เข้าใจความต่าง! ทำไม? คน Gen Z ถึงอยู่ร่วมกับคน Gen อื่นยาก

เข้าใจความต่าง! ทำไม? คน Gen Z ถึงอยู่ร่วมกับคน Gen อื่นยาก

Generation Gap หรือ ช่องว่างระหว่างวัย คือ ความแตกต่างของความคิดเห็น ความเชื่อ ค่านิยมหรือทัศนคติระหว่างคนรุ่นหนึ่งกับอีกรุ่นหนึ่ง เช่น ช่องว่างระหว่างคนหนุ่มสาวกับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งและการสื่อสารที่ซับซ้อนจน

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินโครงการ ความคาดหวัง การวางแผน และการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงาน ต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ โดยการเก็บข้อมูลออนไลน์ในปี 2564 จากประชากร อายุ 18-59 ปี จำนวน 1,734 ราย พบว่าคนแต่ละช่วงวัยจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดยคน Gen X (อายุ 42-59 ปี) ต้องการเกษียณสโลว์ไลฟ์ กับบั้นปลายที่มีอยู่ ขณะที่ Gen Y (อายุ 27-41 ปี ) อนาคตยังอีกไกล ขอไปเที่ยวก่อน และคน Gen Z ( อายุ 18-26 ปี) ชีวิตต้องใช้ ต้องไปให้สุด

ส่วนการทำงานในแต่ละกลุ่มนั้น 1ใน3 ของคนGen Z คิดจะหยุดทำงานก่อนอายุ 60 ปี การเปลี่ยนวิถีชีวิตที่มีอิสรภาพในการทำงานและการเงิน ส่วนคน Gen X เกินครึ่ง คิดทำงานหลังอายุ 60 ปี

ด้วยมุมมองการใช้ชีวิตของเด็กรุ่นใหม่ Gen Z ที่เติบโตมาในยุคเทคโนโลยีที่ทันสมัย เด็กในยุคนี้อาจจะจินตนาการไม่ออกเลยว่าโลกที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตนั้นจะอยู่ได้อย่างไร แถมยังยกให้สมาร์ทโฟนเป็นอวัยวะของชาว Gen-Z จนถูกเรียกว่า Digital in their DNA

คนเจนนี้ติดโลกออนไลน์และรับข้อมูลข่าวสารมากมายอย่างรวดเร็ว ทันโลกและวิเคราะห์สถิติเรื่องต่างๆ เพื่อคาดการณ์อนาคตได้เร็ว ตัดสินใจทำอะไรอย่างรวดเร็ว ไม่ชอบรอคอย แต่ก็เป็นคนที่กลัวอนาคต จึงมักหาข้อมูลมาเปรียบเทียบและป้องกัน เช่น เรียนอะไรไม่ตกงาน อาชีพอะไรมั่นคง นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่าจะเลือกงานที่เงินดีมากกว่าที่ชอบจริงๆ คน Gen-Z จะเปิดกว้างทางความคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างมากขึ้น

 

ข่าวเกี่ยวข้อง:

ทำความรู้จัก Baby Boomer และ GenZ

จากการมองเห็นในโลกดิจิทัล จึงเปิดกว้างในการยอมรับความแตกต่าง มีแนวโน้มที่จะปรับทัศนคติได้ดี ไม่แบ่งแยกชนชั้น สีผิว ศาสนา หรือประเพณีที่แตกต่าง แต่มีแนวโน้มที่จะเป็นมนุษย์หลายงาน เพราะความอดทนต่ำ ต้องการคำอธิบายมากขึ้น ต้องมีเหตุผล ต้องรู้สึกว่าได้เข้าใจกับทุกเรื่องในชีวิต

ส่วนการเรียนรู้ของคน Gen Z จะหาความรู้ได้ทุกที่ เกลียดการเรียนแบบบรรยาย ก็ชอบข้อมูลแนวกราฟ ภาพ สถิติชัดเจน เน้นข้อมูลสั้นๆ ที่เข้าใจง่ายๆ เพราะจดจำข้อมูลได้ดีจากข้อมูลสั้นๆ ตามแบบฉบับโลกออนไลน์

ขณะที่คนยุค Baby Boomer หรือ Gen B คือคนมีอายุประมาณ 60 ขึ้นไป ลักษณะนิสัยจะเป็นคนจริงจัง เคร่งครัดเรื่องขนมธรรมเนียนประเพณี เป็นเจ้าคนนายคน ชีวิตทุ่มเทให้กับการทำงาน มีความอดทนสูง ประหยัดอดออม ซึ่งมักถูกจัดเป็นพวก "อนุรักษนิยม" ลักษณะร่วมของคนเจนนี้คือ จริงจัง ทุ่มเทชีวิตให้งาน อดทน อดออม ชอบงานมั่นคง ภักดีต่อองค์กร และให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่พลเมือง ทำให้ความคิด ลักษณะการใช้ชีวิตแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัวมักเกิดกับผู้สูงอายุและลูกหลาน พ่อแม่กับลูก พี่กับน้อง ด้วยคนในครอบครัวไม่มีเวลาให้กัน ไม่ยอมรับความเห็นของแต่ละฝ่าย ต่างคิดว่าตนเองถูก ไม่ปรึกษาพูดคุยกันเมื่อมีปัญหาจึงเป็นต้นเหตุของความห่างเหิน

ยิ่งครอบครัวไทยในปัจจุบันมีลักษณะเป็น “ครัวเรือนข้ามรุ่น” มากขึ้น โดยในบ้านมีเพียงคน 2 รุ่น คือ คนรุ่นปู่ย่าตายายกับคนรุ่นหลานอาศัยอยู่ด้วยกัน

 

แก้ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัว

จากสถิติพบว่า ในปี 2557 ประเทศไทยมีครัวเรือนข้ามรุ่นถึงร้อยละ 15 อีกทั้งในอนาคตเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ จะมีจำนวนประชากรอายุมากกว่า 60 ปีจำนวนมากกว่าเด็ก ทำให้คนหนุ่มสาวจำเป็นต้องแบกรับหน้าที่ดูแล ทั้งหมดอาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยในบ้านกว้างขึ้นได้ ความเข้าใจกันของคนต่างรุ่นจึงมีความสำคัญ

สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัว คือ

เข้าใจและยอมรับ : แม้จะอยู่ในครอบครัวเดียวกัน แต่ก็แตกต่างกันได้ ด้วยเติบโตมาในสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คุณตาคุณยาย หรือลูกหลาน ต้องเข้าใจและนับถือตัวตนกันและกัน ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางในทุกสถานการณ์ สมาชิกในบ้านแต่ละคนจึงควรเปิดใจยอมรับ และเคารพในความแตกต่าง

รับฟังความเห็น : การเป็นผู้ฟังที่ดีกว่าเดิมทำให้เป็นผู้ใหญ่น่าเคารพ และลูกหลานน่าเอ็นดู รวมทั้งให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาอย่างเป็นกลาง โดยไม่ลืมคิดถึงมุมมองของอีกฝ่ายอย่างเปิดใจด้วย ผู้สูงวัยที่ทำตัวสมวัย ไม่ทำตัวเป็นศูนย์กลาง ยอมรับความเปลี่ยนแปลง สามารถเป็นต้นแบบให้ลูกหลาน ทำให้ลูกหลานอยากเข้าหา พูดคุย ปรึกษาได้ และเกิดเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

เปิดประตูโลกส่วนตัว : การมีโลกส่วนตัวสูงยิ่งทำให้มีการเว้นระยะห่างจากกันขึ้นเรื่อย ๆ สมาชิกในครอบครัวจึงควรแบ่งปันโลกของตัวเองให้อีกฝ่ายได้รับรู้และเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ลูกหลานชวนคุณตาคุณยายมาเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือพ่อแม่ปลูกฝังให้เด็กในบ้านเข้าวัดทำบุญร่วมกัน

กิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ : การสร้างหรือทำกิจกรรมร่วมกันสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ ทำให้สามารถพูดคุยในเรื่องเดียวกันได้ การใช้เวลาร่วมกันช่วยให้ได้เรียนรู้ตัวตนกันและกันมากขึ้น ซึ่งเรื่องการถมช่องว่างระหว่างวัยในบ้านเป็นหน้าที่ของคนทุกวัยในครอบครัวที่ต้องช่วยกัน

 

สื่อสารลดความขัดแย้ง ยอมรับของคนต่างรุ่น

การสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความเข้าใจ และยอมรับของคนต่างรุ่นสามารถใช้หลัก 4E คือ

Empathy (เข้าอกเข้าใจ) พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา การเหมารวมว่าคนรุ่นเดียวกันต้องคิดแบบเดียวกันจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด และอาจเป็นการขยายความขัดแย้งยิ่งขึ้น

Equality (เท่าเทียมกัน) ถึงจะมีวัยแตกต่างกันแต่ควรมีความเท่าเทียมกันในเรื่องความคิดเห็น การถือว่าตนเองเหนือกว่าจะนำไปสู่การสื่อสารที่ล้มเหลว

Express (เปิดใจกับการแสดงออกและวิธีสื่อสาร) แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา สุภาพ เปิดเผย และโปร่งใส

Eco System (เข้าใจสิ่งแวดล้อมของระบบ) เข้าใจสิ่งแวดล้อมของการสื่อสารกัน เช่น ในขณะที่คนอายุมากกว่ามองว่าคนอายุน้อยกว่าพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบแทนที่จะพัฒนาตนเอง คนหนุ่มสาวมองว่าระบบคือสิ่งที่ปิดกั้นโอกาสและการเติบโต แม้จะพยายามแล้วก็อาจจะเติบโตยาก

 

การทำงานร่วมกันในแต่ละGen

การทำงานกับคนต่างเจนให้มีความสุขต้องมีความเข้าใจ สำหรับ

- การทำงานกับ Gen B

ผู้มากประสบการณ์ ควรแสดงความนับถือ รับฟัง และเรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกเขาซึ่งให้ความสำคัญต่อหลักการทำงาน ยึดถือวัฒนธรรมองค์กร เห็นคุณค่าการทุ่มเท เรียนรู้วัฒนธรรมและการเจริญเติบโตขององค์กร

- การทำงานกับ Gen X

ต้องพูดให้กระชับ ชัดเจน และไม่อ้อมค้อม ตรงไปตรงมา ไม่บงการ แต่ให้นโยบายกว้าง ๆ เปิดโอกาสให้ได้แก้ปัญหาเอง ไม่คาดหวังให้ทำงานหนัก เพราะพวกเขาต้องการชีวิตที่สมดุล และไม่ชอบการอยู่ติดที่

- การทำงานกับ Gen Y

ผู้ชอบความท้าทายและภารกิจใหม่ ๆ ให้ความสำคัญกับการเป็นส่วนหนึ่งของทีม การเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและเพิ่มความรับผิดชอบ เป็นเสมือนคำชมสำหรับพวกเขา ผู้ใหญ่ที่ยอมรับความคิดเห็นก็จะได้รับการยอมรับ ความรู้สึกและความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงานมีผลต่อ Gen Y อย่างมาก

- การทำงานกับ Gen Z

ควรให้เกียรติ เข้าใจความต้องการสร้างสมดุลชีวิต ใช้เทคโนโลยีสร้างให้องค์กรทันสมัย  เปิดโอกาสให้แสดงความสามารถและส่งเสริมให้ได้แสดงบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้น 

ในองค์กรที่มีคนหลายรุ่นอยู่ร่วมกันควรสร้างวัฒนธรรมองค์กรไม่ให้เอนไปทางช่วงอายุใดช่วงอายุหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้คนที่อยู่ช่วงอายุที่แตกต่างไม่พึงพอใจและปฏิบัติตัวเองไม่ถูก ผู้นำขององค์กรหรือฝ่ายที่มีหน้าที่ดูแลพนักงานควรหาวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้คนหลากหลายวัยอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

6 วิธีเสริมสร้างความเข้าใจให้คนต่างวัยอยู่ร่วมกันได้

1. ลดอคติที่มีต่อช่วงวัยอื่น

คนแต่ละช่วงวัยจะมีประสบการณ์ในชีวิตและการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เติบโตมาก็แตกต่างกันด้วย จึงไม่แปลกที่ Gen Y ตอนปลาย หรือ Gen X ตอนต้น มักจะรู้สึกขัดใจเวลาเห็นพ่อ – แม่ของเราที่อยู่ใน Gen Baby Boomers มักจะเชื่อ Fake News ที่ส่งต่อกันมาใน Line แถมเป็นคนแชร์ Fake News นั้นต่อไปอีก หรือหงุดหงิดใจกับวิธีเลี้ยงดูลูกของเราที่อยู่ใน Gen Z หรือ Alfa Gen 

ดังนั้น วิธีรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวข้อแรก คือ การลดอคติที่เรามีต่อคนต่างช่วงวัย โดยพูดคุย และรับฟังเหตุผลของกันและกันมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินคนในครอบครัวของเราว่าน่าเบื่อ น่ารำคาญ เชื่อว่าถ้าเราพูดคุยกันมากขึ้น อคติที่เป็นกำแพงกั้นในใจเราจะสามารถลดลง และทำให้ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวดีขึ้น

2. พูดให้น้อย ฟังให้มาก

ต้นเหตุของปัญหาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว สาเหตุหนึ่งที่งานศึกษาทางจิตวิทยาค้นพบ คือ การพูดเรื่องของตัวเองมากกว่ารับฟังเรื่องของคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทุกครอบครัว พอเราอยู่ด้วยกันมาตลอดชีวิตของเรา เราก็รู้สึกว่าคนในครอบครัวเป็นของตาย ถึงไม่ใส่ใจ ไม่รับฟัง ก็ยังอยู่บ้านเดียวกัน ต่อให้ทะเลาะกัน ผิดใจกัน ก็ยังเป็นพ่อ – แม่ เป็นพี่ – น้อง เป็น พ่อ – แม่ – ลูกกันอยู่ และความเฉยชา ที่เป็นตัวบั่นทอนความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว

รวมถึงบั่นทอนสุขภาพจิตของคนในครอบครัวทำให้เป็นโรคซึมเศร้า โรคเครียด หรือเป็นต้นเหตุให้วัยรุ่นซึ่งอยู่ใน Gen Y ตอนปลาย หรือ Gen Z ตอนต้น ติดยาเสพติด หนีออกจากบ้าน มั่วสุมทำพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น

ดังนั้น วิธีรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การรับฟังคนในครอบครัวให้มากขึ้น และพูดบ่น หรือใช้คำพูดทางลบต่อกันให้น้อยลง

3. เปิดใจให้กว้าง ลองมองจากมุมของอีกฝ่าย

วิธีรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่นักจิตวิทยาแนะนำวิธีต่อไป ก็คือ การลองสมมุติว่าตัวเองเป็นอีกฝ่าย แล้วเราจะมีความรู้สึกอย่างไร จะตัดสินใจแตกต่างจากเขาหรือไม่ เช่น หากคุณกำลังรู้สึกว่าถูกรบกวนโดยคุณแม่ Gen Baby Boomers ที่มักใช้ให้เราทำนู้นทำนี้ ประหนึ่งว่าเราลาพักผ่อน ทั้งที่จริงเรากำลังทำงานที่บ้านอยู่ หากมองในมุมของแม่ แม่อยากใช้เวลาอยู่กับเรา อยากให้เราทำกิจกรรมร่วมกับท่าน ฉะนั้น หากเปิดใจให้กว้าง เอาใจเขามาใส่ใจเรา มองในมุมของอีกฝ่ายดูบ้าง เราจะเข้าใจ และรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวได้ดีขึ้น

4. อดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง

เมื่อคนเราหลาย ๆ คนมาอยู่ด้วยกัน เป็นเรื่องปกติที่เราจะมีความเห็นที่แตกต่างในบางเรื่อง ขนาดคนที่เป็น Generation เดียวกัน เป็นแฝดกัน ยังคิดไม่เหมือนกัน แล้วนับประสาอะไรกับคนในครอบครัวที่มีหลากหลาย Generation ดังนั้น เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวเอาไว้ นักจิตวิทยาจึงได้แนะนำว่า ขอให้สงบจิตสงบใจไม่ตอบโต้อีกฝ่ายด้วยคำพูดหรือการกระทำใด ๆ ก็ตามในความคิดเห็นที่เราไม่ถูกใจ และหากเป็นไปได้ การเลือกที่จะไม่สนทนาหรือเปิดประเด็นที่เปราะบางและง่ายต่อการขัดแย้งกันจะดีมาก

5. ห่างกันสักพัก

หากการลดอคติ การรับฟังให้มากขึ้น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา และความอดทนไม่ทำให้ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวดีขึ้น ตัวช่วยต่อไปที่นักจิตวิทยาแนะนำ คือ การห่างกันสักพัก ถึงแม้ว่าเราจะออกจากบ้านไม่ได้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 สามารถหาพื้นที่ที่เป็น Safe Zone ได้เพื่อหลบพายุอารมณ์ของคนในบ้าน หรือเพื่อทำให้ความร้อนของหัวเย็นลง ไม่ว่าจะเป็น ห้องนอน ระเบียงบ้าน สวนหน้าบ้าน ขอแนะนำให้ใช้กิจกรรมช่วยในการแยกเรา   ออกจากคนอื่นเพื่อพักใจ เช่น การดูซีรี่ย์ การเล่นเกม การอ่านหนังสือ สิ่งเหล่านี้ก็สามารถช่วยให้เรามีพื้นที่ว่างให้ตัวเอง

6. คิดถึงความสัมพันธ์ดี ๆ ที่มีให้กัน

มาถึงวิธีสุดท้ายที่จะทำให้ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวดีขึ้น ก็คือ การนึกถึงวันวานยังหวานอยู่ของเรากับคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นวันที่เราป่วยไข้ ที่พ่อ – แม่ มาดูแล วันที่ลูกกอด หอม บอกรักอย่างใสซื่อ วันที่พี่ – น้องให้ความช่วยเหลือเรา อยู่เคียงข้างเราในวันที่ลำบาก และวันที่สามี – ภรรยา พิสูจน์แล้วว่าเป็นคู่ชีวิตที่แท้จริง ไม่ว่าเราจะตกต่ำ หรือเติบโต เขาก็จะอยู่เคียงข้างเราเสมอ สิ่งเตือนใจเหล่านี้ ขอให้คุณระลึกถึงในวันที่เรารู้สึกไม่ดีต่อคนในครอบครัว แล้วจะช่วยให้เราใจเย็นลง มีสติมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ทุกคนก็คือครอบครัว

อ้างอิง: สสส. ,iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว