"PrEP" vs "PEP" ยาป้องกัน HIV ใช้ต่างกันอย่างไร?

"PrEP" vs "PEP" ยาป้องกัน HIV ใช้ต่างกันอย่างไร?

ทำความรู้จัก “PrEP” และ “PEP” ยาป้องกันการติดเชื้อ HIV ที่มีชื่อคล้ายกัน แต่ทำหน้าที่ป้องกันแตกต่างกัน ใช้ในกรณีที่แตกต่างกัน และมีความสำคัญอย่างมากสำหรับคนที่มีผลเลือดลบหรือผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ รวมถึงเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะติดต่อขอรับยาได้ที่ใด

ปัจจุบัน สถานการณ์ของการติดเชื้อ “เอชไอวี” (HIV) และ “โรคเอดส์” (AIDS) ไม่น่ากลัวเหมือนกับในยุคก่อนที่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้และไม่มีวิธีการป้องกัน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับโรคและอาการของผู้ติดเชื้อ เพราะด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าส่งผลให้สามารถหาวิธีการยับยั้งไม่ให้เชื้อ HIV ลุกลาม และป้องกันไม่ให้ส่งต่อการติดเชื้อไปยังผู้อื่นได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคมได้อย่างปรกติ คนในสังคมมีความรู้มากขึ้น จนแทบไม่เหลือการตีตราทางสังคมอีกต่อไป

สำหรับวิธีการป้องกันการติดเชื้อ HIV ที่มีประสิทธิภาพนอกจากการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์และไม่ใช่เข็มฉีดยา มีดโกนร่วมกับผู้อื่นแล้ว ยังมีอีกทางเลือกที่ได้ผลอย่างมากและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย นั่นคือ “วิธีการรักษาด้วยการรับยาต้าน” (Antiretroviral Therapy) หรือที่เรามักจะคุ้นหูกันว่า “ยาต้าน” ซึ่งมีด้วยกัน 2 ชนิดคือ “PrEP” และ “PEP” ด้วยชื่อที่มีความใกล้เคียงกันทำให้หลายคนอาจเกิดความสับสนและเข้าใจว่ามันคือยาชนิดเดียวกัน ความจริงแล้วยาทั้ง 2 ชนิดนี้ แม้ว่าจะทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อเหมือนกัน แต่ใช้ในกรณีที่แตกต่างกัน

จากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (คลีนิคนิรนาม) หน่วยงานให้บริการให้คำปรึกษา แนะนำ และตรวจหาเชื้อ HIV โดยสมัครใจแก่ประชาชนทั่วไปและผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง ได้ระบุว่าทั้งยา PrEP และ PEP นั้นเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อ HIV ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้สูงสุดถึง 99% หากมีการใช้อย่างถูกวิธี ซึ่งยาทั้ง 2 ประเภท มีข้อแตกต่างกันดังนี้

  • PrEP หรือ เพร็พ

PrEP หรือ เพร็พ ย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis เป็นยาใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสโรค (มีเพศสัมพันธ์) โดยต้องรับประทานยาเป็นประจำครั้งละ 1 เม็ด และต้องรับประทานในเวลาเดียวกันในทุก ๆ วัน โดยสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้เกือบ 100%

ทั้งนี้ PrEP ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ จึงยังจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ โดยยาชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูง ได้แก่ 

ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ ผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา และ ผู้ที่มาขอรับยา Post-Exposure Prophylaxis (PEP) อยู่เป็นประจำโดยไม่สามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงลงได้

สำหรับผู้ที่ต้องการรับยา PrEP จะต้องงดมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับยา และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ HIV การทำงานของตับและไต และจะนัดตรวจเลือด 1 เดือน หลังจากที่ได้รับยา PrEP จากนั้นนัดตรวจเลือดทุก 3 เดือน ทั้งนี้หากผู้รับยามีความประสงค์ต้องการหยุดยา จะต้องมาตรวจเลือดก่อนหยุดยา PrEP ทุกครั้ง

  • PEP หรือ เป๊ป

PEP หรือ เป๊ป ย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาป้องกันการติดเชื้อ HIV ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งต้องรับประทานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หลังสัมผัสความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ รับประทานติดต่อกันนาน 28 วัน ในเวลาเดียวกันของทุกวัน โดยจะมียาทั้งสิ้น 2 เม็ด

ข้อสำคัญของยา PEP ซึ่งเป็น “ยาต้านฉุกเฉิน” นั้นมีไว้สำหรับผู้ที่คาดว่ามีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยจะใช้ในกรณี เช่น มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่อาจจะมีเชื้อเอชไอวีและไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย หรือสวมถุงยางอนามัยแต่หลุดหรือฉีกขาด (ถุงแตก) มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น รวมไปถึงผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ทั้งนี้ PEP สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้กว่า 80% ซึ่งหากเริ่มรับประทานยาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากสงสัยว่ามีการสัมผัสเชื้อ ยาจะยิ่งมีประสิทธิภาพ 

ก่อนที่ผู้รับบริการจะรับยา PEP แพทย์จะซักประวัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และประเมินว่าจำเป็นต้องรับยาหรือไม่ แต่หากความเสี่ยงไม่สูงมากจะให้ผู้เข้ารับบริการเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับยาหรือไม่ โดยแพทย์จะสั่งตรวจหาเชื้อ HIV ตรวจไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับและไตก่อนรับยา เมื่อรับประทานยาครบ 28 วันแล้ว จะนัดตรวจ HIV ซ้ำ 1 เดือน และ 3 เดือน โดยในระหว่างนี้จะต้องงดบริจาคเลือด และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

ปัจจุบัน ผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านไวรัส HIV นั้นมีน้อยกว่าเดิมมาก มีไม่ถึง 10% เท่านั้นที่อาจจะมีอาการท้องเสีย อาเจียน หรือเวียนหัว แต่หากติดเชื้อ HIV อยู่ก่อนแล้ว จะไม่สามารถใช้ยา PEP ได้

 

  • ขอรับยาได้ที่ไหนบ้าง

การรับยาต้านสามารถเข้ารับบริการได้ตามสถานบริการของรัฐ เอกชน หรือคลินิกเฉพาะทางที่มีแพทย์ประจำ เนื่องจากการรับยาต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ และจำเป็นจะต้องมีการตรวจเลือดทุกครั้งที่รับยา โดยสถานที่เป็นที่รู้จักในการรับยาต้าน PrEP และ PEP ได้แก่

 

ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (คลีนิคนิรนาม)

เลขที่ 104 ถนนราชดำริ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

โทรศัพท์: 02 251 6711-5

เวลาให้บริการ: วันจันทร์–วันศุกร์ เวลา 07.30–16.30 น. (คลินิกในเวลา) วันพุธและวันศุกร์ เวลา 16.30–20.00 น. และ วันเสาร์ เวลา 08.30–12.00 น. (คลินิกนอกเวลา)

 

บ้านสุขภาพสวิง กรุงเทพฯ

อาคารเลขที่ 3 ชั้น 5 ซอยพัฒน์พงศ์ซอย1 ถนนสุรวงค์ เขตบางรัก กรุงเทพ 10500

โทรศัพท์: 02-632-9501

เวลาให้บริการ: วันจันทร์ – เสาร์ เวลา 11.00 – 18.00 น.

 

PULSE CLINIC SILOM

60/4 ถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพ 10500

โทรศัพท์: 02 251 6711-5

เวลาให้บริการ: ทุกวัน 09.30 - 22.30 น.

(มีอีกหลายสาขาทั่วกรุงเทพ และในหัวเมืองใหญ่ คือ ชลบุรี ภูเก็ต และสงขลา เช็กรายละเอียดและทำการนัดพบได้ที่นี่

 

นอกจากนี้ยังสามารถค้นหาสถานที่ให้คำปรึกษา ตรวจหาเชื้อ HIV รับยาต้าน ตลอดจนเข้ารับการรักษาได้ ทั่วประเทศได้จาก HIV TEST MAP

 

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า HIV สามารถป้องกันได้ และเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ควรรีบไปยังสถานพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อ HIV และรับยา PEP ให้เร็วที่สุด ก็มีโอกาสไม่ติดเชื้อได้มาก อย่ากังวลว่าจะเป็นเรื่องน่าอาย เพราะคลินิกเหล่านี้จะเก็บข้อมูลคนไข้ไว้เป็นความลับ 

ทั้งนี้ หากติดเชื้อ HIV แต่หากเข้ารับการรักษาและรักษาสุขภาพ ก็สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ยืนยาว แต่ทางที่ดีหากมีเพศสัมพันธ์ ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันทั้ง HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