"หมอธีระ" ย้ำข้อควรปฏิบัติ หากป่วย สงสัยติดโควิด-19 ต้อง "ตรวจ ATK" ซ้ำทุกวัน

"หมอธีระ" ย้ำข้อควรปฏิบัติ หากป่วย สงสัยติดโควิด-19 ต้อง "ตรวจ ATK" ซ้ำทุกวัน

"หมอธีระ" ย้ำข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับ ATK หากมีอาการป่วย สงสัยติดโควิด-19 แต่ "ตรวจ ATK" ครั้งแรกได้ผลลบ ให้ตรวจซ้ำทุกวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 วัน เพราะการตรวจ ATK อาจให้ผลลบปลอมได้พอสมควร ชี้ไทยตอนนี้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากชัดเจน

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า 

ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับ ATK

ย้ำอีกครั้ง "หากสัมผัสความเสี่ยงมา" ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม หลังจากสัมผัสความเสี่ยงมาเป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์

"ตรวจ ATK" หากได้ผลลบครั้งแรก ให้ตรวจซ้ำวันเว้นวัน รวม 3 ครั้ง (วันที่ 1, 3, และ 5)

แต่หากตรวจพบว่าเป็นผลบวก มักแปลได้ว่าติดเชื้อ (โอกาสเกิดผลบวกปลอมน้อย) และควรเข้าสู่กระบวนการตรวจรักษาตามมาตรฐาน แยกตัวจากผู้อื่นอย่างน้อย 7-10 วัน จนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK แล้วได้ผลลบ จึงจะกลับมาใช้ชีวิตประจำวันโดยต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากเสมอ ไม่แชร์ของกินของใช้ ไม่คลุกคลีใกล้ชิด และไม่กินดื่มกับผู้อื่น

เมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อแล้ว ควรเลี่ยงการใช้ยา สมุนไพร อาหารเสริม และอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานการรักษาโควิดระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าพยาธิ ยาจิตเวช พืชผักสมุนไพรต่างๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ หรือได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลในการรักษาโรคโควิด-19

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

"หากมีอาการป่วย ไม่สบาย สงสัยว่าจะเป็นโควิด-19"

ควรตรวจด้วย ATK หากได้ผลบวก ก็แปลว่าติดเชื้อ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น เพื่อให้สามารถได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง และได้รับยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ตามที่กำหนด และตามมาตรฐานสากล

แต่หากมีอาการป่วย แต่ "ตรวจ ATK" ครั้งแรกได้ผลลบ ให้ตรวจซ้ำทุกวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 วัน เพราะการตรวจ ATK อาจให้ผลลบปลอมได้พอสมควร (ติดเชื้อแต่ตรวจได้ผลลบ)

ระหว่างที่มีอาการผิดปกติ แต่ตรวจแล้วไม่ติดเชื้อโควิดนั้น นอกจากกินยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ ก็ควรปฏิบัติป้องกันตัวเคร่งครัด แยกจากคนอื่น ใส่หน้ากากเสมอ แม้ยามที่อยู่ในบ้านที่อยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวด้วย

...การป้องกันตัวสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงในชีวิตประจำวัน รับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด และการใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างตะลอนทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยวนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

จะได้ไม่ต้องคอยลุ้น ยามสัมผัสความเสี่ยงมา หรือยามที่ป่วยมีอาการ

"หมอธีระ" เปิดเผยถึงประเด็น "โควิด-19" อีกว่า เมื่อวาน (16 พ.ย.65) ทั่วโลกติดเพิ่ม 287,916 คน ตายเพิ่ม 647 คน รวมแล้วติดไป 641,288,543 คน เสียชีวิตรวม 6,618,821 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ

  1. ญี่ปุ่น
  2. เกาหลีใต้
  3. ฝรั่งเศส
  4. ไต้หวัน
  5. อินโดนีเซีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.98 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 86.24

อัพเดตจาก WHO

องค์การอนามัยโลกออกรายงานล่าสุด WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อคืนนี้ 16 พฤศจิกายน 2565

ปัจจุบันไวรัสสายพันธุ์ Omicron ครองการระบาดทั่วโลก 99.2% ทั้งนี้หากวิเคราะห์สายพันธุ์ย่อยหลัก จะพบว่า BA.5 มีสัดส่วน 73.2%, BA.2 เหลือ 6.3%, BA.4 ลดลงเหลือ 3.5% และสายพันธุ์ย่อยอื่นที่ยังไม่ได้ระบุ 14.4%

สำหรับสายพันธุ์ย่อยที่เป็นที่จับตามองเพราะเกิดจากการกลายพันธุ์ต่อยอดจากกลุ่ม BA.5 และ BA.2 นั้น พบว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

  • BQ.1.x เพิ่มเป็น 16.2%
  • BA.5 ที่กลายพันธุ์เพิ่มหลายตำแหน่ง (R346X, K444X, V445X, N450D and/or N460X) เพิ่มเป็น 23.3% โดยกว่า 80% ของกลุ่มนี้ เป็น BA.5 ที่มีการกลายพันธุ์ตำแหน่ง R346X
  • BA.2.75 เพิ่มเป็น 5.4%
  • XBB เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 2%

 

สายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มีแนวโน้มใช้กลไกคล้ายเดลต้ามากขึ้น

งานวิจัยของ Aggrawal A และคณะจากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ในวารสารการแพทย์สากล eBioMedicine เดือนตุลาคม 2565

ชี้ให้เห็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงของไวรัส Omicron สายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ที่กลายพันธุ์ต่อยอดจาก BA.5 ซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันว่า มีแนวโน้มย้อนกลับไปใช้กลไกการจับเซลล์ผ่านตัวรับ TMPRSS2 คล้ายกับสายพันธุ์เดลต้ามากขึ้น

ทั้งนี้เราทราบกันดีว่า กลไกนี้จะทำให้จับกับเซลล์ทางเดินหายใจส่วนล่างได้มากขึ้น จึงอาจทำให้ผู้ที่ติดเชื้อเกิดปัญหาการป่วยรุนแรงได้มากกว่า Omicron สายพันธุ์ก่อนๆ เช่น BA.1, BA.2, BA.4 และแม้แต่ BA.5 เอง ซึ่งเคยได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่าใช้กลไกอื่นในการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์คือ endocytosis

สำหรับไทยเรา ตอนนี้การติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากชัดเจน

จำเป็นต้องตระหนักถึงสถานการณ์ อัพเดตความรู้ที่ถูกต้องและทันต่อเวลาใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง แออัด ระบายอากาศไม่ดี

หมั่นสังเกตอาการตนเองและคนรอบข้างที่พบปะ หากไม่สบาย ไอ เจ็บคอ ไข้ ปวดหัวปวดกล้ามเนื้อ คัดจมูก เสียงเปลี่ยน/เสียงแหบ ให้คิดถึงโควิด-19 ไว้ด้วยเสมอ และควรทำการตรวจรักษา ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างตะลอนทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยว จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

ติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID

"หมอธีระ" ย้ำข้อควรปฏิบัติ หากป่วย สงสัยติดโควิด-19 ต้อง "ตรวจ ATK" ซ้ำทุกวัน

อ้างอิง

Aggrawal A et al. SARS-CoV-2 Omicron BA.5: Evolving tropism and evasion of potent humoral responses and resistance to clinical immunotherapeutics relative to viral variants of concern. eBioMedicine. October 2022.