“โรคโควิด-19” ปี 2566 อ่อนแรง สู่ยุคตามฤดูกาลแบบไข้หวัดใหญ่

“โรคโควิด-19” ปี 2566 อ่อนแรง สู่ยุคตามฤดูกาลแบบไข้หวัดใหญ่

หลัง 2 ปี 9 เดือน ที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19  ประเทศไทยประกาศลดระดับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 และในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะเกิดการระบาดแบบ Small Wave และเข้าสู่สถานะตามฤดูกาลแบบไข้หวัดใหญ่ แต่จุดสำคัญต้องให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีน

นับตั้งแต่ม.ค.2563 จนถึง 24 ธ.ค.2565  ประเทศไทยมีการระบาดหลายระลอก หลากหลายสายพันธุ์ไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อู่ฮั่น อัลฟา เดลตา โอมิครอน จนถึงโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยต่างๆ มีรายงานผู้ติดเชื้อสะสม 2,498,373  ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 11,896 ราย  และมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 150 ล้านโดส

ฉายภาพโควิด-19ปี 66
   นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ฉายภาพสถานการณ์โควิด-19ในปี 2566 ว่า  การระบาดถ้าเทียบกับปีนี้คงไม่แตกต่างกัน คาดว่าเชื้อไม่น่าจะกลายพันธุ์ไปมากนัก ยังคงต้องเติมภูมิคุ้มกันให้กลุ่มเสี่ยง สามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยใช้ชีวิตแบบอยู่ร่วมกับโควิด

    ทั้งนี้ พิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.เชื้อโรค จะยังคงมีการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ แต่เป็นการกลายพันธุ์แบบย่อยๆ เล็กน้อย ซึ่งตอนนี้สายพันธุ์หลักเป็นโอมิครอนมา 1 ปีแล้ว ยังไม่เปลี่ยนเป็นสายพันธุ์หลักตัวอื่น ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการติดตาม เฝ้าระวังสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง หากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็จะประกาศให้ประชาชนทราบ

        2.คน ขณะนี้คนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น จะช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ ดังนั้น การฉีดเข็มกระตุ้นจึงสำคัญ เพราะขณะนี้วัคซีนทุกยี่ห้อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้เหมือนกัน แต่ป้องกันการติดเชื้อไม่ค่อยได้ และภูมิคุ้มกันอยู่ได้ไม่นาน โดยต้องเน้นกลุ่ม 608 คนที่มีโอกาสสัมผัสผู้คนจำนวนมาก เช่น บุคลากรสาธารณสุข บุคลากรด่านหน้า คนทำงานภาคบริการ 
        3.สิ่งแวดล้อม ในช่วงแรกของการระบาดควบคุมไม่ให้คนมาพบกัน ลดความเสี่ยงปิดการเดินทาง เมื่อคนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติเหมือนกันทั่วโลก แม้จะมีการกลายพันธุ์คนก็ไม่ค่อยกังวลมาก และระบบสาธารณสุขรองรับได้ ถ้ามียาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะช่วยควบคุมสถานการณ์ดีขึ้นอีก


 วัคซีน 4 เข็ม 4 เดือน ไม่ต้องรอรุ่นใหม่
      หากดูจากข้อมูลผู้ติดเชื้อ ป่วยหนักและเสียชีวิตในประเทศไทยขณะนี้  เป็นกลุ่ม 608 คือ ผุ้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์  ทั้ง 100% และเกือบทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนไม่ครบ หรือรับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือน
      “มาตรการสำคัญจึงต้องเร่งรัดเชิญชวนกลุ่ม 608 หรือผู้ที่รับวัคซีนหรือติดเชื้อมาแล้วเกิน 3-4 เดือนให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ตามหลัก 4 เข็ม 4 เดือน โดยรับวัคซีนอย่างน้อย  4 เข็ม และเข็มล่าสุดหากเกิน 4 เดือนให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน”นพ.โอภาสกล่าว 

      ส่วนวัคซีนรุ่นใหม่ที่เป็น Bivalent สองสายพันธุ์อู่ฮั่นและ BA.2  จากข้อมูลขณะนี้หากนำมาฉีดกระตุ้นก็ไม่ได้ดีไปกว่ากระตุ้นด้วยวัคซีนรุ่นเก่ามากนัก ประชาชนที่ต้องได้รับวัคซีนตามคำแนะนำของสธ.จึงไม่ควรรอ เพราะสิ่งสำคัญคือการฉีดให้ตรงตามกำหนด         

