ไขข้อสงสัย คนไทย "อ่านหนังสือ" น้อยลง จริงหรือ ?

ไขข้อสงสัย คนไทย "อ่านหนังสือ" น้อยลง จริงหรือ ?

จากคำกล่าวที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่เกิน 8 บรรทัด” ซึ่งเป็นคำที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดหลายครั้ง อีกทั้งเมื่อดูข้อมูล พบว่า ประเทศไทยเคยมีร้านหนังสือมากถึง 2,483 ร้าน แต่ตอนนี้เหลือเพียง 800 ร้านเท่านั้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า คนไทย "อ่านหนังสือ" น้อยลง จริงหรือ ?

หากย้อนไปดูมูลค่าอุตสาหกรรมหนังสือจาก สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ BUPAT พบว่า ภาพรวมตลาดอุตสาหกรรมหนังสือ เคยมีมูลค่ายอดขาย สูงสุดเกือบ 30,000 ล้านบาท ในปี 2557 และลดลงมาเหลือ 13,000 ล้านบาท ในปี 2564 แบ่งเป็น 50% ร้านหนังสือ Chain Store และ 50% สำนักพิมพ์และร้านหนังสือ Stand Alone อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2565 นี้ ตลาดจะกลับมาเติบโต อยู่ที่ราว 15,000 ล้านบาท

 

  • ปี 2557 มูลค่า 29,300 ล้านบาท
  • ปี 2558 มูลค่า 27,900 ล้านบาท
  • ปี 2559 มูลค่า 27,100 ล้านบาท
  • ปี 2560 มูลค่า 23,900 ล้านบาท
  • ปี 2561 มูลค่า 18,000 ล้านบาท
  • ปี 2562 มูลค่า 15,900 ล้านบาท
  • ปี 2563 มูลค่า 12,500 ล้านบาท
  • ปี 2564 มูลค่า 13,000 ล้านบาท
  • ปี 2565 คาดเติบโตเพิ่มขึ้น 15,000 ล้านบาท

 

พฤติกรรม “คนอ่าน” เปลี่ยน สำนักพิมพ์เปลี่ยน

 

“ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ BUPAT ในงาน แถลงข่าว "มหกรรมหนังสือฯ กลับบ้าน" เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 65 โดยระบุว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากมาย ช่วงร้านหนังสือปิด พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน มีการซื้อผ่าน Marketplace อาทิ ช้อปปี้ ลาซาด้า มากขึ้น ทำให้สำนักพิมพ์ เปลี่ยนกลยุทธ์มาขายผ่านตัวเองมากขึ้น พึ่งพาร้านหนังสือน้อยลง

 

"ขณะเดียวกัน พฤติกรรมผู้บริโภค หันมาพรีออเดอร์หนังสือมากขึ้น ทำให้สำนักพิมพ์เปลี่ยนพฤติกรรมการขายได้ง่ายขึ้น สายป่านของสำนักพิมพ์อาจจะไม่ต้องยาว"

พรีออเดอร์ ดิสรัปวงการหนังสือ

 

ทิพย์สุดา กล่าวต่อไปว่า การพรีออเดอร์ถือว่าเป็นการดิสรัปวงการหนังสือ ก่อนโควิด-19 เคยมีกิจกรรมพรีออเดอร์ผ่านสำนักพิมพ์ แต่ค่อนข้างได้น้อยมาก เพราะผู้บริโภคนิยมพรีออเดอร์ผ่านร้านหนังสือ เพื่อให้มั่นใจว่าร้านหนังสือเป็นผู้การันตีว่าจะได้รับหนังสือ แต่ปัจจุบันคนพรีออเดอร์โดยตรงผ่านสำนักพิมพ์ ดังนั้น ร้านหนังสือ ค่อนข้างน่าเป็นห่วง

 

"การพรีออเดอร์ทำให้สายป่านสำนักพิมพ์ไม่ต้องยาวเหมือนสมัยก่อน ยกตัวอย่าง อยากจะผลิตหนังสือสัก 1 เล่ม เปิดพรีออเดอร์ ได้เงิน 2-3 แสนบาท สามารถนำเงินไปพิมพ์และส่งให้กับคนซื้อ ปัจจุบัน มีการพรีออเดอร์กันหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ก็พบปัญหาการโกงพรีออเดอร์เกิดขึ้นเช่นกัน"

 

ร้านหนังสือเหลือ 800 ร้าน

 

ทั้งนี้ เมื่อดูสถานการณ์ร้านหนังสือในไทยซึ่งเคยมีมากถึง 2,483 ร้าน ปัจจุบัน เหลือราว 800 ร้าน อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามร้านหนังสือในปีนี้ พบว่า เติบโตจากปี 2564 ที่ผ่านมาราว 10-20%

 

"ช่วงที่เว็บไซต์ Amazon เปิด ส่งผลกระทบต่อร้านหนังสือ เพราะผู้บริโภคไปเดินดูหนังสือในร้าน แต่กลับไปซื้อที่ Amazon ดังนั้น ตอนนี้จึงกลายเป็นความกังวลว่า ร้านหนังสือในไทยจะกลายเป็นโชว์รูมและคนไปซื้อหนังสือออนไลน์หรือไม่ เพราะออนไลน์มีการลดราคา 15% ขณะเดียวกัน ในต่างประเทศฝั่งยุโรป จะมีการกำหนดเลยว่า หนังสือใหม่ออกมา 18 เดือน ห้ามลดราคา เพื่อช่วยพยุงร้านหนังสือด้วย"

คาดปี 65 หนังสือออกใหม่เหลือ 1.2 หมื่นปก

 

ข้อมูล จำนวนหนังสือออกใหม่ก่อนโควิด-19 ประเทศไทยมีการพิมพ์หนังสือออกใหม่ปีละประมาณ 20,000 ปก ขณะเดียวกัน ในปี 2565 นี้ มีการคาดการณ์ว่าจะมีหนังสือออกใหม่เพียง 12,000 ปก เท่านั้น 

  • ปี 2560 จำนวน 19,454 ปก
  • ปี 2561 จำนวน 20,542 ปก
  • ปี 2562 จำนวน 19,614 ปก
  • ปี 2563 จำนวน 17,911 ปก
  • ปี 2564 จำนวน 18,291 ปก
  • ปี 2565 ม.ค. – ส.ค. 65 จำนวน 7,690 ปก (คาดทั้งปี จำนวน 12,000 ปกเท่านั้น)

 

หมวดที่พิมพ์เพิ่มขึ้น

  • การ์ตูน 32%
  • นิยายแปล 22%
  • หนังสือเด็กและเยาวชน 14%

 

“สำหรับ หมวดหนังสือที่พิมพ์ลดลง ได้แก่ คู่มือเรียน ซึ่งจากการสอบถามไปทางสำนักพิมพ์พบว่า เนื่องจาก 2 ปีที่มีการระบาดของโควิด-19 หลักสูตรไม่มีการปรับ ดังนั้น จึงใช้เล่มเดิมไม่ต้องพิมพ์เพิ่ม ถัดมา คือ นิยายไทย และบริหารธุรกิจ แม้นิยายแปลจะเติบโต 22% แต่นิยายไทยกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นหน้าที่ที่เราต้องส่งเสริมนักเขียนไทยให้มีพื้นที่ ในการแสดงผลงานมากขึ้น” ทิพย์สุดา กล่าว 

 

หมวดหนังสือ ยอดขายสูงสุด

  • หมวดนิยาย
  • หมวดคู่มือเรียนและคู่มือสอบ
  • หมวดพัฒนาตนเอง
  • หมวดบริหารธุรกิจ
  • หมวดการ์ตูน

 

Marketplace เติบโต 61%

 

สำหรับ การขายผ่าน Marketplace พบว่า ยอดขายปี 2564 เติบโตจากปี 2563 ราว 20% แต่พอปี 2565 ยอดขาย 7 เดือนเติบโต 61% แสดงว่าลูกค้ามีการดิสรัปและเปลี่ยนมาที่ Marketplace อย่างช้อปปี้ และ ลาซาด้า มากขึ้น

 

คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง จริงหรือ ?

