คุยกับ “ผู้ใหญ่แจ็ค” ผู้ทิ้งความฝันทนาย สู่อาชีพคนเลี้ยงผึ้ง

คุยกับ “ผู้ใหญ่แจ็ค” ผู้ทิ้งความฝันทนาย สู่อาชีพคนเลี้ยงผึ้ง

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรงอำเภอบ้านคา เรียกว่าถูกสร้างมาเพื่อแสวงหา “ความสุข” เพราะแต่เดิมชาวบ้านต้องเจอกับ “ความทุกข์” 3 ประการ ทั้งปัญหาสารเคมี หนี้สิน และ ความแห้งแล้ง

“ไร่สับปะรด 25 ไร่ ถูกไถทิ้งทั้งหมด เพื่อมาเลี้ยงผึ้ง” คำบอกเล่าจาก “ผู้ใหญ่แจ็ค” คนเลี้ยงผึ้ง ที่แพ้ผึ้ง ขนาดต้องพกเข็มฉีดยาไปด้วยระหว่างการอบรมเพื่อนำความรู้มาพลิกฟื้นที่ดินที่เต็มไปด้วยยาฆ่าแมลง ให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยปลอดสารพิษของผึ้งและชันโรง

 

ทิ้งความฝันทนายในวัย 30 ปี

 

“ผู้ใหญ่แจ็ค” แมนรัตน์ ฐิติธนากุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ในฐานะประธานกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรงอำเภอบ้านคา วัย 42 ปี ที่บอกกับเราว่าไม่เคยคิด เคยฝัน ว่าวันหนึ่งจะต้องได้มาเป็น “ผู้ใหญ่บ้าน” จนกระทั่งชาวบ้านเรียกให้กลับมาทำหน้าที่แทนคุณพ่อที่เสียชีวิต ตอนนั้นอายุ 30 ปี เป็นช่วงที่กำลังเดินตามความฝัน เป็นผู้ช่วยทนาย และอยู่ระหว่างรอสอบตั๋วทนาย

 

“พ่อผมเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ตั้งใจทำงานมาก แม้จะไม่ได้คลุกคลีกับเขามาก แต่ทุกครั้งที่มาหาก็ไม่เคยเจอพ่อเลย เพราะเขาจะไปอยู่กับชาวบ้าน พ่อเคยบอกว่าทำอย่างไรจะสามารถสร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อช่วยชาวบ้านได้ 100% สามารถดึงชาวบ้านและตัวเองขึ้นมาได้ เพราะทำสับปะรด 3 วันดี 4 วันไข้ บางปีสับปะรดก็ไม่ได้ราคา แค่ค่าเก็บก็ไม่คุ้ม เราลงทุนไร่ละเกือบหมื่นบาทและหายไป ปลูกหอม เจ๊งทีละเป็นแสน ดังนั้น ทำอย่างไรจะดึงตัวเองกลับมาได้”

 

“พ่อเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อในกระแสเลือดเนื่องจากยาฆ่าแมลงจากการทำไร่สับปะรด ผมจำได้ว่าเห็นชาวบ้านนั่งหน้าห้องไอซียูเต็มไปหมด เขาถามว่ามีชาวบ้านรักพ่อมากขนาดนี้จะไม่กลับมาสานต่อแทนพ่อจริงๆ หรือ ช่วงนั้นผมทำงานที่กรุงเทพฯ ไม่เคยคิดจะมาทำด้านนี้เลยเพราะความฝันของเรา คือ เป็นทนาย พยายามจะเป็นทนายให้ได้ อยู่มาวันหนึ่งก็ถูกชาวบ้านเรียกตัวให้กลับมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผมกลับมาแบบงงๆ โดยที่ไม่มีความรู้เรื่องการบริหารหมู่บ้านและไม่มีความรู้ด้านการเกษตร”

 

คุยกับ “ผู้ใหญ่แจ็ค” ผู้ทิ้งความฝันทนาย สู่อาชีพคนเลี้ยงผึ้ง

 

