ปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง ต้องเช็กให้ดี อาจเสี่ยง "ซึมเศร้าซ่อนเร้น"

ปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง ต้องเช็กให้ดี อาจเสี่ยง "ซึมเศร้าซ่อนเร้น"

หลายคนอาจเข้าใจว่า “โรคซึมเศร้า” ส่งผลแค่เพียงด้านจิตใจและอารมณ์เท่านั้น แต่ความจริงแล้วอาการเจ็บป่วยทางกายก็สามารถบ่งบอกได้ว่ากำลังเข้าข่ายภาวะ “ซึมเศร้าซ่อนเร้น” ได้เช่นกัน

เมื่อกล่าวถึง “โรคซึมเศร้า” แน่นอนว่าหลายคนจะมองไปถึงปัญหาทางด้านสุขภาพจิตเป็นหลัก เช่น อารมณ์แปรปรวน มีความรู้สึกเศร้าโดยไม่มีสาเหตุ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลโดยตรงกับอารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วย แต่สำหรับใครที่ไม่ได้มีอาการเหล่านี้ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เนื่องจากมีกลุ่มอาการอื่นๆ อาจบ่งชี้ถึงภาวะซึมเศร้าได้ เช่น หากมีอาการปวดหัว ปวดท้อง ปวดหลัง เจ็บหน้าอกบ่อย และ นอนไม่หลับ เหล่านี้ก็ถือเป็นกลุ่มอาการเจ็บป่วยทางกายที่เป็นผลมาจาก “ซึมเศร้าซ่อนเร้น”

อาการซึมเศร้าซ่อนเร้น (Masked Depression) จะไม่พบอาการที่เกี่ยวเนื่องกับความซึมเศร้าอย่างชัดเจน สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง แม้ว่าดูจากภายนอกเหมือนจะไม่ได้มีปัญหาทางสุขภาพจิต แต่ความจริงแล้วอาจมีความวิตกกังวล หรือ ความเครียด โดยไม่รู้ตัว แต่สิ่งที่แสดงออกชัดเจนที่สุดคือ อาการเจ็บป่วยทางกายซึ่งเกิดขึ้นบ่อยโดยไม่มีสาเหตุ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง เจ็บหน้าอก หายใจไม่ทั่วท้อง คลื่นไส้ ปั่นป่วนในท้อง มีหลายคนไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ แต่กลับไม่พบความผิดปกติใดๆ  

นอกจากนี้บางคนอาจมีความผิดปกติทางพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมแบบ Perfectionist คือ ย้ำคิดย้ำทำหมกมุ่นกับความสมบูรณ์แบบ เพราะในระดับจิตใต้สำนึกของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นจะมีความรู้สึกไม่มั่นใจในคุณค่าของตัวเอง จึงพยายามทุ่มเท และทำให้สมบูรณ์แบบที่สุดตามมาตรฐานเพื่อป็นที่ยอมรับของผู้อื่น และถ้างานไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง จะรู้สึกผิดหวังรุนแรง หรืออาจมีพฤติกรรม Workaholic ที่ทุ่มเทกับงานอย่างหนัก กดดันตัวเองอย่างหนัก ไม่ยอมพักผ่อน ทำให้เครียดสะสมหรือนอนไม่หลับ จนต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ยานอนหลับ หรือสารเสพติด

“โรคซึมเศร้าซ่อนเร้น” คำนี้ถูกใช้อย่างมากในปี 1970 และ 1980 ซึ่งใช้อธิบายถึงผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงที่มีอาการทางกายมากกว่าอาการทางจิต หากใครที่สงสัยว่าตนเองเข้าข่ายหรือไม่นั้น สามารถตรวจสอบอาการและพฤติกรรมได้ ดังนี้

  • อาการทางร่างกาย

- ปวดหลัง

- ปวดกล้ามเนื้อ

- ปวดข้อ

- ปวดหัว

- หัวใจเต้นเร็วหรือใจสั่น

- เหนื่อยล้า

- ปวดท้องหรือปัญหาทางเดินอาหาร

  • อาการทางจิตใจและอารมณ์

ส่วนใหญ่จะพบเพียงเล็กน้อยหรือไม่พบเลย ส่วนใหญ่จะเป็นในด้านความรู้สึกที่รบกวนความสุขประจำวัน เช่น  หงุดหงิด รู้สึกไร้ค่า วิตกกังวล เป็นต้น

  • อาการด้านพฤติกรรมและความคิด

1. มีปัญหาด้านสมาธิ จดจ่อกับอะไรเป็นเวลานานไม่ได้

2. เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

3. พลังงานน้อย

4. ถอนตัวออกจากสังคม (Social Withdrawal) ชอบอยู่แต่ที่บ้าน ไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับสังคม ไม่เข้าสังคม ในเด็กจะไม่อยากไปโรงเรียน ส่วนผู้ใหญ่อาจจะไม่อยากไปทำงาน ซึ่งเป็นระยะเวลานานมากกว่า 6 เดือน

5. การเป็น Perfectionist ย้ำคิดย้ำทำ ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ

  • เหตุใดความเศร้าจึงเชื่อมโยงกับร่างกาย

อาการซึมเศร้า นั้นอาจทำให้เกิดอาการทางร่างกาย และพฤติกรรม นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ นอกจากนี้ 2 ใน 3 ของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ามีอาการเจ็บปวดทางกายเป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากพื้นที่ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์และความเจ็บปวดทางร่างกาย ถูกรบกวนด้วยภาวะซึมเศร้า และอาการซึมเศร้ายังเชื่อมโยงกับการผลิตสารเคมีที่เรียกว่า “ไซโตไคน์” ส่งผลให้เกิดการอักเสบและเจ็บปวดได้คล้าย กับการที่ภาวะซึมเศร้าและการนอนหลับก็เชื่อมโยงกัน อาการซึมเศร้าทำให้นอนหลับไม่สนิท และที่สำคัญการอดนอนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

  • ส่องวิธีรักษาภาวะ “ซึมเศร้าซ่อนเร้น” ให้ถูกต้อง

เนื่องจากผู้ป่วยซึมเศร้าซ่อนเร้น มักจะปกปิดอาการและความรู้สึกของตัวเอง และมักมองการรักษาอาการเจ็บป่วยทางกายมากกว่า การรักษาจึงทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากจิตแพทย์ต้องพยายามทำให้ผู้ป่วยยอมรับอาการป่วยทางจิตของตนเองก่อนเริ่มรักษา หลังจากนั้นจึงทำการวินิจฉัยว่าควรรักษาอย่างไรให้เหมาะสมและไม่มีขั้นตอนตายตัวเหมือนโรคซึมเศร้าทั่วไป จิตแพทย์อาจให้ความรู้ ความเข้าใจ ทำจิตบำบัด ใช้ศิลปะบำบัด และช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจตัวเอง ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต ในบางรายแพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้อาการซึมเศร้าหรือตัวอย่าอื่นๆ ตามความเหมาะสม

แม้ว่าภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นอาจจะไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้รวดเร็วเหมือนกับโรคซึมเศร้าทั่วไป แต่ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพและร่างกายได้อย่างต่อเนื่องหากไม่รีบเข้ารับการรักษา สำหรับวัยทำงานที่อาจเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าว ควรหมั่นสังเกตอาการของตนเอง รวมถึงควรสังเกตความผิดปกติของคนรอบข้างด้วย หากพบว่าคนใกล้ตัวมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังโดยไม่มีสาเหตุอาจจะต้องพูดคุยเพื่อให้เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้าซ่อนเร้นเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียที่หนักขึ้นตามมาในอนาคต

อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลมนารมย์ และ Alljit