เมนูเลือด?! ทำไมการกิน “หูฉลาม” ทำร้ายธรรมชาติมากกว่าที่คิด

เมนูเลือด?! ทำไมการกิน “หูฉลาม” ทำร้ายธรรมชาติมากกว่าที่คิด

แม้ที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์จากหลายฝ่ายให้มนุษย์งดการบริโภค “หูฉลาม” เพราะนอกจากจะทำให้ประชากรฉลามลดลงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลเป็นวงกว้าง แต่ปัจจุบันกลับพบว่าเมนูหูฉลามสุดหรูยังคงได้รับความนิยม

หูฉลาม” ขึ้นชื่อว่าเป็นเมนูอาหารราคาแพงที่หากินไม่ได้ง่ายๆ ตามท้องตลาดทั่วไป มักเป็นหนึ่งในรายการอาหารสำหรับงานเลี้ยงมงคลมากมาย หรือเป็นเมนูแนะนำของภัตตาคารหรูระดับต้นๆ รวมถึงเป็นอาหารขึ้นชื่อที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมายาวนาน

แต่ขณะที่เมนูหูฉลามต่างๆ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีหลายหน่วยงานภาครัฐและนักอนุรักษ์หลายกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ให้งดกินหูฉลาม ในแคมเปญที่ว่า “ไม่มีใครต้องการหูฉลาม เท่ากับตัวฉลามเอง” รวมถึงการชี้ให้เห็นว่ากว่าจะมาเป็นซุปหูฉลามสุดหรูหนึ่งชาม ชาวประมงนักล่าฉลามใช้วิธีจับและตัดครีบหูฉลามอย่างทารุณ ส่งผลให้จำนวนประชากรฉลามลดลงเรื่อยๆ และยังทำให้ปลาในทะเลติดโรคมากขึ้น เพราะฉลามเป็นนักล่าที่ช่วยควบคุมโรคระบาดในทะเลด้วยการกินสัตว์ป่วย

ดังนั้นความสูญเสียจากฉลามหนึ่งตัว จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใต้ท้องทะเลเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ด้วยเนื่องจากเมื่อปลาในทะเลป่วยมากขึ้น ตายมากขึ้น ก็ส่งผลต่อประมงพื้นบ้าน ชาวประมงจับปลาไม่ได้ ไม่มีรายได้ และมนุษย์เองก็จะไม่มีอาหารทะเลกินในท้ายที่สุด

  • ทำความรู้จัก “หูฉลาม” แท้จริงแล้วคือส่วนไหน?

ความจริงแล้วฉลามไม่มีหู แต่อวัยวะส่วนที่มนุษย์นิยมตัดและนำมาประกอบอาหาร คือ “ครีบ” ที่เป็นกระดูกอ่อนของฉลาม ลักษณะเป็นกระดูกอ่อน 2 ส่วน คือ ฐานครีบ และ ก้านครีบ โดยครีบปลาฉลามมีลักษณะเป็นเส้นๆ สำหรับส่วนที่นำมาทำอาหาร ก็คือส่วนที่เป็นก้านครีบ

สำหรับฉลามก็เหมือนกับปลาชนิดอื่นที่มีครีบเป็นอวัยวะสำคัญในการเคลื่อนที่ ทำหน้าที่เหมือนกับขาและเท้าของสัตว์บก นอกจากนี้ ครีบของพวกมันยังมีหน้าที่พยุงและรักษาการทรงตัวของปลาในน้ำ ไปจนถึงความคุมทิศทางการเคลื่อนไหวต่างๆ โดยทั้งปลาทั่วไปและฉลามแต่ละชนิดจะมีจำนวนครีบและลักษณะครีบแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือทำให้พวกมันเคลื่อนไหวไปมาใต้ท้องทะเลได้ ดังนั้นเมื่อฉลามสูญเสียครีบไป จึงไม่ต่างจากมนุษย์ที่ถูกตัดแขนตัดขาและไม่สามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้ตามปกติ แต่ที่น่าเศร้าก็คือเมื่อฉลามไม่มีครีบแล้วจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อีกและจมลงไปเสียชีวิตใต้ท้องทะเล

