปี 2565 มีการรับนักศึกษาใหม่ราว 300 คน แต่ในปี 2566 นี้เพิ่มขึ้นเป็น 400 คน เหตุผลที่ค่อย ๆ โต เพราะมีการคัดกรองเด็กก่อนเข้ามาเรียนอย่างละเอียด มีการตรวจเช็กเอกสารประกอบการสมัครเรียน และการดำเนินการเรื่องวีซ่าต่าง ๆ และคาดว่าจำนวนจะไม่ลดลง 

ประเทศไทยและจีนมีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือและ ความสัมพันธ์ไทย – จีน มีหลากหลายมิติ ทั้งด้านการทหารและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจการค้า และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนผ่านการศึกษาวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บริหารระดับสูงทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่อง

ในกรอบพหุภาคีจีนให้ความสำคัญกับบทบาทของไทยในอาเซียน และเห็นว่าไทยเป็นมิตรและหุ้นส่วนที่ดีมาโดยตลอด มองผลประโยชน์ของภูมิภาคในภาพรวมการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวโยงกับจีนจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย- จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

ยุทธศาสตร์มุ่งลงใต้ของจีนได้เปิดความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียนในทุกมิติ รวมถึงมิติทางการศึกษา ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดให้ความสำคัญด้านความสัมพันธ์ทางการศึกษาระหว่างจีน – ไทยในองค์รวม มหาวิทยาลัยรังสิตเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงมีดำริก่อตั้งสถาบันจีน – ไทยแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตขึ้น

"ปรับทิศทางมหาวิทยาลัยรังสิตในภาพรวมสู่ความเป็นเอเชียสากล เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาทางการศึกษาที่ว่า Education for Export และยังประโยชน์ให้แก่สังคมไทยโดยรวม การบริหารจัดการและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างวิทยาลัย / คณะของมหาวิทยาลัยรังสิตกับมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานในสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมแสวงหาความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างมหาวิทยาลัยรังสิตกับหน่วยงานภายนอก เช่น สถานทูตจีนและสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น" 

 

 

อ้างอิง: มหาวิทยาลัยเกริก , มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ,ม.รังสิต