ค่ายรถชู 2566 ปีทองตลาด“อีวี” ผู้บริโภคเชื่อมั่นการใช้งานมากขึ้น

ค่ายรถชู 2566 ปีทองตลาด“อีวี” ผู้บริโภคเชื่อมั่นการใช้งานมากขึ้น

ส.อ.ท.เผยแนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้าปีหน้าโตต่อเนื่อง รับมาตรการอุดหนุนภาครัฐ รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อรถอีวีมากขึ้น หลังค่ายรถอีวีระดับโลกเตรียมเข้ามาลงทุน คาดยอดขายอีวี ปี 66 แตะ 35,000 คัน “เอชเซม” เผยยอดจดทะเบียนจักรยานยนต์ อีวี 11 เดือน 8.7 พันคัน คาดปีหน้าทะลุหมื่นคัน

ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากช่วงที่ผ่านมาบริษัทรถบางแห่งต้องชะลอการรับจองชั่วคราว ในขณะที่ตลาด EV ในปี 2566 ประเมินว่ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เห็นภาพการลงทุนผลิต EV แบตเตอรีและสถานีอัดประจุไฟฟ้า

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รายงานการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าถึงเดือน พ.ย.2565 อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 26 โครงการ จาก 17 บริษัท มูลค่าการลงทุนรวม 80,208 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินลงทุนหมุนเวียน) รวมจำนวนรถที่จะมีการผลิต 839,775 คัน โดยมีแบรนด์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว 11 บริษัท ครอบคลุมทั้ง Hybrid Electric Vehicle (HEV), 

Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) , Battery Electric Vehicle (BEV) และ Battery Electric Bus

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มของตลาดรถ EV ในปี 2566 จะเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าในปีหน้าจะมียอดจดทะเบียนใหม่รถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV ในประเทศอยู่ที่ 25,000-35,000 คัน ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับยอดจดทะเบียนใหม่ในช่วง 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) อยู่ที่ 18,135 คัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 234.53% ด้วยปัจจัยสนับสุนจากมาตรการอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐและมาตรการทางภาษีที่ยังมีผลในปี 2566

รวมทั้งการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ครอบคลุมมากขึ้นในหลายพื้นที่ และราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV ของเดือน พ.ย.2565 อยู่ที่ 2,878 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 257%

ผู้บริโภคเชื่อมั่น “อีวี” มากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นหลังจากที่มีค่ายรถยนต์ระดับโลกตัดสินใจเข้ามาลงทุนสร้างฐานการผลิตและตั้งสำนักงานขายในประเทศ ซึ่งจะเริ่มมีการผลิตอีวีในไทยตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป อีกทั้งมีรายงานวิเคราะห์ว่าราคารถอีวีใน 4 ปีข้างหน้า หรือปี 2569 จะเทียบเท่าหรือต่ำกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน

“ทั้งนี้ ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นของแร่ลิเธียมทำให้มีแนวโน้มว่าจะมีการผลิตแบตเตอรี่ด้วยโซเดียมไออนและแร่ธาตุอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมองว่าอาจเป็นโอกาสของไทยที่จะมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่โซเดียมในประเทศ โดยเป็นแร่ที่มีมากในภาคอีสาน และสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอีวีในประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งจากราคาวัตถุดิบของแร่ลิเธียมในการผลิตแบตเตอรี่ ค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า และค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นจะมีผลต่อการปรับขึ้นราคาขายรถยนต์ในปีหน้า รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นปัจจัยกังวลและความเสี่ยงลำดับต้นๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง

มั่นใจสถานการณ์ชิปคลี่คลาย

นอกจากนี้ ส.อ.ท.รายงานจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือน พ.ย.2565 อยู่ที่ 190,155 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 15% เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น ทำให้สามารถผลิตเพื่อส่งออกได้เพิ่มขึ้น 19.12% โดยภาพรวมจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือน ม.ค.-พ.ย.2565 มีจำนวน 1.72 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 20.95% ทำให้ประเมินว่ายอดการผลิตรถยนต์ทั้งปี 2565 เป็นไปได้ตามเป้าหมายเดิมที่ 1.80 ล้านคัน ก่อนที่จะมีการปรับลดลงหลังสถานการณ์ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุขึ้นในช่วงต้นปี รวมทั้งการล็อกดาวน์เมืองสำคัญของจีนที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) 

“ด้วยสถานการณ์ขาดแคลนชิปที่เริ่มคลี่คลายตั้งแต่เดือน ส.ค.หลังจากดีมานต์ของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เริ่มลดลง ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับส่งมอบชิปมากขึ้น สำหรับในปี 2566 โดยเบื้องต้นประเมินว่าจะมียอดผลิตรถยนต์เทียบเท่าในปีนี้ อยู่ที่ 1,850,000-1,950,000 โดยจะสรุปตัวเลขเป้าหมายปีหน้าอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือน ธ.ค.นี้”

“ท่องเที่ยว” ฟื้นหนุนตลาดรถ

ทั้งนี้ ในปี 2566 อุตสาหกรรมยานยนต์มีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ 21 ล้านคน หรือมากกว่านั้นหากจีนมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย การประกันรายได้เกษตรกร และการลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีสถิติการลงทุนในปีนี้กว่า 120,000 ล้านบาท รวมทั้งการเลือกตั้งในปีหน้าจะเป็นตัวกระตุ้นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น

สำหรับ ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน พ.ย.2565 อยู่ที่ 87,979 คัน ลดลงจากปีก่อน 10.98% เพราะส่งออกได้แค่ 81.96% ของยอดผลิตเพื่อส่งออกจากการขาดแคลนพื้นที่จอดรถยนต์ส่งออกในเรือประเภทบรรทุกสินค้าที่มีล้อ และมีมูลค่าการส่งออก 56,071.91 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 2.89%

ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปช่วง 11 เดือนของปีนี้ อยู่ที่ 888,651 คัน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ในระยะเวลาเดียวกัน 3.59% และมีมูลค่าการส่งออก 553,354 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.64%

“คาดว่ายอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจะเป็นไปตามเป้าที่มีการปรับใหม่ช่วงกลางปี อยู่ที่ 9 แสนคัน แต่จะไม่ถึงเป้าหมายเดิมคือ 1 ล้านคัน เนื่องจากมีปัญหาขาดพื้นที่บรรทุกบนเรือที่จะขนส่งไป เพราะแต่ละประเทศสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นก็มาแย่งพื้นที่บรรทุกกัน”

ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน พ.ย.อยู่ที่ 68,284 คัน ลดลงจากปีก่อน 4.79% เพราะมีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทำให้ขายได้เพียง 79.16% ของยอดการผลิตเพื่อขายในประเทศ ทั้งนี้เศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ 9 ล้านกว่าคน รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมีเงินลงทุนกว่าหนึ่งแสนล้านบาท ส่งผลให้คนมีงานทำเพิ่มขึ้นมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.ปีนี้ 5.67%

จดทะเบียนจักรยานยนต์อีวี 8.7 พันคัน

นายวันชัย ลี้นะวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอช เซม มอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิต จำหน่าย และให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า “เอชเซม” กล่าวว่า ภาพรวมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นเมกะเทรนด์ และประเทศไทยมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมาตรฐานการใช้งาน มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีมาตรการส่งเสริมที่ช่วยให้ตลาดขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด

ในส่วนของตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน และในส่วนของบริษัทก็มีอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ตลาดจักรยานยนต์ อีวี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเพื่อการพาณิชย์ (Commercial) และส่วนบุคคล (Home user) โดยกลุ่มเชิงพาณิชย์มีขนาดที่ใหญ่กว่า โดยในส่วนของบริษัทมีลูกค้าส่วนบุคคลประมาณ 1% เนื่องจากจักรยานยนต์อีวียังม่ีราคาที่สูงกว่าจักรยานยนต์ทั่วไป ดังนั้นกลุ่มเชิงพาณิชย์ที่มีการใช้งานรถที่มากกว่าจะเห็นผลจากการประหยัดค่าเชื้อเพลิงมากกว่า ทำให้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วกว่า ซึ่งปัจจุบันลูกค้าหลักคือ กลุ่มไรเดอร์ เช่น แกร๊ปฟู้ด แกร๊ปไบค์ หรือ ฟู้ดแพนด้า เป็นต้น