  • สรรพคุณ ความเชื่อ และความหรูหรา ของเมนูหูฉลาม

จากผลการสำรวจความต้องการบริโภค “หูฉลาม” ในไทย เมื่อปี 2561 ขององค์กรไวล์ดเอดพบว่า คนไทยเขตเมืองมากกว่าร้อยละ 60 ยังต้องการบริโภค “หูฉลาม” ต่อไปในอนาคต โดยบริโภคบ่อยที่สุดในงานฉลองต่างๆ ได้แก่ งานแต่งงาน งานรวมญาติ และงานเลี้ยงธุรกิจ ซึ่งล้วนแต่เป็น “งานมงคล” ที่ต้องแลกมาด้วยความตายจากนักล่าแห่งท้องทะเลอย่างฉลามที่ปัจจุบันกลายเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง

เหตุผลที่คนส่วนใหญ่มักเลือกให้เมนูหูฉลามเป็นอาหารแห่งการเฉลิมฉลองเนื่องจากเป็นความเชื่อที่มาจากประวัติศาสตร์ของชาวจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง ว่า หูฉลาม หรือ “ฮื่อฉี่” ในสำเนียงแต้จิ๋ว  คืออาหารเลิศรสของชนชั้นสูง เป็นยาอายุวัฒนะ กินแล้วจะอายุยืน ตามประวัติศาสตร์ในอดีตจะเป็นอาหารของจักรพรรดิและชนชั้นสูงเท่านั้น เพราะเป็นเมนูต้องห้ามสำหรับคนทั่วไป ไม่มีการบอกสูตรให้เล็ดลอดออกมานอกวัง ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ “หูฉลาม” กลายเป็นอาหารราคาแพงและมีไว้สำหรับงานเลี้ยงฉลองหรูๆ เป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้เมนูหูฉลามยังถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน “เบญจภาคีอาหารเหลา” ของชาวจีน ด้วยความเชื่อที่มาจากอดีตว่าหูฉลามสามารถบำรุงกำลัง เพิ่มฮอร์โมน เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ได้

ดังนั้นหูฉลามจึงเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เพราะครีบฉลามนั้นมีราคาแพงกว่าเนื้อของฉลามเสียอีก จากข้อมูลของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหารของสถาบันอาหาร ระหว่างปี 2555-2559 พบว่าประเทศไทยส่งออกครีบ ปลาฉลาม และหูฉลามแปรรูปมากกว่า 22,467 ตัน และนำเข้าผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันมากกว่า 451.57ตัน โดยในปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียว ไทยส่งออกมากกว่า 5,000 ตัน

สำหรับ ราคาซุปหูฉลามในประเทศไทย เริ่มต้นชามละประมาณ 300 บาท ในร้านอาหารข้างทางย่านเยาวราช ไปจนถึงชามละ 4,000 บาท ในภัตตาคารหรู ทำให้ไทยเป็นตลาดค้าครีบฉลามรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก และอาจกลายเป็นอันดับหนึ่งแทนที่ฮ่องกงในอนาคต

  • เมนูสุดหรูราคาแพง ที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต

ผู้บริโภคหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ซุปหูฉลาม หูฉลามน้ำแดง และเมนูอื่นๆ ที่ปรุงจากหูฉลามนั้นต้องแลกมาด้วยชีวิตของฉลามหลายตัวที่ถูกฆ่าด้วยความโหดร้าย พวกมันถูกจับขึ้นมา ตัดครีบ(หรือที่เราเรียกว่า หู) ของพวกมันออกทั้งหมด ก่อนจะปล่อยมันกลับลงไปให้เลือดไหลหมดตัวตายทั้งเป็นอยู่ที่ก้นทะเล

จากข้อมูลขององค์กรไวล์ดเอด (WildAid) พบว่าจำนวนประชากรฉลามหลายสายพันธุ์ลดลงมากถึงร้อยละ 98 จากฝีมือของมนุษย์ นอกจากนี้ในระยะเวลาหนึ่งปี มีฉลามถูกฆ่าตาย 73 ล้านตัว ด้วยเหตุผลหลักคือนำครีบไปทำเมนูหูฉลาม

นอกจากวิธีการได้มาซึ่งหูฉลามจะโหดร้ายแล้ว กว่าฉลามตัวหนึ่งจะโตเต็มวัยและสืบพันธุ์ได้ต้องใช้เวลาอยู่ในท้องแม่ 1-3 ปี ใช้ระยะเวลาเติบโตอีกประมาณ 12-15 ปี และยิ่งเป็นสายพันธุ์ที่ตัวใหญ่ก็จะยิ่งโตช้า จึงไม่แปลกที่ประชากรฉลามจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในประเทศจีนน่าแปลกที่พวกเขาสามารถลดปริมาณการบริโภคฉลามได้มากถึงร้อยละ 80 ทั้งที่อาจจะเป็นแหล่งกำเนิดของเมนูดังกล่าว แต่จากผลสำรวจในไทยยังมีอีกร้อยละ 61 ที่อยากลองชิม

