ส่องไอเดีย “เปลี่ยนวันลาเป็นเงิน” ส่งผลดีต่อนายจ้าง-ลูกจ้างอย่างไร

ส่องไอเดีย “เปลี่ยนวันลาเป็นเงิน” ส่งผลดีต่อนายจ้าง-ลูกจ้างอย่างไร

รู้จักแนวคิด “เปลี่ยนวันลาเป็นเงิน” หรือที่เรียกว่า “PTO” (Paid Time Off) ซึ่งสตาร์ทอัพหลายแห่งในสหรัฐกำลังจูงใจให้พนักงานใช้วิธีนี้แทนการลางานแบบเดิม แม้ดูเหมือนลูกจ้างจะได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว แต่ความเป็นจริง นายจ้างหรือบริษัทก็ได้ประโยชน์เช่นกัน 

เป็นที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของคนทั้งโลก โดยเฉพาะในสหรัฐเกิดปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) ในปี 2564 ซึ่งมีแรงงานสมัครใจลาออกกว่า 47 ล้านคน ส่งผลให้หาแรงงานมาทำงานได้ยากขึ้น จนเกิดความต้องการจ้างงานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ 

ขณะเดียวกัน พนักงานที่เหลืออยู่ก็ต้องทำงานอย่างหนักแทนที่ตำแหน่งที่ว่างลง และเพื่อจูงใจไม่ให้พนักงานใช้วันลา บริษัทหลายแห่งจึงหันมาใช้มาตรการ “PTO” (Paid Time Off) ซึ่งให้พนักงานนำวันลาที่ไม่ได้ใช้มาเปลี่ยนเป็นเงินได้ อีกทั้งยังเป็นการตอบแทนที่พนักงานทำงานอย่างเต็มที่อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่พนักงานทุกคนที่อยากจะเข้าร่วม PTO เพราะบริษัทส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมให้พนักงานแลกวันลาทั้งหมดที่มีเป็นเงิน อีกทั้งจำนวนวันลาขั้นต่ำของพนักงานก็ไม่ได้มีมากอยู่แล้ว ทำให้แรงงานไม่ได้มองว่าเงินที่ได้นั้นคุ้มค่ากับการแลกวันลา

“จุดประสงค์ของการมีวันลาพักร้อนไม่ได้มีไว้เพื่อแลกเป็นเงิน แต่มีไว้เพื่อให้พนักงานได้ใช้เยียวยาและผ่อนคลายหลังจากการทำงานหนักมาเป็นเวลานาน” จอช เบอร์ซิน นักวิเคราะห์ที่ติดตามเทคโนโลยีฝ่ายทรัพยากรบุคคล กล่าวกับสำนักข่าว The Wired

แท้จริงแล้ว แนวคิดของ PTO นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด และเกิดขึ้นจากการที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้วันลาตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 

ตามรายงานของสมาคมการท่องเที่ยวแห่งสหรัฐ ระบุว่า ในปี 2561 แรงงานในสหรัฐมากกว่าครึ่งไม่ได้ใช้วันลา รวมแล้วมีวันลาที่ไม่ได้ใช้กว่า 768 ล้านวัน ถ้าหากนำมาแลกเป็นเงินจะได้เป็นเงินกว่า 66,000 ล้านดอลลาร์

PTO อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะเป็นการจูงใจให้ใช้วันลาน้อยลง แต่อย่างน้อยที่สุดก็สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่พนักงานได้ แรงงานส่วนมากกลับไม่ได้รับเงินชดเชยเต็มจำนวน เช่น PTO Exchange แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้แลกเปลี่ยน PTO คิดค่าธรรมเนียม 7.5% ในทุก ๆ การทำธุรกรรม เป็นแหล่งรายได้ของบริษัทและหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสำหรับนายจ้างและคนงาน นอกจากนี้ นายจ้างบางรายเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม และบางครั้งอาจจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำ

 

  • PTO กำลังเติบโตในสหรัฐ

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้มีสตาร์ทอัพที่ให้บริการแลกเปลี่ยน PTO เกิดขึ้นจำนวนมาก

Sorbet โปรแกรมที่เชื่อมต่อกับข้อมูลของ HR เพื่อคำนวณการใช้ PTO ของพนักงานเปิดตัวในปี 2563 โดยหลักการทำงานของโปรแกรมนี้จะใช้การพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น พฤติกรรมที่ผ่านมา และจำนวนงานของพนักงานแต่ละคนในแต่ละช่วงเวลา อีกทั้งมีบริการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่นายจ้างสำหรับการจ่ายเงิน PTO ให้แก่พนักงานอีกด้วย

ในปีเดียวกันนั้น PTO Genius สตาร์ทอัพอีกหนึ่งรายเปิดตัวโดยใช้ระบบอัลกอริทึมในการคาดการณ์ว่าพนักงานคนใดมีภาวะเสี่ยงที่จะหมดไฟในการทำงาน โปรแกรมพิจารณาจากจำนวนชั่วโมงการทำงานและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งระบบจะเตือนให้พนักงานใช้วันลาหรือแลกเป็นเงินได้

ขณะที่ ร็อบ วาเลน ผู้ร่วมก่อตั้ง PTO Exchange ที่ดำเนินธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว เปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ใช้บริการธุรกิจของเขากว่า 60 แห่ง และดูแลพนักงานกว่า 200,000 คน

  • ข้อดีของ PTO

พนักงานรายหนึ่งของหน่วยงานรัฐในฟลอริดาที่ไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่า ในแต่ละปี เขาสามารถเบิกจ่าย PTO ได้มากถึง 35 ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของวันลาพักร้อนและลาป่วยรวมกัน แม้ว่าเขาจะไม่ค่อยได้ใช้วันลา แต่เขาเห็นว่า PTO เป็นโครงการที่ดี และเป็นสิ่งยืนยันว่าพวกเขามีสิทธิ์ที่จะหยุดงาน สมควรได้รับอะไรตอบแทนเมื่อไม่ได้ใช้วันลาตามที่กำหนด

ลอนนี โกลเดน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลวาเนีย ศึกษาเรื่องการทำงานมากเกินไปและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่เหล่าสตาร์ทอัพหันมาใช้ PTO กันมากขึ้น เพราะสหรัฐเป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่มประเทศร่ำรวย ที่ไม่มีการจ่ายค่าจ้างเมื่อพนักงานลางาน โดย 1 ใน 4 ของแรงงานสหรัฐซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำไม่ได้รับ PTO เลย

นอกจากนี้ PTO ยังสามารถเปลี่ยนจากเงินสดเป็นอย่างอื่นได้อีกด้วย โดยแปลงผ่านระบบซอฟต์แวร์ของผู้ให้บริการ เพื่อให้พนักงานสามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นเงินสด หรืออย่างอื่น เช่น เงินออมเพื่อการเกษียณ ชำระเงินกู้นักเรียน การบริจาคเพื่อการกุศล ค่าเดินทาง 

ถึงกระนั้น เงินสดยังคงเป็นสิ่งที่พนักงานเลือกที่จะแลกมากที่สุด วีตาห์ล ไอลัต-ไรเชล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Sorbet กล่าวว่า “พนักงานส่วนใหญ่แลก PTO เพื่อนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน หรือ ค่าอาหาร”

เมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีผันผวนมากขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ วิกฤติค่าครองชีพ สงครามยูเครน-รัสเซีย และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด หลายบริษัทต้องปลดพนักงานเพิ่มอีกระลอก ทำให้ PTO บางส่วนไม่ได้ถูกใช้ ไอลัต-ไรเชล มองว่า โปรแกรมการถอนเงินเป็นวิธีที่นายจ้างใช้คาดการณ์งบดุลของบริษัทได้

ขณะที่เบอร์ซิน ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้นายจ้างให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของงานมากขึ้น เขาจึงแนะนำให้พนักงานใช้วันลาทั้งหมด เพราะคนที่พักผ่อนเต็มที่จะสามารถทำงานได้ดีขึ้น

สุดท้ายแล้ว พนักงานจะเป็นฝ่ายตัดสินใจเลือกเองว่าจะเข้าร่วม PTO หรือไม่ หลายคนอาจมองว่าเงินที่ได้จากวันลานั้นเป็น ผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากการทำงานอย่างหนักแบบไม่หยุดทั้งปี แต่บางทีการใช้วันลาเพื่อหยุดพักผ่อนเพื่อชาร์จพลังให้ตัวเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน 


ที่มา: Center For Economic And Policy Research, U.S. Travel Association, The Wired