 

ทิพย์สุดา กล่าวต่อไปว่า หากดูจากมูลค่ายอดขายอุตสาหกรรมหนังสือที่เคยแตะ 30,000 ล้านบาท และลดลงมาอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท จะรู้สึกว่าน้อยลงเยอะมาก เนื่องจากเป็นการนับเฉพาะหนังสือเล่ม

 

"แต่หากเป็นการอ่านหนังสือในความหมายของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จะเรียกว่าอ่านเยอะขึ้น เพราะนับรวมหนังสือทุกประเภท ทุกช่องทาง ยกเว้น SMS ดังนั้น การอ่านในกูเกิ้ล ในทวิตเตอร์ โซเชียลมีเดีย นับเป็นการอ่านทั้งหมด หากรวมทั้งหมดถือว่าประเทศไทยอ่านเยอะมาก"

 

ข้อมูลจาก “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” สำรวจการอ่านหนังสือของประชากรต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2548 – พ.ศ. 2561 โดยเก็บข้อมูลจากชาวไทย 55,920 ครัวเรือนตัวอย่าง ในทุกภูมิภาคและทุกช่วงวัย พบว่า คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้เวลาอ่านเฉลี่ยมากถึงวันละ 80 นาที ส่วนเยาวชนไทยเป็นกลุ่มที่ใช้เวลาอ่านหนังสือมากที่สุด อ่านเฉลี่ยวันละ 109 นาที

 

นอกจากนี้ แนวโน้มการอ่านของประชากรไทยยังเพิ่มขึ้น โดยปี 2551 มีอัตราการอ่าน 66.3% และ ในปี 2554 เพิ่มขึ้น 68.6% ส่วนปี 2561 อัตราอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้นมาที่ 78.8% และในจำนวนนักอ่านเหล่านี้มีผู้ที่อ่านหนังสือทุกวันมากถึง 54% และรองลงมา คือ อ่านทุก 4-6 วัน

 

เยาวชน อ่านหนังสือมากที่สุด

 

ผลการสำรวจการอ่านของประชากร ปี 2561 ของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบอีกว่า เด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 6 ปี) ที่อ่านมีประมาณ 2.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 61.2 เด็กผู้หญิงมีอัตราการอ่าน 63.0% สูงกว่าเด็กผู้ชายเล็กน้อยซึ่งอยู่ที่ 59.5% เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจที่ผ่านมา พบว่า อัตราการอ่านของเด็กเล็กในปี 2558 มี 60.2% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 61.2% ในปี 2561 โดยเด็กหญิงมีอัตราการอ่านเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนเด็กชายมีอัตราการอ่านที่คงที่

 

เมื่อพิจารณากลุ่มวัยที่อ่าน พบว่า การอ่านของประชากรมีความแตกต่างกันตามวัย พบว่าเยาวชนมีอัตราการอ่านสูงที่สุด ดังนี้

  • วัยเยาวชน 92.9%
  • วัยเด็ก 89.7%
  • วัยทำงาน 81.1%
  • วัยสูงอายุ 52.2%

 

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการสำรวจที่ผ่านมา พบว่า ปี 2561 การอ่านของประชากรในวัยเด็กและวัยสูงอายุมีอัตราการอ่านลดลงเล็กน้อย ในขณะที่วัยเยาวชนและวัยทำงานมีอัตราการอ่านที่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 สำหรับผู้อ่านที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปทั้งหมดใช้เวลาอ่านนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานเฉลี่ย 1 ชั่วโมง 20 นาทีต่อวัน (80 นาที)

 

โดยกลุ่มเยาวชนใช้เวลาอ่านมากที่สุด เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 49 นาทีต่อวัน (109 นาที) วัยเด็กและวัยทำงานใช้เวลาอ่านเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 1 ชั่วโมงเล็กน้อย ส่วนวัยสูงอายุใช้เวลาอ่านน้อยที่สุดเฉลี่ย 47 นาทีต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 พบว่า ทุกกลุ่มวัยใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้น โดยวัยเยาวชนใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 15 นาทีต่อวัน

 

