ผลวิจัยชี้ “เจน Z” กล้าถาม “เงินเดือน” เพื่อนร่วมงาน ต่างจากรุ่นก่อนมองเป็นเรื่องไม่ควร

ผลวิจัยชี้ “เจน Z” กล้าถาม “เงินเดือน” เพื่อนร่วมงาน ต่างจากรุ่นก่อนมองเป็นเรื่องไม่ควร

ผลวิจัยในสหรัฐชี้ คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะชาว “เจน Z” กล้าถาม “เงินเดือน” เพื่อนสนิทและเพื่อนร่วมงาน สะท้อนความกังวลเรื่องรายได้ที่อาจไม่พอต่อค่าใช้จ่าย แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความตระหนักเรื่องความไม่เท่าเทียมของรายได้ระหว่างเพศ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรายได้

ประเด็น เงินเดือน สำหรับคนรุ่นเก่าอาจจะมองว่าการพูดคุยกันเรื่องนี้เป็นการ “เสียมารยาท” ไม่ควรนำมาพูดคุยกัน (ยกเว้นป้าข้างบ้านที่อาจจะมาถามคุณ เพราะอยากจะอวดเงินเดือนลูกตัวเอง) แต่สำหรับ คนเจน Z แล้ว เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปรกติที่สามารถนำมาพูดคุยกันได้ในวงสนทนา

จากการสำรวจครั้งใหม่โดย GOBankingRates สื่อสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคล โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นชาวอเมริกัน 1,000 คน พบว่า 37% ของคนเจน Z หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ที่ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าพวกเขาถามเพื่อนสนิทว่าได้เงินเดือนเท่าไหร่ 

ขณะที่ชาวมิลเลนเนียล หรือผู้ที่มีอายุ 25-34 ปี นั้นถามเรื่องเงินเดือนเพียง 27% ส่วนกลุ่มคนเจน Y ที่มีอายุระหว่าง 35-44 ปี พูดคุยเรื่องเงินเดือนกับเพื่อนสนิทอยู่ 25% และมีเพียง 4% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเท่านั้น ที่นำเรื่องเงินเดือนมาเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนา

“คนรุ่นเก่า ๆ ถูกสอนไม่ให้พูดเรื่องเงิน เพราะถือเป็นเรื่องต้องห้าม แต่คนรุ่นใหม่เปิดกว้างที่จะพูดคุยในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น และไม่ถือสาในการพูดเรื่องเงิน ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายที่พวกเขาต้องจ่าย ไปจนถึงรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือน” อีเลน สวอนน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมารยาทกล่าว

  • คนรุ่นใหม่กังวลเรื่องการใช้เงิน

การเปิดอกพูดคุยกัน เรื่องเงินในหมู่คนรุ่นใหม่ เป็นภาพสะท้อนถึงความกังวลใจอย่างมากที่มีต่อเรื่องเงิน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต จากผลการสำรวจของ Deloitte เครือข่ายผู้ให้บริการคำปรึกษาทางการเงิน พบว่า ชาวมิลเลนเนียลและเจน Z มีความกังวลกับปัญหาค่าครองชีพสูงเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่กว่า 50% ของคนทั้งสองเจนยอมรับว่า พวกเขามีความกังวลที่จะหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย

เมื่อมีเรื่องบางอย่างมารบกวนจิตใจ เราก็ต้องระบายเรื่องเหล่านี้ออกมา สวอนน์กล่าวเสริมว่า “ในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการแชร์เรื่องราวในชีวิตประจำวันของผู้คน แน่นอนว่าในบางครั้งเราก็อยากจะอวดเรื่องราวดี ๆ ในชีวิตให้คนอื่นได้รับรู้ ทั้งวันนี้ไปกินอะไรมา มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง ตอนนี้รู้สึกอย่างไร และในบางครั้ง เราก็แชร์ปัญหาตัวเองลงในโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน ทำให้ขอบเขตของประเด็นที่แชร์เรื่องราว ๆ บนโลกออนไลน์ขยายกว้างขึ้น ซึ่งรวมไปถึงเรื่องเงินด้วย” 

จากการสำรวจของ GOBankingRates ยังพบอีกว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้ถามเรื่องเงินเดือนกับเพื่อนสนิทเท่านั้น แต่ผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในเจน Z กว่า 39% กล่าวว่า พวกเขาเคยถามเงินเดือนของเพื่อนร่วมงานด้วย

ขณะที่ 30% ของคนรุ่นมิลเลนเนียล อายุ 25-34 ปี และ 24% ของคนเจน Y ที่มีอายุระหว่าง 35-44 ปี บอกว่า เคยถามเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับค่าจ้างของพวกเขา แสดงในเห็นว่าสัดส่วนการพูดคุยเรื่องดังกล่าวของคนรุ่นก่อน ๆ นั้นมีน้อยกว่าคนรุ่นหลัง และยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับวัยที่โตกว่านี้ โดยมีเพียง 14% ของคนเจน X หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-54 ปี และ 12% ของกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ หรือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 55-64 ปี เท่านั้นที่ถามเรื่องเงินเดือนกับเพื่อนร่วมงาน

แดนีธา โด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Clever Real Estate แพลตฟอร์มค้นหานายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเจน Z อายุมากขึ้นจะยังเปิดใจพูดเรื่องเงินเดือนอีกหรือไม่ “พอเจน Z อายุมากขึ้นและมีรายได้มากขึ้น ฉันจะสงสัยว่าจำนวนของคนที่ถามเรื่องเงินเดือนจะเป็นอย่างไร และฉันคิดว่าเราไม่น่าเปรียบเทียบคนแต่ละเจนได้ เพราะเงินเดือนต่างกัน”

 

  • การพูดคุยสร้างความเปลี่ยนแปลง

นับตั้งแต่มีการร่าง "กฎหมายเงินเดือนโปร่งใส" (Pay Transparency Law) ของนครนิวยอร์กได้สร้างความตระหนักถึงเรื่องเงินเดือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในสหรัฐ คนรุ่นใหม่พยายามเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าแรงอย่างเป็นธรรมในทุกเพศ เชื้อชาติ และชาติพันธุ์

จากรายงานของสำนักสถิติแรงงานสหรัฐ ระบุว่า ในขณะที่ผู้ชายทำงานประจำได้ 1 ดอลลาร์ ผู้หญิงกลับได้ค่าแรงเพียง 0.82 ดอลลาร์เท่านั้น แต่สำหรับผู้หญิงผิวสีแล้ว ช่องว่างระหว่างค่าจ้างนั้นยิ่งห่างออกไปอีก เพราะผู้หญิงผิวดำได้รายได้เพียง 0.64 ดอลลาร์ ส่วนผู้หญิงเชื้อสายฮิสแปนิกได้รับเพียง 0.57 ดอลลาร์เท่านั้น

สวอนน์ระบุว่า การนิ่งเงียบยิ่งทำให้ช่องว่างรายได้ยังคงอยู่ “เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนต่างเงียบและไม่พูดถึงปัญหาที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ เมื่อนั้นความเหลื่อมล้ำจะเกิดขึ้น เหมือนเช่นในทุกวันนี้”

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสถานการณ์รายได้ของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิงจะเริ่มดีขึ้น เห็นได้จากผลการสำรวจในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ของ Pew Research Center องค์กรสำรวจความเห็นชาวอเมริกันที่ไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจาก สำนักสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐ พบว่า รายได้ของผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีในเมืองใหญ่ 22 เมือง จากทั้งหมด 250 เมืองนั้น มากกว่าหรือเท่ากับผู้ชายในวัยเดียวกัน โดยในนครนิวยอร์ก และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. รายได้ของผู้หญิงนั้นสูงกว่าผู้ชาย 

“ช่องว่างระหว่างรายได้นั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยที่สามารถวัดได้  เช่น ความสำเร็จทางการศึกษา การประกอบอาชีพที่จำกัดเฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง และประสบการณ์การทำงาน เมื่อผู้หญิงสามารถเข้าถึงปัจจัยเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศแคบลงมา” ผลการศึกษาระบุ

อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมระดับประเทศแล้วรายได้ของผู้หญิงส่วนใหญ่ยังคงต่ำกว่าของผู้ชายอยู่ดี และช่องว่างรายได้ของผู้หญิงผิวสี ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงชาวเอเชีย คนผิวดำ และชาวฮิสแปนิก กับผู้ชายกลับกว้างขึ้นกว่าเดิม เพราะพวกเธอมักจะได้งานที่มีค่าแรงต่ำ 

รายงานยังระบุอีกว่า รายได้ของผู้ชายและผู้หญิงนั้นจะใกล้เคียงกันในช่วงปีแรกของการเข้าสู่ตลาดแรงงานเท่านั้น แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ช่องว่างระหว่างรายได้นั้นจะยิ่งห่างมากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วรายได้ในปี 2543 ของผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 16-29 ปี นั้นอยู่ที่ 88% ของรายได้ผู้ชาย แต่เมื่อมาเทียบในอีก 19 ปีให้หลัง พบว่าค่าแรงของผู้หญิงที่มีอายุ 35-48 ปี ขยับมาอยู่ที่ 80% ของรายได้ผู้ชาย

สวอนน์มองว่า การพูดถึงเรื่องรายได้ของคนรุ่นใหม่นั้นช่วงสร้างการเปลี่ยนแปลง “การห้ามพูดเรื่องเงินเดือนเป็นข้อห้ามที่ล้าสมัยไปแล้ว ฉันคิดว่าการพูดคุยเรื่องเงินเดือนกับเพื่อนร่วมงานและในสังคมออนไลน์เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ สามารถช่วยให้คนอื่นกล้าที่จะเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาควรได้รับ” 

เช่นเดียวกับโดที่กล่าวว่า “คนเจน Z กล้าพูดในเรื่องที่คนเจนอื่นไม่กล้า โดยเฉพาะเรื่องความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ เพราะพวกเขาเข้าใจดีว่าความเสมอภาคทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความสงบสุขของสังคม”