เรียนรู้ตลอดชีวิตที่ตลาดพลู | วิทยา ด่านธำรงกูล 

เรียนรู้ตลอดชีวิตที่ตลาดพลู | วิทยา ด่านธำรงกูล 

ขณะที่ผู้สูงอายุทวีจำนวนมากขึ้นและเทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น ช่วงอายุหลังเกษียณจึงทอดยาวออกไปอีกมาก อาจจะยาวพอๆ กับช่วงอายุการทำงานเลยทีเดียว

การใช้ชีวิตในช่วงเวลานี้จึงเป็นประเด็นให้พูดถึงกันมากว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรเพื่อให้มีคุณภาพ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าทั้งกับตัวเอง ผู้อื่น และสังคมโดยรวม

Susan Golden เขียนหนังสือ Stage Not Age ชี้ให้เห็นว่าช่วงชีวิตที่เคยถูกตีตราว่าเป็นวัยหลังเกษียณนั้นต้องถูกตีความใหม่ เพราะเป็นช่วงที่คนต้อง “ใช้ชีวิต” กันอีกยาวนานไม่ใช่อยู่อย่างขาดความหมาย จึงไม่ควรกำกับช่วงชีวิตนี้ด้วยอายุกันอีกต่อไป คำว่า “เกษียณ” ที่ตรึงคนไว้กับอายุ (Age) ทำให้คนรู้สึกว่าหมดเวลาที่จะทำอะไรๆ ที่สำคัญหรือหมดคุณค่าในตัวเอง

ที่ถูกต้องคือ ควรมองชีวิตจากนี้ไปว่าเป็นระยะหรือขั้นตอนของชีวิต (Stage) ที่คนเราสามารถใช้เวลาเพื่อเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ มีไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ เรียนรู้และฝึกฝนเรื่องใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนไปได้อีกหลายระยะหรือหลายขั้นตอน สุดแต่เจ้าตัวจะวางเป้าหมายอย่างไร

การที่ใครจะมีมุมมองต่อชีวิตอย่างเป็นขั้นตอนต่อๆ ไปในเวลาที่เหลือนั้น จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อต้องมีทัศนคติหรือความเชื่อในเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญให้คนสามารถ “ไปต่อ” ในขั้นตอนชีวิตเหล่านั้นได้ เพราะความรู้ที่เรียนมา 20 ปี ไม่อาจใช้กับ 60-70 ปีที่เหลือในชีวิตได้อีกต่อไป

โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตและทักษะอนาคตสำหรับเศรษฐกิจสังคมสูงอายุไทย : กรณีชุมชนตลาดพลู (ดวงใจ หล่อธนวณิชย์, นฤมล นิราทร, วิทยา ด่านธำรงกูล, 2565) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ ได้ลงพื้นที่ตลาดพลู สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปจำนวน 200 ราย

ผลสำรวจชี้ว่ามีกลุ่มตัวอย่างเพียง 42% เท่านั้นที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่และรับการเปลี่ยนแปลง นอกนั้นให้เหตุผลว่า ไม่ว่าง อายุมากแล้ว ไม่สนใจ ไม่สะดวก

 

โครงการฯ ได้คัดเลือกผู้ประกอบการที่พร้อมเรียนรู้และพร้อมเปลี่ยนแปลงในการประกอบอาชีพเข้าร่วมโครงการจำนวน 7 ราย จัดทีมที่ปรึกษาซึ่งเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมให้คำปรึกษา เพื่อสร้างการเรียนรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่องทางการขาย การบริหารต้นทุน และอื่นๆ

การทำงานตลอด 6 เดือนที่ไม่เน้นการสอนหรือฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ แต่เน้นการร่วมคิด ร่วมลงมือทดลองกับสินค้าในสถานประกอบการจริง ตามแนวทางธรรมศาสตร์โมเดล ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่และช่องทางใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง

อาอี๊พรทิพย์ วัย 73 เจ้าของกิจการทำบ๊ะจ่างที่ตลาดพลู ร่วมเรียนรู้กับทีมที่ปรึกษาอย่างจริงจัง เพราะเป็นการเรียนรู้ที่ต่อยอดจากจากฐานประสบการณ์ของตัวเอง

การจุดประกายปัญหาจากทีมกระตุ้นความกระหายใคร่รู้ พร้อมตั้งคำถาม พร้อมทดลองกับเรื่องใหม่ๆ และด้วยบุคลิกของอาอี๊ด้วยที่ทำให้นักวิจัยตระหนักว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ใช่จะเกิดได้กับคนทุกคน แต่ต้องเป็นคนที่พร้อมเปิดใจ อ้าแขนรับสิ่งใหม่ๆ 

เรียนรู้ตลอดชีวิตที่ตลาดพลู | วิทยา ด่านธำรงกูล 

ผลการเรียนรู้จึงได้บ๊ะจ่างแบบใหม่ในรูปโอนิงิริ หรือข้าวปั้นห่อสาหร่ายของญี่ปุ่นในแบรนด์พรทิพย์บะจ่าง ที่สามารถถือรับประทานได้สะดวก ไม่เปื้อนมือ แถมมีหลากหลายไส้ด้วย

อาอี๊เล่าว่ากว่าจะทำสำเร็จต้องเพียรพยายามมาก ตั้งแต่ปั้นด้วยมือ ใช้พิมพ์กดข้าว ลองเอาสาหร่ายมาห่อก็แตกและดูไม่เข้าท่า ทดลองหาวิธีอยู่นานจึงลงตัวได้ในที่สุด เหล่านี้คือการเรียนรู้บนการลองผิดลองถูก อาอี๊เองยอมรับว่าได้เรียนรู้เรื่องใหม่และเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของชีวิต (Stage) ที่ท้าทายยิ่ง

การเรียนรู้ตลอดชีวิต จะเอื้อให้คนสามารถใช้ชีวิตในขั้นต่อๆ ไปได้อย่างมีพลังและเห็นคุณค่าในตัวเอง จึงลดภาระการดูแลจากภาครัฐ ลดการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้คนที่พ้นวัยทำงานอย่างจริงจังไปแล้วกลับมามีพลังสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถก้าวข้ามความคิดว่าไม่พร้อมจะเรียนรู้ ก้าวข้ามคำว่า “เกษียณแล้ว” ไปได้ จึงต้องไม่คาดหวังว่าสิ่งนี้จะเกิดกับทุกคน 

แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะต้องผลักดันการเรียนรู้ตลอดชีวิตในสังคมไทยต่อไปอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ในรูปแบบที่เหมาะสมกับทั้งผู้ให้และผู้รับการเรียนรู้ เพื่อให้ขั้นต่อๆ ไปของชีวิตสามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะผ่านเข้ามาได้อย่างมีพลังและมีความสุขตลอดช่วงเวลาที่เหลืออยู่.