"ผลิตภัณฑ์สมุนไพร" ปรับสมดุลร่างกาย เทรนด์ใหม่ทั่วโลก

"ผลิตภัณฑ์สมุนไพร" ปรับสมดุลร่างกาย เทรนด์ใหม่ทั่วโลก

นโยบาย BCG Model เป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยโดยภาครัฐ เพื่อพัฒนาตลาด "สมุนไพรไทย" สู่ตลาด "ผลิตภัณฑ์สมุนไพร" ของโลกที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2569 มูลค่าตลาดจะสูงถึง 70,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลของ Euromonitor ระบุว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (Herbal & Traditional Products) มีมูลค่าตลาดถึง 54,739 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 และคาดการณ์ว่าในปี 2569 มูลค่าตลาดจะสูงถึง 70,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งมาจากการถูกนำมาใช้ในการรักษาโควิด-19 จนได้รับความนิยมและความสนใจจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 

 

รัฐบาลได้นำแนวคิดของ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) มาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยโดยภาครัฐได้ตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าจีดีพีของประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2565-2570

 

5 ปัจจัยยกระดับสมุนไพรไทย

 

นโยบายแพทย์แผนไทยและแผนทางเลือก  ที่ส่งเสริมสมุนไพรไทยเข้าสู่ตลาดโลกเน้น  5 ประเด็น ได้แก่

1.เศรษฐกิจ ต้องใช้สมุนไพรไทยการแพทย์แผนไทย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในทุกช่องทาง และปลายทางสมุนไพรไทยต้องเป็นที่เชื่อมั่นของคนในประเทศและต่างประเทศ สมุนไพรไทยต้องกลายเป็นของฝากกระจายไปทั่วโลก 

2.การบริการ สนับสนุนให้การบริการแพทย์แผนไทยเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพโดยเฉพาะการบริการปฐมภูมิ การบริการเฉพาะด้าน การบริการระยะกลาง และการบริการระยะสุดท้าย

3.การคุ้มครองภูมิปัญญา ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและหมอพื้นบ้านไทยให้มีส่วนร่วมในระบบสุขภาพและให้ความสำคัญในการคุ้มครองภูมิปัญญาไทย การขึ้นทะเบียนการจดสิทธิบัตร ป้องกันการลักลอบภูมิปัญญาไทย 

4.ศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ แพทย์แผนไทยถือว่าเป็นวิชาชีพหนึ่ง ต้องได้รับการสนับสนุนให้เป็นที่ยอมรับและมีศักดิ์ศรีไม่ใช่ถูกมองเป็นแพทย์ทางเลือกหรือ แพทย์ชั้นสองเหมือนอดีตที่ผ่านมา 

5. ด้านการวิจัย ผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยอย่างจริงจัง เป็นที่ยอมรับ สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาออกแบบระเบียบวิธีวิจัยของแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะ 

 

เน้นสารสกัดที่ต่างประเทศไม่มี

 

ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาล(รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า อนาคตของสุขภาพทุกคนจะเน้นการป้องกันมากกว่ารักษา ขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องการความเป็นหนุ่มสาว ชีวิตที่แอคทีฟ การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม รวมถึงต้องการรักษาโรคเรื้อรัง โรคระบาด และต้องการเทคโนโลยี

 

“ขณะนี้มีผู้ประกอบการ สมุนไพรไทย หลายคนได้ขยายผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องสำอาง เนื่องจากสมุนไพรไทย” โดดเด่นเรื่องสายพันธุ์ ที่มีความแตกต่างจากสายพันธุ์ในต่างประเทศแล้ว ผู้ประกอบการต่างชาติส่วนใหญ่จะชื่นชอบและให้ความสนใจเรื่องการบริการ หากนำสมุนไพรเข้ามาช่วยดึงให้นักท่องเที่ยวสนใจสมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์ไทยมากขึ้น ซึ่งเมื่อคนรู้จักมากขึ้น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรก็สามารถส่งออกไปขายในต่างประเทศได้"

 

อย.อนุญาตผลิตภัณฑ์สมุนไพร

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกพ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 หมวดที่ 11 ส่งเสริมผู้ประกอบการ ผู้ผลิตหรือผู้ขายสนับสนุนให้เกิดความรู้ และการสร้างเครือข่าย การรวมตัว เพื่อพัฒนาผู้ผลิตให้มีความรู้ความสามารถในเรื่องสมุนไพร นำไปสู่การพัฒนาสมุนไพรเติบโตทางเศรษฐกิจ อนุญาตผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทให้ออกสู่ตลาดง่ายขึ้น เร็วขึ้น ลดต้นทุนทางธุรกิจ สถานที่ผลิตเอื้อต่อระบบการจ้างผลิต และการขยายใบอนุญาตด้านสถานที่และผลิตภัณฑ์ให้ยาวขึ้นเป็น 5 ปี

 

รวมถึงจัดตั้งกองผลิตภัณฑ์สมุนไพรกองผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรมฯ กองความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชสมุนไพร ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีการศึกษาให้คำปรึกษา วิจัย มีการขึ้นบัญชียาหลัก 90 รายการ และมีการส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรมากขึ้นด้วย    

 

ร้อยละ70 ใช้สมุนไพร ปรับสมดุลร่างกาย

 

นางสาวปรินดา ตั้งพิรุฬห์ธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉมา แอ็สเซ็ท จำกัด เปิดเผยว่า พืชสมุนไพรที่เป็นภูมิปัญญาไทยอย่างฟ้าทะลายโจรได้รับความนิยม และมีความต้องการในตลาดโลกสูง ส่งผลให้ภาครัฐตลอดจนภาคเอกชนร่วมกันผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นใบเบิกทางเปิดตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรตัวอื่น ๆ ออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 5 ตำรับ ยาเบญจโลกวิเชียร (ยาห้าราก) ยาจันทลีลา ยาตรีผลา ยาปราบชมพูทวีป และยาขิง ที่เป็นทางเลือกใหม่เพื่อดูแลสุขภาพ

 

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าแนวโน้มอนาคตของผู้บริโภคทั่วโลก พบว่า ผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อเป็นทางเลือกในด้านการป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น และพบว่ากว่าร้อยละ 70 ต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรทางเลือกที่สามารถปรับสมดุลในร่างกาย โดยเน้นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

 

โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรออร์แกนิค นับเป็นโอกาสของเกษตรกรไทย รวมทั้งผู้ประกอบการด้านการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยจะสามารถขยายตลาดออกไปรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยกระดับการแข่งขันของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้เป็น “พืชเศรษฐกิจใหม่” ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทยได้

 

"ผลิตภัณฑ์สมุนไพร" ปรับสมดุลร่างกาย เทรนด์ใหม่ทั่วโลก