E-Book ทั่วโลกเติบโต

 

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ตลาด E-Book มีการเติบโตสูง เนื่องจากร้านหนังสือปิด และผู้บริโภคสามารถอ่านในมือถือหรืออุปกรณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ทิศทางมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้

 

ข้อมูลจาก PwC Thailand ในปี 2561 ได้นำเสนอรายงานประจำปี The Global Entertainment & Media Outlook 2018-2022 ที่ทำการศึกษาแนวโน้มรายได้และคาดการณ์การใช้จ่ายผ่านอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงโลก มีการคาดการณ์ว่า ตลาด E-Book ทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) ที่ 7.1% จากมูลค่า 763,491 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 1,077,811 ล้านล้านบาท ในปี 2565

 

โดย Amazon ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุด รองลงมา ได้แก่ Apple Google และ Kobo ขณะที่แนวโน้มของตลาดหนังสือทั่วโลก คาดจะเห็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีลดลงที่ 0.1%

 

เมื่อหันกลับมาดูในตลาด E-Book ในประเทศไทย คาดการณ์อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 14% จากมูลค่าตลาด 2,960 ล้านบาทในปี 2560 เพิ่มเป็น 5,705 ล้านบาทในปี 2565 เช่นเดียวกับส่วนแบ่งการตลาดของ E-Book ที่จะเพิ่มจาก 7.4% ในปี 2560 เป็น 14.1% ในปี 2565

 

MEB รายได้ปี 64 กว่า 1.4 พันล้านบาท

 

ทั้งนี้ หนึ่งในตัวอย่างของไทยที่สะท้อนการเติบโตของ E-Book ได้ดี คือ MEB บมจ.เมพ คอร์ปอเรชั่น ในเครือ บริษัท บีทูเอส จำกัด (B2S) แพลตฟอร์มขายอีบุ๊กรายใหญ่ ที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวนรวมไม่เกิน 75 ล้านหุ้น

  • ปี 2562 กว่า 618.72 ล้านบาท กำไร 82.09 ล้านบาท (13.27%)
  • ปี 2563 รายได้ 1,004.68 ล้านบาท กำไร 164.74 ล้านบาท (16.40%)
  • ปี 2564 รายได้ 1,456.38 ล้านบาท กำไร 275.34 ล้านบาท (18.91%)

งวด 6 เดือนแรกของปี 65 บริษัทมีรายได้รวม 843.51 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 666.59 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 163.66 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 123.11 ล้านบาท

 

ต้อนรับงานหนังสือกลับบ้าน

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักอ่านจำนวนไม่น้อยที่ยังคงชื่นชอบเสน่ห์ในการอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่ม และหนึ่งในจุดหมายที่คนรักหนังสือตั้งตารอทุกปีอย่าง มหกรรมหนังสือระดับชาติ ซึ่งมักจะจัดที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จากข้อมูลของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย พบว่า เคยมีผู้เข้าชมมากที่สุดตลอดการจัดงานมากถึง 2.8 ล้านคน

 

แม้ 2 ปีที่ผ่านมา จะมีการย้ายสถานที่จัดงาน เนื่องจาก ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้ปิดปรับปรุง แต่ มหกรรมหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 12 – 23 ตุลาคม 2565 นี้ ถือเป็นการต้อนรับงานหนังสือกลับบ้าน เพราะได้กลับมาจัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้ง ในบรรยากาศที่คุ้นเคย ภายใต้แนวคิด “BOOKTOPIA : มหานครนักอ่าน เพราะการอ่านคือจุดเริ่มต้นของการสร้างเมือง”

 

โดยในปีนี้ มีสำนักพิมพ์เข้าร่วมกว่า 306 ราย 788 บูธ และมีกิจกรรมเวทีและอบรมสัมมนากว่า 100 รายการ คาดว่าจะมีผู้เข้ารวมงานถึง 1.5 ล้านคน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/bookthai

 

ไขข้อสงสัย คนไทย "อ่านหนังสือ" น้อยลง จริงหรือ ?

 

อ้างอิง : สำนักงานสถิติแห่งชาติPwC Thailand