นอกจากนี้ก็มีตลาดฟลีทกลุ่มลูกค้าองค์กร เช่น ไทยฟู้ด ที่ส่งมอบรถไปแล้วประมาณ 200 คัน

โดยปัจจุบัน เอช เซม มีส่วนแบ่งตลาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 23% อยู่ในอันดับ 1 และอันดับที่ 2 ในตลาดทั่วประเทศ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 18% โดยมียอดจดทะเบียน ณ สิ้นเดือน พ.ย. 1,432 คันเพิ่มขึ้นมากกว่า 200% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ขณะที่ยอดจดทะเบียนรวมทุกยี่ห้อทั่วประเทศ 8,783 คัน

ตั้งเป้าปีหน้าทะลุหมื่นคัน

ส่วนปี 2566 บริษัทตั้งเป้ายอดจดทะเบียนรวม 1 หมื่นคัน จากการที่กระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้น บวกกับแนวทางบริหารจัดการของบริษัท และการเสริมสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด

โดยในส่วนการบริหารจัดการ มีแนวคิดหลักคือ เพิ่มความสะดวกให้กับไรเดอร์ โดยเฉพาะการบริการด้านแบตเตอรีด้วยระบบเปลี่ยนแบตเตอรี (battery swap) โดยไม่ต้องเสียเวลารอชาร์จ โดยผู้ขับสามารถเข้าไปใช้บริการที่ตู้ชาร์จด้วยการเลือกแบตเตอรีที่ชาร์จเต็มแล้วมาใส่รถ แล้วนำลูกที่แบตหมดใส่ในตู้ชาร์จแทน

ปัจจุบัน บริษัทเปิดให้บริการสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี 28 แห่ง รวม 60 ตู้ แต่ละตู้ชาร์จแบเตอรีได้ 11 ลูก และตั้งแต่เปิดบริการพบว่ามีอัตราการเปลี่ยนแบตเตอรีรวม 6.6 แสนครั้งและปี 2566 มีแผนเพิ่มตู้ชาร์จอีก 100 ตู้ และเน้นการติดตั้งในศูนย์การค้าต่างๆ เช่น โลตัส 8 แห่ง และคอมมูนิตี้ มอลล์อีกจำนวนหนึ่ง และเปิดให้บริการ 24 ชม.

ทั้งนี้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานของจักรยานยนต์อีวี เอชเซม ติดตั้งแบตเตอรี 2 ลูก แต่ละลูกรองรับการใช้งานได้ 70 กิโลเมตร ปรับผลิตภัณฑ์ขยายตลาด-เล็งขึ้นสายประกอบแบตเตอรี

ส่วนด้านผลิตภัณฑ์ม่ีแผนเปิดตัว เอช เซม วิง จี ไมเนอร์เชนจ์ ที่จะเปลี่ยนการทำงานของมอเตอร์จากฮับ มอเตอร์ เป็นเกียร์ มอเตอร์ แทน ซึ่งจะเป็นรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับการใช้งานในภูมิประเทศที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การขึ้นเขาขึ้นเนิน ทำให้สามารถขยายตลาดได้มากขึ้น และเปิดตัวรุ่นล้อ 16 นิ้ว ทำให้รถมีความสูงมากขึ้น รองรับการใช้งานในภาวะที่ฝนตกน้ำท่วมขังได้ดีขึ้นในส่วนของของการขับขี่ ส่วนแบตเตอรีรุ่นปัจจุบันก็ไม่มีปัญหาเพราะติดตั้งไว้ในห้องเก็บของใต้เบาะ

โดยการเปิดตัวรถใหม่ การขยายสถานีชาร์จคาดใช้เงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบท

นอกจากนี้ยังม่ีแผนประกอบแบตเตอรีในประเทศ จากปัจจุบันนำเข้าสำเร็จรูปจากจีน ซึ่งจะทำให้สามารถทำราคาได้ดีขึ้น และมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยขณะนี้ได้เริ่มต้นเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นไว้บ้างแล้ว และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนสำหรับการขึ้นสายการประกอบแบตเตอรี ประมาณ 200-300 ล้านบาท

สำหรับเอช เซม มอเตอร์ เป็นธุรกิจของคนไทย ในกลุ่มฮั้วเฮงหลี ที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจเครื่องจักรกลทางการเกษตร 42 ปี มีโรงงานบนพื้นที่ 70 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา