38 ภาครัฐ-เอกชน พัฒนาหลักสูตรรองรับตลาดยานยนต์

38 ภาครัฐ-เอกชน พัฒนาหลักสูตรรองรับตลาดยานยนต์

ไตรมาสที่ 2 ปี 2565  ประเทศไทยมีการผลิตรถยนต์  390,033 คัน ลดลงร้อยละ 18.76 จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.97 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนแบ่งเป็น การผลิตรถยนต์นั่ง ร้อยละ 31 รถกระบะ 1ตันและอนุพันธ์ ร้อยละ 67 และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ ร้อยละ2

ส่วนการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีจำนวน 196,114 คัน ลดลงร้อยละ 15.17 จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.53 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกรถยนต์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีจำนวน 206,520 คัน ลดลงร้อยละ 15.06 จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 5.81 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนแบ่งเป็น การส่งออกรถยนต์นั่ง ร้อยละ 25 รถกระบะ 1 ตัน ร้อยละ 67 และรถ PPV ร้อยละ 8

ขณะที่ มูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีมูลค่า 2,397.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.63 จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 6.21 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้

มูลค่าการนำเข้าของส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีมูลค่า 2,021.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.48 จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 30.26 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ค่ายรถชู 2566 ปีทองตลาด“อีวี” ผู้บริโภคเชื่อมั่นการใช้งานมากขึ้น

ส.อ.ท. เผยยอดผลิตรถยนต์เดือน พ.ย. แตะ 1.9 แสนคัน คาดทั้งปีผลิตได้ 1.8 ล้านคัน

เอ็มจีเร่งส่งมอบ‘อีวี’ มั่นใจปีหน้าทะลุหลักหมื่น

รัฐ-เอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย “ยานยนต์คาร์บอนต่ำ”

 

ภาครัฐ-เอกชน รุกตลาดยานยนต์

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่ 3 ปี 2565  จากการคาดการณ์โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประมาณการในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 420,000 คัน โดยแบ่งเป็น การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50

เมื่อวันที่  22 ธ.ค. 2565  กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา การวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน

พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) นายกฤษฏา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ผู้บริหารสถานประกอบการ 38 แห่ง ผู้บริหารและผู้อำนวยการสถานศึกษา เข้าร่วม ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี 

ทั้งนี้  ปัจจุบันภาครัฐให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่สังคมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกในตลาดยานยนต์และช่วยลดมลพิษในอากาศในระยะยาว

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. เปิดเผยว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู และพัฒนานักเรียนนักศึกษา ให้มีความพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย โดยสำรวจความต้องการแรงงานของตลาด และวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เพียงพอและมีทักษะสมรรถนะที่จำเป็น

 

ปรับหลักสูตร เสริมความรู้ด้านรถยนต์EV

ปรับปรุงหลักสูตรรายวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานและสถานประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ สอดรับกับความต้องการนักเรียนนักศึกษาที่มีความรู้ด้านรถยนต์ Electric Vehicle (EV) จำนวนมากของกระทรวงอุตสาหกรรม ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะนำพาให้การจัดการอาชีวศึกษาบรรลุสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จได้ในอนาคต 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จิดา เลขาธิการ กอศ. กล่าวเสริมว่า  พิธีลงนามความร่วมมือในวันนี้ เป็นการผนึกกำลังระหว่าง สอศ. กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยและสถานประกอบการทั้ง 38 แห่ง โดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ

สอดรับกับนโยบายของ รมว.ศธ. ที่สนับสนุนให้สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ สร้างผู้เรียนที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความเข้าใจในด้านต่าง ๆ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

สอศ. ตั้งเป้าหมายผลิตบุคลากรในระดับช่างฝีมือ ช่างเทคนิค และนักเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับการผลิตและพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ โดยคำนึงถึงคุณภาพความเป็นเลิศทางวิชาชีพ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในยุคปัจจุบัน