“ยาดักจับไขมัน” ช่วย “ลดน้ำหนัก” ได้จริงไหม หรือเป็นภัยร้ายอาหารเสริม?

“ยาดักจับไขมัน” ช่วย “ลดน้ำหนัก” ได้จริงไหม หรือเป็นภัยร้ายอาหารเสริม?

เมื่อการ “ลดน้ำหนัก” ที่ถูกวิธีไม่มีทางลัด แต่ต้องมีวินัยในการออกกำลังกายและควบคุมอาหาร ซึ่งนั่นไม่ตอบโจทย์คนใจร้อน “ยาดักจับไขมัน” จึงกลายเป็นไอเท็มสุดฮิตของหนุ่มสาวที่อยากผอมด่วน แต่ความจริงแล้วยานี้อาจอันตรายกว่าที่คิด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะการ “ลดน้ำหนัก” เพราะนอกจากจะทำให้มีรูปร่างดีแล้ว ยังส่งผลให้มีสุขภาพดีห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ ที่เชื่อมโยงมาจากโรคอ้วน แต่ก็มีหลายคนที่หวังผอมทางลัดด้วยการพึ่งพาอาหารเสริมประเภท “ยาดักจับไขมัน” หรือที่เรียกกันว่า “ยาบล็อกไขมัน” แม้อาหารเสริมประเภทนี้จะมีวางขายอย่างแพร่หลายและหาซื้อได้ง่าย แต่กลับมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ทำให้วิตามินในเลือดต่ำลงเพราะวิตามินบางชนิดจำเป็นต้องใช้ไขมันในการย่อยสลายก่อนที่ร่างกายจะดูดซึมไปใช้บำรุงร่างกายได้ และอาจไม่ได้ช่วยให้ผอมลงได้จริง

สำหรับใครที่เคยใช้ยาดักจับไขมันแล้วไม่เห็นผลลัพธ์ตามที่หวัง คือ ไม่ได้ช่วยให้ผอมลง แถมอุจจาระมีกลิ่นเหม็นมากกว่าเดิมนั้น ต้องทำเข้าใจก่อนว่ายาดักจับไขมันหลายยี่ห้อมีส่วนประกอบหลัก คือ “ไคโตซาน” ซึ่งแม้จะดักจับไขมันในระบบย่อยอาหารได้จริง แต่ก็เป็นไขมันส่วนที่จำเป็นต่อร่างกาย และหากกินมากเกินไปยังทำให้เกิดอาการอุจจาระเล็ดได้ง่ายอีกด้วย

  • “ยาดักจับไขมัน” และ “ไคโตซาน” เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ยาดักจับไขมันส่วนใหญ่ที่วางขายทั่วไปตามท้องตลาดนั้น แท้จริงแล้วก็คือ “ยาลดความอ้วน” ชนิดหนึ่ง เป็นตัวช่วยที่สามารถดักจับไขมันจากอาหาร แล้วกระตุ้นให้ร่างกายขับถ้ายไขมันออกมาได้ทันทีที่กินเข้าไป โดยอุจจาระจะมีลักษณะมันๆ ออกมาด้วย แม้ในช่วงแรกผู้ใช้อาจจะพอใจเพราะเห็นผลทันที แต่หลังจากนั้นอาจต้องเผชิญกับกลิ่นและการขับถ่ายที่ผิดปกติไปในระยะยาว

ที่สำคัญเนื่องจากส่วนประกอบหลักของยาดักจับไขมันคือไคโตซาน (Chitosan) เป็นสารสกัดจากเปลือกกุ้งหรือปู แยกโปรตีนและเกลือแร่ออก จะได้สารที่เรียกว่าไคติน (Chitin) เป็นเส้นใยอาหารตามธรรมชาติ ทำให้รู้สึกอิ่มท้อง และเผาผลาญไขมันส่วนเกิน รวมถึงมีโครงสร้างคล้ายตาข่ายที่มีความสามารถในการดูดจับไขมัน แต่หากกินมากเกินไปก็ทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายมีปัญหา เพราะแม้จะดักจับไขมันได้จริงแต่ไขมันดี หรือไขมันที่ทำหน้าที่ดูดซึมวิตามินและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายก็ถูกดักจับและขับทิ้งออกไปด้วย

แม้จะเห็นผลลัพธ์ว่าไขมันถูกขับออกไปอย่างรวดเร็ว แต่ยาชนิดนี้ก็ส่งผลให้ร่างกายขาดวิตามินและสารอาหารที่จำเป็นในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย นอกจากนี้ไคโตซานยังส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหาร ไปจนถึงระบบขับถ่าย ทำให้ลำไส้ปั่นป่วน ถ่ายออกมาเป็นมูกหรือน้ำมันเหลืองที่ส่งกลิ่นเหม็น ในบางรายหากกินยาดักไขมันเป็นประจำอาจเกิดผลข้างเคียง คือ ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ จึงทำให้เกิดอาการอุจจาระเล็ดออกมาได้ง่าย

  • แท้จริงแล้วยาดักไขมันทำงานอย่างไร กินแล้วผอมจริงไหม?

โดยทั่วไปแล้วร่างกายมนุษย์สามารถย่อยสลายไขมันได้เอง กล่าวคือ เมื่อเรากินข้าวแล้วเคี้ยวอาหารอย่างละเอียดจากนั้นไขมันในอาหารจะผ่านกระบวนการย่อยต่ออีกทีด้วยน้ำย่อยในกระเพาะและลำไส้ แต่หากใช้ยาดักจับไขมัน ยาจะไปยับยั้งให้ไขมันชิ้นใหญ่ไม่ถูกย่อยให้เป็นชิ้นเล็กตามระบบปกติ ทำให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ไม่ได้และค้างอยู่ในลำไส้ แล้วถูกขับถ่ายออกมาทันที และสาเหตุที่ทำให้อุจจาระของคนที่กินยาดังกล่าวมีลักษณะเหลวและมีความมัน เนื่องจากว่าเมื่อมีไขมันไม่ถูกดูดซึมก็จะค้างอยู่ในลำไส้จำนวนมาก ลำไส้จึงไม่สามารถดูดน้ำออกไปได้ตามกระบวนการปกติ 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอุจาระเล็ดในบางคนนั้น เป็นเพราะว่าอุจจาระมีลักษณะเหลวและมัน เมื่อมีแรงดันเกิดเพียงเล็กน้อย เช่น ไอหรือจาม อุจจาระจะเล็ดออกมาได้ง่าย แม้ว่ารูหูดจะยังปิดสนิทอยู่ก็ตาม กลายเป็นปัญหาแรกของผู้บริโภคยาดักจับไขมัน ปัญหาต่อมาคือเรื่องของกลิ่น โดยผู้ที่กินยาดักจับไขมัน จะพบว่าอุจจาระมีกลิ่นแรงกว่าปกติ เพราะเมื่อมีไขมันและน้ำตาลค้างอยู่ในลำไส้ แบคทีเรียจะทำงานหนัก ทำให้มีปัญหาในเรื่องของกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น

นอกจากนี้ยาดักจับไขมันจะจับไขมันได้เพียงแค่ร้อยละ 30 ของอาหารทั่วไปที่คนเรากินในแต่ละวัน ดังนั้นยังมีไขมันอีกร้อยละ 60-70 เข้าสู่ร่างกายตามปกติ ดังนั้นแม้จะกินยานี้เข้าไปแต่หากยังกินไขมันเยอะเหมือนเดิม ร่างกายก็ยังรับแคลอรีตามปกติและไม่ได้ช่วยให้ผอม 

ยกตัวอย่าง โดยปกติคนเราต้องกินอาหารให้ได้รับพลังงานวันละ 2,000 แคลอรี โดยเป็นพลังงานที่มาจากไขมัน 600 แคลอรี หากกินยาดักไขมันเข้าไป จะดักไขมันได้ร้อยละ 30 หรือประมาณ 100-200 แคลอรีเท่านั้น เทียบได้เท่ากับชาดำเย็น 2 แก้ว จึงไม่ได้ช่วยให้ผอมลงอย่างที่คิด

นอกจากปัญหาขับถ่ายแล้ว อีกหนึ่งผลเสียที่จะตามมาก็คือ อาการท้องอืด แน่นท้อง และท้องเสีย ที่สำคัญยังทำให้ระดับวิตามินในเลือดลดลงอีกด้วย โดยเฉพาะวิตามิน A E D และ K ที่ต้องใช้ไขมันในการย่อยสลาย 

ดังนั้นแม้ว่ายาดักไขมันจะทำให้เห็นผลว่าขับไขมันออกมาได้จริง แต่ก็เป็นเพียงแค่ช่วงแรกเท่านั้น แต่สำหรับผลเสียนั้นจะเกิดขึ้นในระยะยาว หากต้องการมีสุขภาพและรูปร่างที่ดี การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ และออกกำลังกายเป็นประจำจึงเป็นวิธี “ลดน้ำหนัก” ที่ปลอดภัยที่สุด

อ้างอิงข้อมูล : คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล, Mango Zero และ APEX