  • ไม่มีฉลาม ไม่มีสมดุลทางทะเล และอาจส่งผลเสียต่อมนุษย์เอง

“ฉลาม” ถือเป็นนักล่าที่อยู่คู่ท้องทะเลมานานกว่า 400 ล้านปี เป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการมาตลอด พวกมันมีชีวิตรอดและเป็นนักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารใต้ท้องทะเล ตามข้อมูลปี 2563 พบว่าในไทยมีฉลามทั้งหมด 87 ชนิด แต่มากกว่าครึ่งถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งการจัดสถานภาพของ IUCN และ Thailand Red List โดยเฉพาะฉลามหัวค้อนที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 1 ชนิด และกำลังจะสูญพันธุ์อีก 3 ชนิด ในปี 2546 ไทยจับฉลามได้จำนวน 1.4 หมื่นตันต่อปี แต่ปัจจุบันเหลือน้อยกว่า 5 พันตัน และคาดว่าจะลดลงเรื่อยๆ

ความสำคัญของการมีอยู่ของฉลามคือ หลักประกันความสมดุลของโครงสร้างประชากรปลาทะเล​ ในฐานะนักล่าลำดับสูงสุด ฉลามทำหน้าที่กำจัดปลาที่เชื่องช้า ป่วย หรือใกล้ตายตามวัย ช่วยคัดสรรสายพันธุ์ปลาที่แข็งแรง รักษาสมดุลประชากรปลากินพืชให้อยู่ในระดับพอเหมาะ ไม่สร้างความเสียหายให้กับถิ่นที่อยู่อาศัย รวมถึงควบคุมพฤติกรรมของปลากินเหยื่อขนาดรองลงมา เพื่อให้แบ่งสรรปันส่วนกันใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับการมีอยู่ของเสือในป่า

ฉลามไม่ได้มีความสำคัญแค่กับสัตว์ทะเลอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับพืชและปะการังในทะเลอีกด้วย จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า เมื่อปลาฉลามครีบดำถูกจับมากเกินไป ทำให้ประมงพื้นบ้านที่จับหอยเชลล์มากว่าศตวรรษ​ล่มสลาย เพราะเมื่อไม่มีฉลาม ปลากระเบนจมูกวัวที่เป็นเหยื่ออันดับหนึ่งของฉลามครีบดำก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างผิดปกติ และออกหากินหอยเชลล์จนหายไปจากพื้นที่ ไม่เหลือให้ชาวประมงได้ทำมาหากิน ด้านทะเลคาริบเบียน พบว่าเมื่อฉลามหายไปจำนวนผู้ล่าระดับรองลงมา เช่น ปลาหมอทะเล เพิ่มปริมาณมากขึ้นผิดปกติ ทำให้ปลากินพืชถูกล่าจากปลาหมอทะเลมากขึ้นด้วย ส่งผลต่อการควบคุมปริมาณสาหร่าย ทำให้ขยายตัวแย่งพื้นที่ปะการัง

นอกจากนี้เนื่องจากฉลามอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร ทำให้คนที่กินหูฉลามบ่อยๆ เสี่ยงป่วยได้ ข้อมูลจาก Wildlife ช่วยสัตว์ป่า ระบุว่าฉลามเป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในทะเล จึงสะสมสารพิษในปริมาณเข้มข้นตลอดช่วงอายุ ได้แก่ ปรอท สารหนู และ แคดเมียม ดังนั้นคนที่นิยมบริโภคเนื้อและครีมฉลาม ทำให้ร่างกายสะสมสารเหล่านี้ และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง รอยโรคที่ผิวหนัง โรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และโรคเกี่ยวกับระบบประสาท

สุดท้ายแล้วการที่มนุษย์พยายามออกตามล่าฉลามเพื่อนำครีบมาเป็นอาหารตามความเชื่อ ไม่ได้มีแค่ผลกระทบเรื่องจำนวนประชากรฉลามเพียงเท่านั้น แต่สุดท้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบตามมาแน่ๆ ก็คือมนุษย์เรานี่เอง

อ้างอิงข้อมูล : Green Digital Library, Salika, Greenpeace, Fongza, Wild Aid TH, Green News, BBC และ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร