วางแผน "ปีใหม่" ลูกหลานเดินทางปลอดภัย ผู้สูงวัยปลอดโควิด-19

วางแผน "ปีใหม่" ลูกหลานเดินทางปลอดภัย ผู้สูงวัยปลอดโควิด-19

การเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วง "เทศกาลปีใหม่" ลูกหลานจำเป็นดูแลตนเองตั้งแต่ก่อนเดินทาง จนกระทั่งถึงที่หมาย รวมถึง ดูแลผู้สูงวัยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 เพื่อให้การฉลองปีใหม่เป็นไปด้วยความสุขและปลอดภัย

ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ ประชาชนบางกลุ่มอาจมีแผนการเดินทางไกลท่องเที่ยวข้ามต่างจังหวัด หรือกลับภูมิลำเนาด้วยรถยนต์ส่วนตัว ขณะที่โควิด-19 ยังคงระบาด และกลุ่มผู้สูงอายุยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยง ดังนั้น ควรวางแผนก่อนการเดินทางทั้งการตรวจหาเชื้อโควิด-19 การแวะพัก เมาไม่ขับ ความสะอาดของจุดแวะระหว่างทาง และเมื่อถึงที่หมาย ควรสังเกตอาการเป็นระยะ

 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อไปเยี่ยมครอบครัว ขอให้ลูกหลานที่วางแผนเดินทางกลับบ้านหมั่นสังเกตอาการและคัดกรองความเสี่ยงตนเอง หากลูกหลานมีอาการไอ เจ็บคอ ไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ หายใจลำบาก ขอให้งดการเดินทาง และตรวจ ATK ก่อนเดินทาง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ไปยังครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว และมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำ หากติดเชื้อแล้วอาจทำให้มีอาการอย่างรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน และมีโอกาสที่จะเสียชีวิตสูงกว่าวัยอื่น

 

“ส่วนผู้ที่ได้เดินทางกลับแล้ว ขอให้มีการสังเกตอาการตนเองเป็นระยะๆ หากไม่มั่นใจเคยไปในสถานที่เสี่ยงหรือเคยใกล้ชิดผู้ที่มีความเสี่ยง ขอให้สวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือเป็นประจำ”

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

วางแผนก่อนเดินทาง พักผ่อนให้เพียงพอ

 

ประชาชนบางกลุ่มอาจมีแผนการเดินทางไกลท่องเที่ยวข้ามต่างจังหวัด หรือกลับภูมิลำเนาด้วยรถยนต์ส่วนตัว จึงควรวางแผนและเตรียมตัวก่อนออกเดินทางให้ดี ทั้งในเรื่องอาหารและเครื่องดื่มควรเลือกสิ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย เช่น ผลไม้สดหรือน้ำผลไม้คั้นสดรสเปรี้ยวที่เป็นแหล่งวิตามินซี เพราะจะช่วยต้านความเหนื่อยล้าที่มาจากความเครียด ลดความกังวลขณะขับรถ

 

ในส่วนของการพักผ่อนก่อนเดินทางควรนอนให้ได้อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เตรียมผ้าเย็นเวลาง่วง และสวมแว่นตากันแดดขณะขับรถ ควรตรวจสภาพของรถยนต์ให้พร้อมใช้งาน และควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยขณะขับรถทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

 

ดูแลความสะอาดระหว่างทาง

 

สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษเพื่อสุขอนามัยที่ดี คือ การใช้บริการตามสถานที่สาธารณะต่างๆ อาทิ

  • ในสถานที่ท่องเที่ยว ควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่น
  • การรับประทานอาหารที่ร้านค้าในปั๊มน้ำมัน ควรเลือกร้านที่มีผู้คนไม่แออัด และสะอาด ถูกหลักอนามัย
  • ส่วนปั๊มน้ำมัน เมื่อเติมน้ำมันหรือใช้จ่ายที่มีการสัมผัสธนบัตร เหรียญ บัตรเครดิตต่างๆ
  • หลังจากการเข้าห้องน้ำ หมั่นล้างมือก่อนและหลังหยิบจับสิ่งของสาธารณะทุกครั้ง

 

 

บริหารร่างกายระหว่างเดินทาง

 

ด้าน นายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระหว่างการเดินทาง ผู้ขับรถยนต์สามารถลดอาการเมื่อยล้าได้ ทั้งในขณะที่รถหยุดนิ่งและรถติด หรือเมื่อจอดรถพักตามสถานที่ต่างๆ ด้วยการบริหารร่างกาย คือ

1) ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อคอ ให้เอียงคอลงมาด้านข้างเข้าหาหัวไหล่ ให้ฝั่งตรงข้ามรู้สึกตึง ทำค้างไว้ประมาณ 15 วินาที จากนั้นสลับปฏิบัติด้านตรงข้าม

2) ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อคอด้านหลัง ให้ค่อยๆ ก้มศีรษะเข้าหาลำตัวจนรู้สึกตึงบริเวณลำคอด้านหลัง ลำตัวตรง ค้างไว้ประมาณ 15 วินาที

3) ท่ายืดไหล่ ทำได้โดยนั่งยืดตัว แล้วบีบไหล่ยกขึ้นไปหาใบหู ค้างไว้ นับ 1-2 แล้วเอาลง จากนั้นทำซ้ำ 5 ครั้ง จะรู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้น

4) ท่าบิดตัวทำได้โดยนั่งยืดตัวตรงขึ้น มือจับที่ขอบเบาะแล้วบิดตัวไปข้างใดข้างหนึ่งค้างไว้ นับ 1-5 จากนั้นสลับปฏิบัติอีกข้างทำประมาณ 5 ครั้ง

5) ท่าบริหารเท้า ทำได้โดยนั่งเหยียดขาออกไปด้านหน้า ยกเท้าให้ลอยขึ้นพ้นพื้น เหยียดปลายเท้าให้สุด จากนั้นกระดกปลายเท้าขึ้น-ลง ทำประมาณ 5 ครั้ง แล้วสลับข้างก็จะช่วยคลายเมื่อยได้

 

แนะฉีดวัควีนเข็มกระตุ้นปีใหม่

 

นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นต้องออกจากบ้าน ให้สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว แยกสำรับอาหาร แยกของใช้จำเป็น

 

ทั้งนี้ ลูกหลานที่เดินทางกลับบ้านในช่วงปีใหม่ ไปเจอผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และสามารถนำผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น หากเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือนแล้วเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน

 

สำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุต้องดูแลสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากสงสัยว่าป่วย ให้สับเปลี่ยนผู้ดูแล และเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด หรือตรวจด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อเป็นการคัดกรองเบื้องต้น ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงหรือญาติที่อยู่ห่างไกล อาจใช้เป็นการเยี่ยมผู้สูงอายุผ่านสื่อออนไลน์แทน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวให้มากขึ้น