“โควิด” พุ่งไม่พุ่ง อีก 2 สัปดาห์ รู้กัน

“โควิด” พุ่งไม่พุ่ง อีก 2 สัปดาห์ รู้กัน

แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยยังระบาดต่อเนื่องแต่ผู้ป้วยหนักและผู้เสียชีวิตลดลง ซึ่งรอดูว่าหลังจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนจะส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาดหรือไม่ โดยทางการไทยยังคงแนะนำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยระหว่างวันที่ 1-7 ม.ค.2566 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 900 กว่าราย ผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจลดลง โดยผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 8 ราย แนวโน้มลดลง แต่ต้องรอดูว่าหลังจากที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเที่ยวในไทยแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะไปตามแหล่งท่องเที่ยวสายมู หรือวัดชื่อดังตามจังหวัดต่างๆ หลังจากนี้ไปอีก 2 สัปดาห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ จะเพิ่มหรือไม่อย่างไร ซึ่งสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในจีนขณะนี้ยังเป็นสายพันธุ์ในกลุ่ม BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาแล้วในประเทศไทย

สำหรับสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยตั้งแต่เริ่มต้นจะเป็น BA.1 BA.2 ต่อมาเป็น BA.4 - BA.5 ขณะนี้เป็น BA.2.75 ซึ่งเคยระบาดในยุโรปและอเมริกามาก่อนหน้านี้ และในระยะ 1 ปีที่ผ่านมาในช่วงโอมิครอน ประชากรไทยติดเชื้อไปแล้วประมาณ 70 % หรือประมาณ 50 ล้านคน ซึ่ง “ศ.เกียรติคุณ นพ.ยง ภู่วรวรรณ” บอกว่าถ้าตรวจภูมิต้านทานต่อเปลือกนอกไวรัส จะพบว่า% 96 ของประชากรไทย มีภูมิต้านทานรับรู้แล้ว จากการฉีดวัคซีน และ/หรือการติดเชื้อร่วมด้วย ถ้านักท่องเที่ยวจีนเข้ามาสู่ประเทศไทยนำเชื้อโควิด-19 เข้ามา จะเป็นสายพันธุ์ที่เคยระบาดผ่านไปแล้วในประเทศไทย จึงไม่น่าวิตก

ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่การแพร่ระบาดมากในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์ที่ผ่านมามีการรายงานในสหรัฐฯ ว่าเพิ่มขึ้นถึง 40% มีความสามารถในการแพร่เชื้อสูสีกับ BA.2.75 ในไทย แต่หลบภูมิคุ้มกัน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ง่าย ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าเมื่อเปิดประเทศให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางย่อมมีความเสี่ยง ที่จะพบสายพันธุ์ข้ามภูมิภาคได้ ซึ่งสายพันธุ์ใหม่สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ทุกแห่งในโลกนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณอัตราป่วยหนักหรือเสียชีวิต การระบาดรุนแรงเพิ่มขึ้น จึงต้องมีระบบการเฝ้าระวังด้วยการถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อเฝ้าระวังโรคและหาทางป้องกัน 

อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานการเฝ้าระวังสายพันธุ์ว่าขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์ XBB ในประเทศไทย ทว่าข้อมูลการระบาดที่ผ่านมาจะพบว่าสายพันธุ์ที่เคยแพร่ระบาดในฝั่งยุโรป สุดท้ายก็จะมาแพร่ระบาดที่ประเทศไทย จากการเดินทางท่องเที่ยวของผู้คน และกลายเป็นสายพันธุ์ที่อาจจะระบาดเพิ่มสูงขึ้นในปี 2566 นี้ เพราะเป็นลูกผสมสายพันธุ์ย่อยที่มีต้นตระกูล จาก Omicron BA.2 และอาจมีการกลายพันธุ์ เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อยต่อไปได้อีกตามวงจรเชื้อไวรัส

แม้ว่าทางการแพทย์จะเชื่อว่าสายพันธุ์ Omicron ลูกผสมใหม่ ๆ ยังไม่พบว่ามีความรุนแรง และเสียชีวิตสูงเหมือนสายพันธุ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA เข็มกระตุ้นแล้ว ซึ่งช่วยลดโอกาสเกิดโรครุนแรงได้มาก ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ผู้ป่วยภูมิที่คุ้มกันบกพร่อง กลุ่มเสี่ยงต่างๆจึงควรเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดสูง ซึ่งในอนาคตนโยบายการให้วัคซีนของรัฐบาล จะเน้นเป็นวัคซีนประจำปี โดยเฉพาะจะให้ก่อนที่มีการระบาดในฤดูฝนเช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวงจรปกติของโรคตามฤดูกาล เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด ในห้วงที่เศรษฐกิจของประเทศต้องอาศัยรายได้จากการเดินทางของนักท่องเที่ยวมาช่วยฟื้นฟู