รายได้ 10 ล้านต่อปี แต่ทำไมยังเป็นหนี้

 

เนื่องจากพื้นเพ และเติบโตอยู่ในแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ทำให้ผู้ใหญ่แจ็คไม่เคยมีความรู้ด้านการเกษตรมาก่อน จนคุณพ่อเสีย ต้องกลับมาดูแลเรื่องไร่สับปะรด ดูแลสวนผักต่อจากพ่อ และได้รู้ว่ารายได้ที่เคยมีปีละ 10 ล้านบาท กลับโดนหมุนเวียนไปกับต้นทุนปุ๋ยและยาฆ่าแมลง

 

“เมื่อก่อนเราคิดว่าเรามีเงิน ทำสวนสับปะรด 300 ไร่ ทำผัก 60 ไร่ มีเงินหมุนเวียนปีละกว่า 10 ล้านบาท แต่พอเช็กยอดบัญชีพบว่าเป็นหนี้ 10 กว่าล้านบาท ที่เกือบทุกแปลงอยู่ในธนาคารหมด รายได้ทั้งหมดหมุนเวียนไปกับปุ๋ยและยาฆ่าแมลง สุขภาพแย่ ตอนนั้นจึงได้เห็นว่าชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกสับปะรด ปลูกผัก และอ้อย ก็แย่เหมือนเราหรือแย่กว่าเรา บางคนเป็นหนี้ทบต้นทบดอก โดนยึดที่ดิน เป็นจุดเริ่มต้นว่าทำไมเราจึงกลับมาอยู่ที่นี่เป็นจริงเป็นจัง”

 

10 ปี กับความพยายามแก้ปัญหาสารเคมี

 

เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว พื้นที่บ้านคา เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในพื้นที่สีแดงที่ขึ้นชื่อเรื่อง “การใช้ยาฆ่าแมลงอย่างเข้มข้น” เนื่องจากชาวบ้านมีอาชีพทำเกษตรปลูกสับปะรดเป็นอาชีพหลัก เมื่อได้กลับมาทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้าน จึงพบ 3 ปัญหาใหญ่ในชุมชน ได้แก่ เรื่องหนี้สิน สารเคมี ความแห้งแล้ง โจทย์ที่ยากที่สุดคือ ทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาทั้งสามข้อนี้ได้ โดยเริ่มจากการลุกขึ้นมาทำเกษตรแบบปลอดสารเคมี 100% ในช่วงแรกผู้ใหญ่แจ็คยอมรับว่า เป็นเรื่องยากมากโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนทัศนคติของลูกบ้านในเรื่องลดการใช้สารเคมีในแปลง

 

คุยกับ “ผู้ใหญ่แจ็ค” ผู้ทิ้งความฝันทนาย สู่อาชีพคนเลี้ยงผึ้ง

 

“เริ่มจาก "ปัญหาสารเคมี" เรามีอาชีพทำสับปะรด ปลูกผัก ต้องใช้ยาฆ่าแมลงเยอะมาก สุดท้ายพ่อผมเสียชีวิตเพราะสารเคมี หลังจากมาทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้าน ได้ให้สาธารณสุขมาตรวจเลือดให้คนในหมู่บ้าน พบว่า สารเคมีในกระแสเลือดสูงมากเข้าขั้นอันตราย เพราะทุกคนใช้สารเคมี ผมเป็นผู้ใหญ่บ้านปีนี้เป็นปีที่ 12 แต่ใน 10 ปีแรก ผมไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องสารเคมีได้เลย ชวนให้เลิกใช้สารเคมีไม่มีใครเลิกใช้ เพราะผลผลิตจะไม่สวยและขายของไม่ได้ โดนตัดราคา”

 

ถัดมา คือ “ปัญหาหนี้สิน” แค่หมู่ 11 หมู่เดียว ประชากร 140 หลังคาเรือน อยู่ในภาคเกษตร 90% เฉพาะหนี้ในระบบรวมกว่า 23 ล้านบาท แต่ละปีชาวบ้านแทบไม่ต้องทำอะไร นอกจากทำงานเพื่อหาเงินจ่ายดอกเบี้ย นี่คือสิ่งที่เราอยากแก้ แต่เราแก้ไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้ว อาชีพปลูกสับปะรดหรืออื่นๆ แต่ละปีราคาไม่เคยคงที่ ได้ราคาบ้าง ไม่ได้ราคาบ้าง สุดท้ายก็ต้องไปกู้เพิ่มเรื่อยๆ และสุดท้าย “ความแห้งแล้ง” เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกสับปะรด ทำให้ไม่มีต้นไม้อื่นๆ กลายเป็นที่โล่ง แห้งแล้ง และร้อนมาก

 

“ก่อนที่จะเลี้ยงผึ้ง ผมพยายามมากที่จะปลูกพืชตัวอื่น อะไรที่ว่าดีในประเทศไทยลองเอามาปลูกหมด ไม่ว่าจะไผ่ ดอกสลิด เจ๊งทุกตัวเพราะไม่ตอบโจทย์ ตอนเรากลับมาเป็นผู้ใหญ่บ้านแรกๆ ชาวบ้านเชื่อมั่น เพราะเรียนสูง จบมหาวิทยาลัย ต้องมีความรู้ แต่ที่ผ่านมา ล้มเหลวจนชาวบ้านบอกว่าไม่ทำตามแล้ว”

 

“ผมนอนคิดว่าจะทำอะไร เพราะคำหนึ่งที่ชาวบ้านบอก คือ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนไม่ได้ สายป่านเราไม่ยาว ดังนั้น เมื่อชาวบ้านไม่เปลี่ยน เราจึงต้องเปลี่ยนเอง โดยใช้พื้นที่ของตนเอง 25 ไร่เป็นแปลงสาธิต ทำทุกอย่างอะไรเจ๊งก็เลิก จนมานั่งคิดว่า เราไม่ได้ดูว่าอะไรเหมาะกับเรา”

 

คุยกับ “ผู้ใหญ่แจ็ค” ผู้ทิ้งความฝันทนาย สู่อาชีพคนเลี้ยงผึ้ง

 

จุดเปลี่ยน สู่การได้รู้จัก “ผึ้งและชันโรง”

 

จุดเปลี่ยนของผู้ใหญ่แจ็ค คือ วันที่มีเพื่อนมาหาจากกรุงเทพฯ และชวนไปเที่ยวสวนผึ้ง ระหว่างนั่งรถก็พยายามคิดว่าทำไมเขาถึงเรียก “สวนผึ้ง” จึงหยิบโทรศัพท์โทรหาแม่ และได้คำตอบว่าที่นี่ผึ้งเยอะมาก และระหว่างที่นั่งกินข้าว เปิดหนังสือพิมพ์เจอ อาจารย์อรวรรณ (รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร) และ อาจารย์ปรีชา (อาจารย์ปรีชา รอดอิ่ม ห้องปฏิบัติการวิจัยผึ้งพื้นเมือง มจธ. ราชบุรี) ซึ่งมาทำวิจัยผึ้งในพื้นที่ และเผอิญชาวบ้านโทรมาบอกว่าให้คนไปย้ายรังผึ้งให้

 

“เหตุการณ์ 3 อย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน จึงมาคิดว่าเราลองมาทำเรื่องผึ้งดีหรือไม่ จึงติดต่อไปทาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี (มจธ.ราชบุรี) ใช้เวลา 2 ปี กว่าจะได้อบรม”

 

คุยกับ “ผู้ใหญ่แจ็ค” ผู้ทิ้งความฝันทนาย สู่อาชีพคนเลี้ยงผึ้ง

อาจารย์อรวรรณ และ อาจารย์ปรีชา

 

คนแพ้ผึ้ง ที่ต้องอบรมเลี้ยงผึ้ง

 

ผู้ใหญ่แจ็ค เล่าต่อไปว่า อบรมกับ มจธ. ครั้งแรก 18 ก.พ. 2561 อบรม 2 วัน ได้แค่ทฤษฎี แต่ภาคปฏิบัติไม่ได้เลย ต้องอยู่ห่างๆ ไม่เข้าใกล้ เพราะแพ้ผึ้ง และใช้วิธีชวนคุณแม่ไปด้วยให้คุณแม่เป็นคนดู หลังจากนั้นกว่า 8 เดือนครึ่ง จึงตัดสินใจไปเรียนซ้ำ โดยพกเข็มฉีดยาไปด้วย สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจกลับไปอีกรอบ ผู้ใหญ่แจ็คเรียกมันว่า “ความหวัง”

 

“เราเห็นว่าต้นทุนไม่มี หากชวนชาวบ้านทำสิ่งที่มีต้นทุนชาวบ้านจะไม่ทำเพราะเขาจะไปเอาต้นทุนจากที่ไหน แต่ผึ้งและชันโรงอยู่ในพื้นที่ และมีมากในเขตบ้านคา ไม่มีต้นทุนเรื่องพันธุ์ ไม่มีต้นทุนเรื่องเวลา สามารถไปทำอย่างอื่นได้ ขณะที่ การตลาด มจธ. มีแนวทางชัดเจน ภายใต้ Beesanc Model รูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม การตลาดนำการผลิตไปไกล แค่ทำอย่างไรให้สามารถเข้ามาร่วมให้ได้ เป็นโอกาสที่ชัดเจนเราจึงเลือกที่จะเลี้ยงผึ้ง”

 

คุยกับ “ผู้ใหญ่แจ็ค” ผู้ทิ้งความฝันทนาย สู่อาชีพคนเลี้ยงผึ้ง

ผลิตภัณฑ์จาก Beesanc

 

ไถไร่สับปะรดทิ้ง เพื่อเลี้ยงผึ้ง

 

หลังจากได้อบรมเรื่องผึ้ง ผู้ใหญ่แจ็คตัดสินใจ ไถไร่สับปะรดทิ้งทั้งหมด เพื่อจะทำเรื่องผึ้งเพราะเชื่อว่าจะไปได้ และข้อดีของการเลี้ยงผึ้ง คือ ไม่มีต้นทุน สามารถชวนชาวบ้านทำ โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องออกทุน แค่มีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ โดยในปี 2561 เริ่มนำ กล้วย ต้นไผ่ ต้นมะพร้าว มาปลูก โดยให้ลูกชายเป็นผู้ปลูกต้นมะพร้าวต้นแรก เพราะอยากให้ลูกรู้ว่าที่นี่เริ่มต้นจากมือเขา อนาคตเขาจะได้อยากอยู่ตรงนี้

 

อย่างไรก็ตาม การชวนชาวบ้านเข้าร่วมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะช่วง 3 ปีแรก หลังจากนำชันโรงไปตั้งให้ฟรีรอบหมู่บ้าน แต่พอกลับมาถึงบ้าน รังของชันโรงก็กลับมาถึงบ้านเช่นกัน เพราะชาวบ้านเอามาคืน

 

“เขามองว่า 1 รังได้แค่ 1,000 บาทต่อปี แต่ความจริงไม่ได้ลงทุน ไม่ต้องดูแล แค่ปล่อยให้มันดูแลตัวเองได้ ดังนั้น หากชาวบ้านไม่กล้าเปลี่ยนแปลง เราต้องทำอะไรที่เป็นเมนูสำเร็จรูปให้ชาวบ้านได้เห็นผลลัพธ์เขาจึงจะทำ หลังจากนั้น ชาวบ้านเริ่มมาจริงจังในช่วง 2 ปีนี้ แต่ผมคาดว่า 5-6 ปี เราจะสามารถแก้หนี้สินของชาวบ้านที่มีกว่า 23 ล้านบาทได้”

