ปาร์ตี้ "หมูกระทะ" ปีใหม่อย่างไร ไม่ให้เสี่ยง "หูดับ"

ปาร์ตี้ "หมูกระทะ" ปีใหม่อย่างไร ไม่ให้เสี่ยง "หูดับ"

หนึ่งในเมนูสำหรับการเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ได้รับความนิยมคงหนีไม่พ้น "หมูนกระทะ" แต่การทานหมูไม่สุก อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็น "โรคไข้หูดับ" ได้ ขณะเดียวกัน การปิ้งย่างไหม้เกรียม ยังเสี่ยงต่อ "โรคมะเร็ง" อีกด้วย

หมูกะทะ หรือ อาหารปิ้ง-ย่าง เป็นเมนูที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากช่วงหน้าหนาว แต่แฝงด้วยอันตรายหาก “กิน” แบบไม่ปลอดภัย เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค “สเตรปโตคอคคัส ซูอิส” หรือ “ไข้หูดับ” จากการกินเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบๆ หรือใช้ตะเกียบคีบรวมกันระหว่างเนื้อที่ปรุงสุกแล้วกับที่เนื้อที่ยังดิบอยู่

 

ข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อธิบายว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหายแล้ว ส่วนใหญ่มักพบความผิดปกติตามมาในภายหลัง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียการทรงตัว และสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกหรือที่เรียกกันว่า “หูดับ” 

ในประเทศไทยมีอัตราการติดเชื้อไข้หูดับประมาณ 200-350 คนต่อปี มีอัตราการเสียชีวิตสูงประมาณร้อยละ 5-10 

 

โดยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการติดเชื้อยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง และเนื่องจากการตรวจหาเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส และการตรวจหาสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรครุนแรงทำได้ยาก ส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินการในสถานพยาบาลขนาดเล็กได้ ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีการรายงานไว้จึงอาจต่ำกว่าความเป็นจริง

 

ก่อนหน้านี้ "กรมอนามัย" กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือน การกินหมูดิบ โดยเน้นย้ำว่า ควรกินแบบปรุงสุกด้วยความร้อนสูงกว่า 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไม่น้อยกว่า 5 นาที และล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำก่อนกินทุกครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี และควรเลือกร้านที่ได้รับป้ายสัญลักษณ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) ผู้จำหน่ายมีสุขอนามัยที่ดี ใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาด มีการปกปิด รวมทั้งผู้ปรุงควรสวมผ้ากันเปื้อนและหมวกคลุมผมและไม่ควรใช้มือหยิบจับอาหารปรุงสำเร็จโดยตรงในส่วนของผู้บริโภคก่อนกินอาหารต้องล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้ง

 

หากได้รับเชื้อไข้หูดับจะมีอาการอย่างไร 

  • มีไข้
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • บางรายแสดงอาการไข้ร่วมกับมีผื่น
  • อุจจาระร่วง
  • บางรายติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มสมอง
  • รวมถึงอาจทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ปิ้งย่างไหม้เกรียม เสี่ยงมะเร็ง

นอกจากการกินหมูกระทะที่ไม่สุกจะมีความเสี่ยงในการเป็น "ไข้หูดับ" แล้ว ยังเสี่ยงต่อการได้รับสารพีเอเอชหรือสารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbon) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดในควันไฟ ไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม

 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า สารนี้จะพบในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารที่ปรุงด้วยการปิ้ง ย่าง หรือรมควันของเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลว ติดอยู่ เช่น หมูย่างติดมัน เนื้อย่างติดมัน ไก่ย่างส่วนติดมัน เนื่องจากขณะปิ้งย่าง ไขมันหรือน้ำมันจะหยดไปบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสารพีเอเอชลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควันเกาะที่บริเวณผิวของอาหาร หากกินเข้าไปเป็นประจำจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

 

ปาร์ตี้ \"หมูกระทะ\" ปีใหม่อย่างไร ไม่ให้เสี่ยง \"หูดับ\"

 

5 วิธี กินหมูกระทะปลอดภัย

1) “สุกทั่วถึง”

ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ประเภทใด ควรผ่านการปรุงให้สุกโดยใช้ความร้อน ให้สุกอย่างทั่วถึงด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 นาที การนำเนื้อสัตว์ จุ่มลงไปเพียงไม่กี่วินาที อาจจะทำให้เนื้อได้รับความร้อนไม่ทั่วถึง และเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคได้

 

2) “แยกใช้อุปกรณ์”

อุปกรณ์และภาชนะต้องเน้นย้ำเรื่องสุขอนามัย ควรแยกใช้ระหว่างเนื้อที่สุกแล้วกับเนื้อดิบ โดยเฉพาะ เขียง ที่คีบ และตะเกียบ เพราะการใช้อปุกรณ์ร่วมกันจะทำให้เชื้อโรคจากเนื้อดิบมาปนเปื้อนในเนื้อที่สุกได้ และระวังการนำตะเกียบที่ใช้คีบเนื้อดิบ คีบเนื้อสุกเข้าปาก

 

3) “เลือกเนื้อสัตว์”

เลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ หรือมีการรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานราชการ และเมื่อนำมาปรุงประกอบอาหารเลือกเฉพาะส่วนหรือที่มีไขมันติดน้อยที่สุด

หรือควรตัดส่วนที่เป็นไขมันออกไปก่อนนำไปย่าง เพื่อลดไขมันที่จะไปหยดลงบนถ่าน และหลังปิ้งย่างควรหั่นส่วนที่ไหม้เกรียมออกให้มากที่สุด ถ้าต้องปิ้งย่างบนเตาถ่านธรรมดา ควรใช้ถ่านที่อัดเป็นก้อน ไม่ควรใช้ถ่านป่นละเอียด หรืออาจใช้ฟืนที่เป็นไม้เนื้อแข็ง เพราะจะช่วยให้การเผาไหม้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ

 

4) “ใบตองช่วย”

อาจจะใช้ใบตองห่ออาหารก่อนทำการปิ้งย่าง ซึ่งนอกจากจะลดปริมาณไขมัน จากอาหารที่หยดลงไปบนถ่านแล้ว ยังทำให้อาหารมีกลิ่นหอมใบตองด้วย

 

5) “เลือกร้านอาหาร”

ควรเลือกร้านที่ใช้อุปกรณ์และภาชนะในการปิ้ง ย่างแยกกันอย่างชัดเจน และใช้เตาที่สามารถลดหรือป้องกันน้ำมันหยดลงบนเตาไฟได้ เช่น เตาไฟฟ้าหรือเตาไร้ควัน ซึ่งสามารถควบคุมระดับความร้อนได้มากกว่าการใช้เตาถ่าน

 

“ทั้งนี้ ควรเสริมผักและผลไม้เพื่อช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค และควรกินอาหารให้มีความหลากหลายในปริมาณที่พอดีกับร่างกาย สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวสายแคมป์ปิ้งหรือกางเต้นท์ ต้องระมัดระวัง อันตรายจากเตาไฟที่ใช้หลังกินเสร็จต้องมั่นใจว่าดับถ่านในเตาไฟจนสนิท เพราะอาจทำให้เกิดไฟไหม้หรือการใช้เตาไฟฟ้าต้องมั่นใจว่าอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สายไฟไม่ชำรุด เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้เช่นเดียวกัน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว