การกระจุกตัวของงานวิจัย: ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำ?

การกระจุกตัวของงานวิจัย: ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำ?

ความเหลื่อมล้ำดูเหมือนจะเป็นลักษณะทางโครงสร้างของประเทศไทยไปแล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นรายได้ ทรัพย์สิน การเข้าถึงการศึกษา การบริการของรัฐ ก็ล้วนมีความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน เราลองมาดูว่า ในด้านการวิจัยที่รัฐลงทุนอย่างมหาศาลมีการกระจายตัวอย่างไรบ้าง

แผนงานคนไทย 4.0 https://www.khonthai4-0.net/ สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบหมายให้ผู้เขียนศึกษาวิจัยการวิเคราะห์ประโยชน์ของงานวิจัยใช้ข้อมูลเฉพาะงานวิจัยจากระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) ระหว่าง พ.ศ. 2553-2564

ครอบคลุมงานวิจัยเฉพาะสาขาการศึกษา การเกษตร และอาหาร การใช้ประโยชน์จากการวิจัยแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ประโยชน์ด้านวิชาการ ด้านสังคมและชุมชน ด้านเศรษฐกิจ พาณิชย์ อุตสาหกรรม และด้านนโยบาย 

ข้อมูลที่นำมาใช้ในการศึกษาเป็นงานวิจัย 20,992 โครงการ งานวิจัยส่วนใหญ่จำนวน 16,128 โครงการ ถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านวิชาการเป็นหลัก (ร้อยละ 76.8) รองลงมาเป็นการใช้ประโยชน์ด้านสังคมและชุมชน การใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ-พาณิชย์-อุตสาหกรรม และการใช้ประโยชน์ด้านนโยบาย 

การกระจุกตัวของงานวิจัย: ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำ?

การใช้ประโยชน์ด้านสังคมและชุมชนของงานวิจัยทั้ง 3 สาขา มีสัดส่วนใกล้เคียงกันงานวิจัยสาขาอาหารถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ-พาณิชย์-อุตสาหกรรม สูงกว่างานวิจัยสาขาการศึกษาและเกษตร งานวิจัยสาขาการศึกษาถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์เชิงนโยบายต่ำกว่าอีกสองสาขาเพราะมุ่งเน้นไปในด้านการเรียนการสอนในโรงเรียนเป็นหลัก

การกระจุกตัวของงานวิจัย 

การกระจุกตัวของงานวิจัยในเชิงพื้นที่จะเน้นงานวิจัยในระดับจังหวัดเป็นหลัก การศึกษาการกระจุกตัวของงานวิจัยใช้ข้อมูลทั้งงานวิจัย วิทยานิพนธ์ และวารสาร จำนวนข้อมูลมีทั้งสิ้น 91,990 รายการ ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นวิทยานิพนธ์ 43,551 รายการ (ร้อยละ 47.3)

รองลงมาเป็นบทความทางวิชาการ และงานวิจัย เมื่อจำแนกข้อมูลตามสาขา ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยในสาขาการศึกษาจำนวน 56,1000 รายการ (ร้อยละ 61.0) รองลงมาเป็นสาขาการเกษตร และสาขาอาหาร

การกระจุกตัวของงานวิจัยในเชิงพื้นที่สาขาการศึกษาใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 36,988 รายการ การกระจายตัวของงานวิจัยอยู่ทั่วประเทศโดยเฉพาะเป็นการวิจัยจากกลุ่มโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา

งานวิจัยมีการกระจุกตัวเชิงพื้นที่มากที่สุดอยู่ที่กรุงเทพมหานคร รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี สกลนคร อุดรธานี มหาสารคาม เป็นต้น คืออยู่ในจังหวัดที่มีสถาบันศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่มาก 

การกระจุกตัวของงานวิจัยในเชิงพื้นที่สาขาการเกษตรใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร 16,077  รายการ งานวิจัยสาขาการเกษตรส่วนใหญ่จะไม่ระบุพื้นที่เพราะเป็นการวิจัยที่เป็นภารกิจงานหลักของหน่วยงาน  

พบว่า งานวิจัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด รองลงมาเป็นนครราชสีมา พะเยา เชียงราย นครศรีธรรมราช กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ และกรุงเทพมหานคร การกระจุกตัวของงานวิจัยในเชิงพื้นที่สาขาอาหารใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอาหาร 3,843 รายการ 

การกระจุกตัวของงานวิจัยมีลักษณะเช่นเดียวกับสาขาเกษตรคือ ไม่ระบุพื้นที่การทำวิจัย ส่วนใหญ่เป็นการทำวิจัยในภาพรวม หรือเป็นการทดลองที่ไม่ต้องมีสถานที่ หรือกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคคล

แต่เมื่อตัดข้อมูลที่ไม่ระบุออกพบว่างานวิจัยกระจุกตัวที่กรุงเทพมหานครมากที่สุด รองลงมาเป็นจังหวัดเชียงใหม่ ปทุมธานี สมุทรสาคร ชลบุรี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ พิษณุโลก นครราชสีมา เป็นต้น

การกระจุกตัวของงานวิจัย: ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำ?

ภาพที่ 1 การกระจุกตัวของงานวิจัยด้านการศึกษา (ไม่รวมโรงเรียนที่ไม่ระบุที่ตั้ง) พ.ศ. 2553-2564

การกระจุกตัวของงานวิจัย: ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำ?

ภาพที่ 2 การกระจุกตัวของงานวิจัยด้านการเกษตร (ไม่รวมงานวิจัยที่ไม่ระบุที่ตั้ง) พ.ศ. 2553-2564

การกระจุกตัวของงานวิจัย: ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำ?

ภาพที่ 3 การกระจุกตัวของงานวิจัยด้านอาหาร (ไม่รวมงานวิจัยที่ไม่ระบุที่ตั้ง) พ.ศ. 2553-2564

ผลการศึกษาสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำด้านงานวิจัย อย่างไรก็ดี ควรมีการศึกษาการจัดการความรู้ในรายละเอียดว่า การศึกษาที่เจาะจงพื้นที่เหล่านี้จะสามารถประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้มากเพียงใด   

ดังนั้น จึงดูเหมือนว่าความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างของไทยจะลงลึกไปถึงระบบวิจัยและนวัตกรรมตามโครงสร้างสถาบันการศึกษา จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าปัจจุบันรัฐบาลได้หันหางเสือเรือวิจัยให้มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ของประชาชนในชนบทนอกเมืองหลักมากขึ้น