         เช่น กรณีวัคซีนเด็กที่ระบุว่าพัฒนาจากสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ขณะนี้เด็กเล็กในไทยยังฉีดไม่ครบ 3 เข็ม ก็ไม่น่าจะทันกับการป้องกันติดเชื้อสายพันธุ์ที่มีการระบาดในปัจจุบัน เพราะขณะนี้ในประเทศไทย แทบไม่มี BA.4/BA.5 แล้ว ถูกแทนที่ด้วย BA.2.75  แต่การฉีดจะช่วยป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต จึงไม่มีความจำเป็นต้องรอวัคซีนรุ่นใหม่ สายพันธุ์ย่อยๆ ยังมีโอกาสเปลี่ยนอีก

      อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทีมวิชาการติดตามและพิจารณาข้อมูลวิชาการว่าในปี 2566 จะมีการปรับแนวทางการให้วัคซีนอย่างไรต่อไป 
เฝ้าระวังจุดเสี่ยง 1 เขต 1 จังหวัด
     นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ปี 2566 หากไม่มีการกลายพันธุ์ที่ทำให้โรครุนแรงขึ้น  โรคโควิด-19ก็จะเป็นลักษณะแบบไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาล โดยหากดูจากไข้หวัดใหญ่ ก็จะเกิดการระบาดช่วงฤดูหนาวหรือ ปลายฝนต้นหนาว  อย่างไรก็ตาม กรมมีการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยมีการสุ่มตรวจเขตสุขภาพละ 1 จังหวัด ทั้ง 12 เขตสุขภาพ และทำในพื้นที่แตกต่างกัน 
       อย่างพื้นที่เสี่ยงสูง เช่น ตลาด แหล่งบันเทิง รพ. เพื่อดูว่ามีการเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ เนื่องจากแต่ละจุดมีทั้งความเสี่ยงและคนเสี่ยง เช่น แรงต่างด้าว หรือการรวมตัวคนจำนวนมาก ซึ่งผลจากการเฝ้าระวังทำให้ได้ข้อมูลว่าพื้นที่ไหนต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

      การเฝ้าระวังตรงนี้ ทำให้เห็นข้อมูลหากมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติในพื้นที่ไหน หรือกิจกรรมใด ก็จะได้ปรับมาตรการในพื้นที่นั้น ผ่านกลไกคณะกรรมการโรคคติอต่อจังหวัด ในการทำตามแผนที่มีการซักซ้อม ตามสถานการณ์แต่ละระดับ เช่น เตรียมระบบ เตรียมคน เตรียมยา  เตรียมรพ.
“โรคโควิด-19” ปี 2566 อ่อนแรง สู่ยุคตามฤดูกาลแบบไข้หวัดใหญ่
        โดยจะแจ้งเตือนเป็นรายพื้นที่ที่มีสถานการณ์ ไม่ได้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน บางพื้นที่สงบมาก บางพื้นที่อาจเป็นโซนสีแดง ซึ่งระบบเฝ้าระวังที่ดี จะทำให้สามารถเข้าไปจัดการแต่ละพื้นที่ได้ต่างกัน ไม่เกิดผลกระทบในพื้นที่ที่ไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการมาตรการบางอย่าง

     “กรมควบคุมโรคได้มีการสำรวจคนไทย พบว่า มีภูมิคุ้มกันทั้งจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติและการฉีดวัคซีนแล้วกว่า 80 %  เป็นข้อที่ทำให้มั่นใจว่าการเปิดประเทศ มีการไปมาหาสู่ ทำกิจกรรมแบบนิวนอมัลได้มากขึ้น โอกาสที่จะเกิดการระบาไดใหญ่เหมือนตอนที่คนยังไม่มีภูมิคุ้มกันเลยก็คาดว่าน่าจะน้อยมาก”นพ.ธเรศกล่าว

ปี 66 เข้าสู่ยุคโควิดตามฤดูกาล

      ทั้งนี้  การเฝ้าระวังและนำมาสู่การเตือนภัยโรคโควิด-19 กรมควบคุมโรคจัดเป็นระดับ 1 ถึง ระดับ 5 ตามสถานการณ์

      นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  กรมได้วางระดับการเตือนภัยไว้ 5 ระดับ โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ คือ จำนวนผู้ป่วยหลักที่จะเกิดขึ้นกับระบบรักษาพยาบาลที่อัตราครองเตียงเพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้เพียง 7 %
       รวมถึง อาการที่รุนแรงและเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น  มีการแพร่เชื้อในหลายๆพื้นที่ด้วยสายพันธุ์ที่อาจจะไม่สามารถป้องกันด้วยวัคซีนได้ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะทราบจากการเฝ้าระวังในต่างประเทศมาก่อนและมาที่ประเทศไทย 

       “แต่ตอนนี้ไม่มีสัญญาณทั้ง 2 ส่วน เพราะความครอบคลุมวัคซีนสูงมากกว่า 80 %  อัตราครองเตียงอยู่ที่ 7 %ถือว่าต่ำมาก เพราะเคยขึ้นไปสูงถึง 50-60 % ดังนั้น อาจจะไม่ต้องยกระดับการเตือนภัยในช่วงนี้ เว้นแต่จะมีสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้โรครุนแรงขึ้น” นพ.โสภณกล่าว
“โรคโควิด-19” ปี 2566 อ่อนแรง สู่ยุคตามฤดูกาลแบบไข้หวัดใหญ่

      อาจจะเรียกว่ากำลังจะหมดยุคการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19แล้ว หากติดตามข้อมูลและข้อคิดเห็นจากอาจารย์นักวิชาการหลายๆท่าน ให้ความเห็นตรงกันว่า หากหมดการระบาดระลอกนี้ ในช่วงสิ้นฤดูหนาวราวๆสิ้นเดือนก.พ.2566 ก็จะเหมือนไข้หวัดใหญ่แล้ว จากนั้นจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติจะเกิดการระบาดแบบไข้หวัดใหญ่ที่เป็นตามฤดูกาล
โคโรนาโควิด-19 รุนแรงลดลง

      นพ.โสภณ บอกว่าพิจารณาดูจากการที่เชื้ออ่อนลง  ซึ่งก่อนที่จะมีโรคโควิด-19 มีโคโรนาไวรัสมาแล้ว 6 ตัว โดย 4 ตัวเป็นโคโรนาไวรัสก่อโรคไข้หวัด  ส่วน 1 ตัวก่อโรคเมอร์สอัตราป่วยตาย 30%  และอีก 1 ตัวก่อโรคซาร์ส   อัตราป่วยตาย 10 % โดยโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 เป็นตัวที่ 7 ตอนนี้อยู่ระหว่างจุดที่แสดงถึงความรุนแรงจะไปฝั่งซ้ายหรือขวา

        แต่จากข้อมูลตอนนี้คือ จะไปทางซ้ายที่มีความรุนแรงน้อยลง เพราะตัวเชื้ออ่อนลงเรื่อยๆ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะไปเข้าพวกกับอีก 4 ตัวที่ก่อโรคไข้หวัด โดยอัตราป่วยตายของโควิด-19ตอนนี้อยู่ที่ไม่ถึง 1 % น้อยกว่าโรคเมอร์สและซาร์ส รวมถึง คนมีภูมิคุ้มกันจาการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ความรุนแรงโรคน่าจะต้องมาทางฝั่งโคโรนาไวรัส 4 ตัวที่ก่อโรคหวัด

       ส่วนกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วยังป่วยหนักและเสียชีวิตสูง คือ กลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์  ที่ไม่ได้รับวัคซีน ถ้าสามารถทำให้กลุ่มนี้จำนวนราว 2 ล้านคนได้รับวัคซีนโควิด-19 จะทำให้ประเทศไทยก็บริหารจัดการโรคโควิด-19ได้เหมือนไข้หวัดใหญ่ การรับวัคซีนก็อาจจะเป็นเข็มกระตุ้นปีละครั้ง

       “หากกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันก็จะไม่เสียชีวิต อัตราการป่วยตายก็จะลดลงอีก จึงไม่น่ากังวล ไข้หวัดใหญ่ต่างหากที่ยังไม่มีวัคซีนเพียงพอสำหรับทกุคน เพราะประเทศไทยซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาปีละประมาณ 10 ล้านโดส แต่มีวัคซีนโควิด-19เป็น 100 ล้านโดส”นพ.โสภณกล่าว