ทำไมเราเศร้าตอนฝนตก ? นี่อาจเป็นหนึ่งในอาการ “ซึมเศร้าตามฤดูกาล”

ทำไมเราเศร้าตอนฝนตก ? นี่อาจเป็นหนึ่งในอาการ “ซึมเศร้าตามฤดูกาล”

บางคนอาจหงุดหงิดง่ายในวันที่ฤดูร้อนมาถึง บางคนมักจะรู้สึกเศร้าในฤดูฝน และมีหลายคนรู้สึกเหงาในฤดูหนาว หากมีความรู้สึกเหล่านี้ขึ้นมา นั่นอาจหมายถึงอาการ “ซึมเศร้าตามฤดูกาล” ชวนรู้.. ทำไมสภาพอากาศจึงส่งผลต่อความรู้สึก ?

หากพูดถึงฤดูกาลในประเทศไทยนั้นทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่ามีด้วยกัน 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตลอดทั้งปี และเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ ในบางครั้งก็ส่งผลต่อจิตใจของมนุษย์ได้ไม่น้อย  และอาจส่งผลกระทบต่อบางคนมากเป็นพิเศษถึงขั้นที่ตกอยู่ใน “ภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล”

รู้หรือไม่? เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละฤดูกาล ร่างกายของคนเราจะปรับตัวตามอากาศเพื่อให้อยู่รอด ในขณะที่จิตใจคนเราบางครั้งก็ปรับตามสภาพอากาศไม่ทัน และมีผลกระทบต่อารมณ์ของบางคนได้ เช่น เมื่ออากาศร้อนก็รู้สึกเครียด ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ในช่วงฤดูฝนอากาศมีความชื้นสูง ท้องฟ้าเป็นสีเทา ก็อาจทำให้บางคนรู้สึกเศร้า หรือในฤดูหนาว หมอกเยอะในตอนเช้า ช่วงเวลากลางคืนยาวนานกว่ากลางวันส่งผลให้รู้สึกเหงา หรือหดหู่โดยไม่มีสาเหตุ

ทั้งนี้ หากอารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร แต่ถ้าเมื่อไรอารมณ์เหล่านั้นเปลี่ยนไปในทางแย่ลง จนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก็นั่นอาจหมายความว่าคุณอาจกำลังเผชิญกับ “ภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล” หรือ “ภาวะเครียดจากสภาพอากาศ”

  • ภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล เป็นอย่างไร

ภาวะเศร้าตามฤดูกาล ( Seasonal Affective Disorder ; S.A.D) เป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง ที่มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันของแต่ละปี โดยส่วนใหญ่มักเกิดอาการเหล่านี้ในฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน อาจทำให้รู้สึก ซึมเศร้า เหนื่อยล้า และอยากแยกตัวเองจากสังคม แม้ว่าอาการต่างๆ มักจะหายไปภายในไม่กี่เดือน แต่ก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความรู้สึกและการทำหน้าที่ต่างๆ ของบุคคลได้

  • วิธีดูแลสุขภาพจิตใจ ในวันที่อากาศเปลี่ยนแปลง

1.รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ และโปรตีนที่ช่วยเพิ่มระดับของสารสื่อประสาท “เซโรโทนิน” สารเคมีในสมอง ที่มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอารมณ์

2. ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบหรือมีการเคลื่อนไหวของร่างกายเพิ่มขึ้น เช่น ทำสวนครัว  ทำงานบ้าน เล่นดนตรี อ่านหนังสือ เป็นต้น โดยไม่ปล่อยให้ตัวเองว่าง

3. หาโอกาสออกไปเดินเล่น ในวันที่มีอากาศแจ่มใส ท้องฟ้าปลอดโปร่ง เพื่อให้ร่างกายสัมผัสกับแสงแดดอ่อนๆ บ้าง เพราะมีผลงานวิจัยที่ชี้ว่าการได้สัมผัสกับแสงสว่างมีความสัมพันธ์กับระดับเซโรโทนินที่เพิ่มขึ้นในร่างกาย

4. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ช่วยบรรเทาเรื่องอาการซึมเศร้าได้ ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 3-5 วัน 

5. ออกไปพบปะสังสรรค์หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคม เพื่อให้ได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนฝูงหรือทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่

6. ฝึกใจให้ยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศว่าเป็นแค่เพียงปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง ที่ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป ไม่คงอยู่ถาวร

7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากนอนไม่หลับหรือหลับไม่เพียงพอ จะมีผลต่อคุณภาพชีวิตและเกิดภาวะซึมเศร้าได้ พยายามฝึกนิสัยการนอนที่ดี โดยก่อนนอนควรปิดอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารต่างๆ ด้วย เพื่อป้องกันเสียงรบกวน

 8 . หมั่นสังเกตอาการ ของตนเอง ถ้ารู้สึกว่าอารมณ์แปรปรวนมากผิดปกติควรพบแพทย์ เพื่อจะได้รับการดูแลและรักษาอย่างเหมาะสม

สุดท้ายแล้วสภาพอากาศก็เป็นเพียงตัวแปรนึงที่ส่งผลต่ออารมณ์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะ สุข เศร้า เหงา หรือ หัวร้อน ถ้าหากเราสามารถดูแลสภาพจิตใจตนเองให้แข็งแรงมั่นคง และมีความสุขไปกับแต่ละฤดูกาลตามธรรมชาติด้วยความเข้าใจ ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาลได้ในที่สุด

อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์