 

คุยกับ “ผู้ใหญ่แจ็ค” ผู้ทิ้งความฝันทนาย สู่อาชีพคนเลี้ยงผึ้ง

รังของ "ชันโรง"

 

เข้าใจ ข้อดีข้อเสีย ของการเลี้ยงผึ้งและชันโรง

 

สำหรับ “ชันโรง” เป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่ไม่มีเหล็กใน มีขนาดเล็กกว่าผึ้งพันธุ์ประมาณ 2-3 เท่า มีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย โดยแต่ละภาคจะมีชื่อเรียกชันโรงแตกต่างกันออกไป

  • ภาคเหนือเรียกชันโรงชนิดตัวเล็กว่า “ขี้ตังนีขี้ตัวนี หรือ ขี้ตึง” ชนิดตัวใหญ่เรียกว่า “ขี้ย้าดำ” ส่วนชันโรงที่มีขนาดใหญ่มากจะเรียกว่า “ชันโรงยักษ์ หรือ ขี้ย้าแดง”
  • ภาคใต้เรียกชันโรงไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ว่า “แมลงอุ่ง”
  • ภาตะวันออกเฉียงเหนือเรียกชันโรงว่า “ตัวชำมะโรง โรมหรือ อีโลม”
  • ภาคตะวันตก เรียกชันโรงว่า “ตัวตุ้งติ้ง” หรือ “ติ้ง”

 

คุยกับ “ผู้ใหญ่แจ็ค” ผู้ทิ้งความฝันทนาย สู่อาชีพคนเลี้ยงผึ้ง

ชันโรง

 

ผู้ใหญ่แจ็ค อธิบายว่า ชันโรง ข้อดีคือ เขาอยู่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น ไม่ย้ายถิ่น และสามารถขยายได้ ไม่มีศัตรู มดเข้าไม่ได้ สามารถเลี้ยงได้ระยะยาว ข้อเสีย คือ ปริมารณน้ำหวานได้น้อย

 

ขณะที่ “ผึ้ง” หากมีความรู้เรื่องรัง การย้ายลงรัง สามารถดึงเขามาอยู่กับเราได้ แต่ข้อเสีย คือ อยู่เป็นฤดู หลังฤดูเขาก็จะไป โดยเริ่มเอาเขามาเลี้ยงได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน โดยนำไขผึ้งไปทาในรังล่อ หรือวัสดุที่ทึบ วางไว้ตามโคนต้นไม้ หรือที่ๆ ร่ม กลิ่นของไขผึ้งจะดึงดูดให้ผึ้งมาอยู่เอง ส่วนตัวใช้ลำโพงเก่า ล้อรถ พอเรามีองค์ความรู้เราแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลยแค่ตั้งรังให้ถูกวิธี

 

“แต่หากเจอผึ้งที่ไปทำรังตามบ้านต่างๆ ก็ใช้ความรู้ของ มจธ. เอาเขาย้ายลงรัง ส่วนชันโรง ยิ่งง่าย เพราะแค่ให้ชาวบ้านรู้ว่าอะไรคือชันโรง แล้วนำไปแยกลงกล่องได้เลย ระหว่างที่แยกลงกล่องก็ตั้งรังล่อทิ้งไว้ เดี๋ยวเขาก็ย้ายมาอยู่ โดยรังล่อเป็นวัสดุอะไรก็ได้ แต่จะเน้นเป็นกล่องไม้เพราะสะดวกในการเคลื่อนย้าย”

 

คุยกับ “ผู้ใหญ่แจ็ค” ผู้ทิ้งความฝันทนาย สู่อาชีพคนเลี้ยงผึ้ง

ผึ้งโพรง

 

กระจายพื้นที่ตั้งรังชันโรง

 

สำหรับศูนย์เรียนรู้ผึ้งแห่งนี้ มีอีกชื่อ คือ “ไร่ฐิติ ธ. อรุณ” โดย “ฐิติ” มาจากนามสกุล “ธ.” มาจากชื่อคุณพ่อคือ ธวัชชัย และ “อรุณ” มาจากชื่อคุณแม่ คือ “อรุณรัตน์” ปัจจุบัน ผู้ใหญ่แจ็ค ได้ขยายไปเลี้ยงผึ้งและชันโรงที่บ้านเกิดแม่กลอง และทำร่วมกับคนที่มีพื้นที่แต่ไม่มีเงินซื้อพันธุ์ หรือไม่สามารถหาพันธุ์ตามธรรมชาติมาเลี้ยงได้

 

สามารถทำพื้นที่ให้เหมาะแก่การเลี้ยง โดยนำพันธุ์ไปตั้ง และแบ่งรายได้กัน ทำให้มีจุดวางที่เพิ่มขึ้น ภายใต้ข้อแม้ว่าจะต้องทำพื้นที่ให้เป็นสวรรค์ของผึ้งที่แท้จริง ไม่ใช้สารเคมีอยู่ หากไม่มีเงินซื้อพันธุ์ไม้ สามารถมารับฟรีที่กลุ่ม และหากผลผลิตออกสามารถตัดมาคืนได้

 

“เริ่มแรกเราจะบอกให้เขาไปหาพันธุ์ชันโรงตามธรรมชาติก่อน เพราะความจริงก็ไม่อยากขาย สมาชิกก็ไม่อยากขาย ปัญหาตอนนี้คือ ยอดสั่งจองมาเป็น 100 แต่ไม่มีใครขาย ส่วนคนที่มาอบรมส่วนใหญ่จะหาพันธุ์ตามธรรมชาติได้เอง พื้นที่ในประเทศไทยมีทุกที่ โดยเฉพาะ อ.บ้านคา อ.สวนผึ้ง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เป็นแหล่งชันโรง แค่มีองค์ความรู้ ไม่มีต้นทุน มีแต่ค่ากล่องซึ่งสามารถต่อเองได้ หรือซื้อราคา 250 บาท”

 

คุยกับ “ผู้ใหญ่แจ็ค” ผู้ทิ้งความฝันทนาย สู่อาชีพคนเลี้ยงผึ้ง

สาธิตการทำกล่อง ชันโรง

 

เลี้ยงนานแค่ไหน ถึงจะเก็บน้ำหวานได้

 

สำหรับระยะเวลาในการเลี้ยงชันโรง จนกระทั่งขายได้นั่น อยู่ที่แหล่งอาหาร ราว 3 เดือนกว่า - 6 เดือน ได้น้ำหวานชุดหนึ่ง วิธีการเก็บ คือ ใช้มีดตัดก้อนน้ำหวานใส่ถุง ส่งมหาวิทยาลัยได้เลย โดยน้ำผึ้งที่ส่งมหาวิทยาลัยห้ามเลี้ยงโดยน้ำตาลเด็ดขาด ต้องเลี้ยงด้วยธรรมชาติเท่านั้น เพื่อคุณภาพของน้ำผึ้ง

 

“พืชอาหารปลูกได้ทั้งหมด เริ่มจากปลูกฝรั่ง เพราะให้ดอกเร็ว สามารถเป็นอาหารให้กับเขาได้เร็ว และเริ่มเสริมต้นยางนา ตะเคียน และดอกไม้ สมุนไพรต่าง เพื่อให้คุณภาพน้ำผึ้งสูงขึ้น รวมไปถึงดอกหญ้า ผมไม่ตัดหญ้าเลย เพราะนั่นคือเงิน"

 

"เราพยายามสร้างแหล่งอาหารเอาใจผึ้ง ผลผลิตชันโรง 1 รัง ได้ประมาณ 6-7 ขีด มหาวิทยาลัยฯ รับซื้อที่กิโลละ 1,000 บาทต่อกิโลกรัม โดยรัง 3.5 กิโลกรัม จะได้น้ำผึ้ง 1 ลิตร ราคา 3,000 กว่าบาท แต่หากผึ้งจะมีน้ำหนัก 10 กว่ากิโลกรัมต่อรัง ราคา 500 – 600 บาทต่อกิโลกรัม รังผึ้งน้ำหนัก 2.5 กิโลกรัม จะได้น้ำผึ้ง 1 ลิตร ราคา 1,000 บาท”

 

รายได้ปีละ 8 แสนบาท

 

สำหรับผลผลิตที่สวนของผู้ใหญ่แจ็ค จะเก็บได้ปีละ 2 รอบ สามารถเก็บชันโรงเฉลี่ยรังละ 1,000 บาทต่อปี ทั้งหมดราว 400 รัง และผึ้ง 4,000 บาทต่อรัง มีอยู่ราว 100 กว่ารัง รวมทั้งหมดรายได้ประมาณ 800,000 ต่อปี

 

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการขายพันธุ์ผึ้งและชันโรงราว 1,500 บาทต่อรัง ซึ่งขณะนี้ มีความต้องการจำนวนมากและยังไม่เพียงพอ รวมถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาสระผม สบู่ พันธุ์ไม้ เช่น ต้นรักแรกพบ ซึ่งชาวบ้านช่วยขยายพันธุ์ และมีออเดอร์เข้ามาครั้งละกว่า 1,000 ต้น เรียกว่าเส้นทางหารายได้จากการเลี้ยงผึ้งมีหลายทาง

 

“หากมีความรู้ที่เพียงพอ สามารถทำได้ เพราะผึ้งและชันโรงเลี้ยงได้สบาย ขอแค่นำองค์ความรู้ไปใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์ และหากต้องการองค์ความรู้สามารถเข้ามาอบรมและขอคำปรึกษาได้ตลอด เพราะเราได้องค์ความรู้มาฟรี เราอยากจะถ่ายออกออกไปฟรี สามารถโทรติดต่อมาได้ตลอด”

 

คุยกับ “ผู้ใหญ่แจ็ค” ผู้ทิ้งความฝันทนาย สู่อาชีพคนเลี้ยงผึ้ง

 

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้ง

 

ปัจจุบัน กลุ่มเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองไทยและชันโรง มีสมาชิกเฉพาะอำเภอบ้านคา 693 คน ใน 41 หมู่บ้าน มีต้นแบบทั้ง 41 หมู่บ้าน ที่สามารถเป็นตัวอย่างให้คนในหมู่บ้านได้ สมาชิกนอกอำเภอบ้านคา 334 คน รวมแล้วกว่า 1,027 คน ขณะที่สมาชิกใน จ.ราชบุรี มีทุกอำเภอที่ช่วยส่งเสริม สามารถเข้าอบรมฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมถึงจัดตั้งธนาคารชันโรงในโรงเรียน 6 แห่ง

 

ขณะที่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรงอำเภอบ้านคา มีสมาชิกกว่า 300 คน หน้าที่ของวิสาหกิจ คือ เน้นการส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องผึ้งและชันโรงที่ถูกต้องโดยได้รับการถ่ายทอดจากอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) โดยวิสาหกิจชุมชนฯ ได้รวบรวมน้ำผึ้งจากสมาชิกเพื่อส่งขายต่อให้กับศูนย์ฯ เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ Beesanc โดยน้ำผึ้งโพรงทางศูนย์ฯ รับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 500 - 600 บาท น้ำผึ้งชันโรงรับซื้อที่กิโลกรัมละ 1,000 บาท

 

“เราใช้องค์ความรู้จาก มจธ. 100% เพราะทดลองจนเชื่อมั่นแล้วว่าที่นี่ให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องและสามารถทำได้จริง เราได้องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยเยอะมากทั้งการเลี้ยงผึ้ง และ ชันโรง การพัฒนาน้ำผึ้ง และกล้าบอกได้ว่าตอนนี้น้ำผึ้งของเราเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะได้องค์ความรู้เรื่องพืชอาหารจาก มจธ. เราสามารถดีไซน์น้ำผึ้งให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้และที่สำคัญ เราอยากสร้างชุมชนที่มีความสุข”

 

คุยกับ “ผู้ใหญ่แจ็ค” ผู้ทิ้งความฝันทนาย สู่อาชีพคนเลี้ยงผึ้ง

 

ความคุ้มค่า กับ อิสระทางด้านเวลา

 

เมื่อถามว่า คุ้มหรือไม่กับการทิ้งความฝันเพื่อกลับมาอยู่ที่นี่ ผู้ใหญ่แจ็ค บอกว่า ถ้าย้อนกลับไปได้ จะกลับมาเร็วกว่านั้น (หัวเราะ) เพราะไม่สนุกกับการอยู่กรุงเทพฯ เราคิดว่าเรากลับมาอยู่ตรงนี้มีอิสระขึ้น หากไม่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็เรียกว่ามีอิสระเรื่องเวลาเต็ม 100 จะทำอะไรไปไหนก็ได้ เพราะผึ้งหากินให้

 

“ถ้าเทียบเป็นเกษตรกรขี้เกียจ ผมคือตัวพ่อ เพราะแต่ละวันก็เดินดูสวน กลางวันผูกเปลนอน ผึ้งทำให้เราดีไซน์ชีวิตตัวเองได้สบาย ปัจจุบัน คนที่กลับมาเล่นผึ้งและชันโรงเยอะขึ้น คือ กลุ่มข้าราชการ และ คนทำงานประจำ เริ่มสะสมถึงระดับหนึ่งการันตีรังละ 1,000 บาท มี 20 รัง ปีหนึ่งก็ได้ 20,000 บาท เป็นเงินเก็บได้ หากมีสัก 400 รัง งานประจำไม่ต้องทำก็ได้”

 

คุยกับ “ผู้ใหญ่แจ็ค” ผู้ทิ้งความฝันทนาย สู่อาชีพคนเลี้ยงผึ้ง

 

“ตอนนี้ไร่สับปะรด 300 ไร่ของผมไม่ทำเลย ปลูกยางอย่างเดียว เพิ่มแหล่งอาหาร และเริ่มนำชันโรงไปเลี้ยงมากขึ้น วันหนึ่งเราจะหลุดพ้นอิสระทางการทำงาน มันสามารถพาเราหลุดได้ แม้ตัวเงินที่ได้ในแต่ละปีจะดูน้อยกว่าตอนทำสับปะรด แต่เราได้เต็มๆ ไม่มีต้นทุน”

 

หากถามถึงอาการแพ้ผึ้ง ณ ตอนนี้ กลายเป็นว่าเลิกแพ้ผึ้งไปแล้ว ตามนิ้วมือซึ่งเต็มไปด้วยรอยผึ้งต่อย แต่ก่อนแพ้ถึงขั้นหายใจไม่ออกและหลอดลมตีบ แต่ผู้ใหญ่แจ็ค บอกว่า "ไม่แนะนำให้ทำตามเพราะร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน" แต่ในเมื่อเราอยากจะทำ จะให้แม่หรือคนอื่นทำก็ไม่เหมือนเราทำเอง แรกๆ ก็ฉีดยา 4-5 ครั้ง แต่หลังๆ รู้สึกว่าอาการไม่รุนแรงเหมือนเดิม พอหายใจได้จึงเลิกใช้ และเมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็ปกติไปเอง คิดว่าอาจเป็นเฉพาะบุคคล

 

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก : ผึ้ง/ชันโรง ไร่ฐิติธ.อรุณ

หรือ Native Honeybee and Pollinator Center ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร