เริ่มแล้ว! ครูรัก(ษ์) ถิ่นรุ่น 4 กสศ.ผนึกสถาบันผลิตครูฯ ผลิตครูคุณภาพ

เริ่มแล้ว! ครูรัก(ษ์) ถิ่นรุ่น 4 กสศ.ผนึกสถาบันผลิตครูฯ  ผลิตครูคุณภาพ

ครูรัก(ษ์) ถิ่นรุ่น 4 ปีการศึกษา 2566 กสศ.จับมือสถาบันผลิตครูฯ18 แห่ง ผลิตครูคุณภาพ เปิดโอกาสเด็กขาดแคลนอยากเป็นครู ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาขาดแคลนครูในโรงเรียนห่างไกลระบุบรรจุครูที่ไม่ใช่คนท้องถิ่นมากถึงร้อยละ 80 เกิดปัญหาครูย้ายออกจากโรงเรียน

จากการที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ทำงานร่วมกับธนาคารโลก ซึ่งได้วิเคราะห์ร่วมกับการสอบทานฐานข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่าประเทศไทยมีโรงเรียนราว 2,000 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่อาจจะควบรวมได้ (Protected School หรือ Standalone) ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลให้ดำรงอยู่ต่อไปได้เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนในท้องถิ่น

ทั้งนี้  ปัญหาของโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล คือ ครูขอย้ายบ่อยเพราะไม่ใช่คนในท้องถิ่น และไม่มีครูมาทดแทน ครูจึงไม่พอกับชั้นเรียน โดยเฉพาะครูที่สอนระดับชั้นประถมศึกษา จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงการ ครูรัก(ษ์)ถิ่น

วันนี้ (22 ก.ย.2565) ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อลงนามความร่วมมือ และพัฒนาแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. และสถาบันผลิตและพัฒนาครู รุ่นที่4 ปีการศึกษา 2566 ว่า กสศ.ได้มีแนวทางในการเสริมสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพครู ด้วยการดำเนินการให้มีการศึกษาวิจัย ค้นคว้าแนวทางการพัฒนาครูให้มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีคุณธรรม  มีจริยธรรม มีความรู้ และความสามารถในการจัดการเรียนการสอน พัฒนาผู้เรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีแรงจูงใจที่เหมาะสม รวมทั้ง ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู 

“โรงเรียนบทพื้นที่สูงตามแนวชายขอบ หรือโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเกาะแก่ง โรงเรียนเหล่านี้นอกจากยุบและควบรวมไม่ได้แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ และยืนหยัดคุณภาพด้านการศึกษา  เป็นความหวังให้แก่เด็กและเยาวชนในท้องถิ่น รวมถึงตัวท้องถิ่นเอง โดยคุณภาพการจัดการศึกษา คือหัวใจสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้” ดร.ไกรยส  กล่าว

 

  • "ครูรัก(ษ์)ถิ่น นวัตกรรมสร้างครู ลดขาดแคลน พัฒนาท้องถิ่น

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า ด้วยสาเหตุโรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร เมื่อครูมาบรรจุแล้วมักจะขอย้ายในเวลาไม่กี่ปี โดยเฉพาะครูระดับชั้นประถมศึกษา จึงมีแนวทางในการปฎิรูปเรื่องนี้ให้เกิดความยั่งยืนให้ได้

ที่มาของโครงการ ครูรัก(ษ์)ถิ่น ทางกสศ.ร่วมมือกับ 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.), กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), สพฐ., สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา  เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษา เพิ่มโอกาสให้นักเรียนจากครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสที่มีฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 แรกของประเทศ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และต้องการเป็นครู รวมถึงบรรจุกลับมาเป็นครูในพื้นที่ท้องถิ่นของตนเอง

การที่ได้มีโอกาสให้นักศึกษาครูบรรจุในพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้ ถือเป็นแนวทางในการจัดการปัญหาการขาดแคลนครู ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นนวัตกรรมที่ดำเนินการให้เหมาะสมกับโจทย์พื้นที่ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายโดยมีต้นทางทางการศึกษา ภายใต้องค์ประกอบการ 3 เรื่อง คือ

1.มุ่งสร้างโอกาสสำหรับนักเรียนที่ขาดโอกาสในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพสูง

2.มุ่งพัฒนาและปรับปรุงการผลิตครู สถาบันการผลิตและพัฒนาครูให้สอดคล้องกับความจำเป็นพิเศษ และบริบทที่แตกต่างของครูรักษ์ถิ่นเหล่านี้ไปบรรจุในพื้นที่

3.เป็นการพัฒนาโรงเรียนพื้นที่เหล่านี้ให้สามารถเดินต่อไปได้

 

  • เป้าหมายพัฒนาครูคุณภาพ 1,500 อัตรา กระจายสู่พื้นที่ห่างไกล

"การเติมครู1 คน อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในช่วงข้ามคืน แต่เราเชื่อว่าการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ในวันที่มีครูบรรจุ สามารถปฎิรูปการศึกษาในพื้นที่ของตนเองได้" ดร.ไกรยส กล่าว

สำหรับเป้าหมายของโครงการจะมีการพัฒนาครูให้ได้ 1,500 อัตรา เพื่อกระจายครูไปในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ โดยให้ครูเหล่านี้ไปสอนเด็ก สร้างประโยชน์ให้แก่เด็กและเยาวชนมากกว่า 3 แสนคน และสามารถทำให้เกิดครูพัฒนาพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งในชุมชน คาดหวังว่าคุณประโยชน์โครงการนี้ ได้ไกลกว่ารั้วโรงเรียน

การดำเนินงานครูรัก(ษ์)ถิ่น กสศ.และภาคีได้มีโอกาสพัฒนานักเรียนไปแล้ว 3 รุ่น จำนวนทั้งสิ้น 865 คน ได้เข้าไปเป็นนิสิตนักศึกษาในสถาบันผลิตและพัฒนาครู 16 แห่ง  และเมื่อรวมรุ่นที่ 4 ในปีนี้ จะมีนักเรียนที่ได้รับโอกาสทั้งสิ้น 1,192 คน ซึ่งในปีนี้ มีสถาบันผลิตและพัฒนาครูเพิ่มอีก 2 คน ทำให้ขณะนี้มีสถาบันผลิตและพัฒนาครู รวม 18 แห่ง

ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่ากสศ.มีความเชื่อมั่นว่านักศึกษาทุกคนที่จะก้าวไปเป็นบัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่นจะนำหลักสูตรการเรียนการสอน ระบบการผลิตและพัฒนาครูที่เป็นนวัตกรรม ส่งต่อโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาส ดังนั้น เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความขาดแคลนครูได้ไกล

  • ผลิตครู แก้ปัญหาตรงจุด ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 

รศ. ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกสศ. กล่าวว่าปลายทางของครูรัก(ษ์)ถิ่น คือ ต้องการสร้างและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตและพัฒนาครู ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ร่วมผลิตครูคุณภาพสูงไปทำงานพัฒนาเด็ก และพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แก่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล  รวมถึงทำให้วิชาชีพครูมีความเข้มแข็ง และเกิดเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

"ปัจจุบันระบบการผลิตครูของประเทศยังไม่ตอบสนองต่อปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งระบบการบรรจุครูของโรงเรียนในพื้นที่ทำให้ได้ครูที่ไม่ใช่คนท้องถิ่นมากถึงร้อยละ 80 จนเกิดปัญหาครูย้ายออกจากโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลจำนวนมาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโอกาสและคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้" รศ.ดร.ดารณี กล่าว 

ทั้งนี้ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มุ่งทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาต้นแบบที่ร่วมโครงการในลักษณะเครือข่าย ร่วมพัฒนาหลักสูตรสร้างครูรุ่นใหม่ที่มีอัตลักษณ์ สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชนแต่ละภูมิภาค และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ให้ได้เรียนครูจนจบปริญญาตรีและได้รับการบรรจุเป็นครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนเองทั้งหมด 

โดยนักศึกษาจะได้รับการบ่มเพาะให้เป็นครูของชุมชนที่มีคุณภาพสูง มีสมรรถนะทั้งทางวิชาการ และวิชาชีพ มีความสามารถพัฒนาผู้เรียนและชุมชนเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในโรงเรียนได้ ถือเป็นการลงทุนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ตรงจุด สอดคล้องกับปัญหาของประเทศ