“เทคโนโลยี” หนุนบริการสุขภาพ ยกระดับ ดันไทยสู่ "Medical Hub"

“เทคโนโลยี” หนุนบริการสุขภาพ ยกระดับ ดันไทยสู่ "Medical Hub"

การนำ "เทคโนโลยี" ดิจิทัล รวมถึง เอไอ มาใช้ใน "อุตสาหกรรมการแพทย์" สามารถสร้างผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการวินิจฉัยและการรักษา เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น สอดรับกับการเดินหน้าสู่ "Medical Hub" ซึ่งเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรม "New S-Curve" ที่ทางภาครัฐสนับสนุน

ประเทศไทย เป็นประเทศที่ได้รับการชื่นชมด้าน Medical Tourism และถือเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่า การผลักดันไทยก้าวเข้า Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากจะช่วยดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศแล้ว ยังเพิ่มการจ้างงาน และเชื่อมโยงไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก โดยองค์ประกอบสำคัญที่ภาครัฐวางไว้ให้ขับเคลื่อนการเป็น Medical Hub ของไทย ได้แก่

 

1. ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical Service Hub)

2. ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub)

3. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ (Product Hub)

4. ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub)

 

และมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาด ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ของไทย จะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง แตะระดับ 7.6 แสนล้านบาทในปี 2027 หรือเติบโตเฉลี่ย 13.2% ต่อปี

 

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลเอกชน ที่ให้บริการทางการแพทย์คิดเป็นสัดส่วนกว่า 65% นับเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญและศักยภาพในการผลักดันดิจิทัลเฮลท์แคร์ ศูนย์กลางทางการแพทย์ และตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ “ศ.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์” นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้สัมภาษณ์ในงาน Hospital Management Asia 2022 สัมมนาด้านระบบสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพระดับภูมิภาค โดยระบุว่า Medical Hub เป็น 1 ใน New S-Curve ที่ภาครัฐสนับสนุนจากการเล็งเห็นว่าบริการทางการแพทย์ได้รับความนิยม

 

หลังโควิด-19 มีการคาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยกว่า 9.5 ล้านคนในปี 2565 และในจำนวนนี้ 8-12% เป็น Medical Tourism โดยผู้ป่วยต่างชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะเป็นกลุ่มตะวันออกกลางกว่า 70%

 

“เทคโนโลยี” หนุนบริการสุขภาพ ยกระดับ ดันไทยสู่ \"Medical Hub\"

เมื่อมองการแข่งขันด้านบริการทางการแพทย์ของไทยในระดับภูมิภาค พบว่า ไทยค่อนข้างได้เปรียบเพราะเปิดประเทศในเงื่อนไขที่น้อย และหลังจากนี้จะมีวีซ่าให้ผู้ป่วยต่างชาติสามารถเข้ามาได้เกือบทั้งหมดเพราะภาครัฐมีนโยบายผลักดันไทยเป็น Medical Hub ขณะเดียวกัน Medical Tourism ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายมากกว่าการท่องเที่ยวทั่วไป เป็นเหตุผลที่ไทย จำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดีและมีมาตรฐานทั้งระบบโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย เพื่อให้ได้นักท่องเที่ยวคุณภาพ

 

3 ข้อได้เปรียบของไทย

 

ทั้งนี้ ข้อได้เปรียบของประเทศไทย นอกจากการส่งเสริมของภาครัฐในเรื่อง Medical Hub เป็น New S-Curve แล้ว ยังมีอีก 3 ประเด็น ได้แก่ ราคาที่ถูก การบริการ และแพทย์ไทยที่เรียนเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มาตรฐานทางการแพทย์สูงเหมือนกับแทพย์ที่จบจากสหรัฐอเมริกา

 

โดยสิ่งที่ผู้ป่วยต่างประเทศต้องการใช้บริการทางการแพทย์ในไทยระยะแรก คือ การรักษา อาทิ โรคหัวใจ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV รักษาโรคมะเร็ง รักษาแผลเบาหวาน และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ ในกลุ่มตะวันออกกลาง หลังจากนี้จะเป็นในเรื่องอื่นๆ อาทิ ศัลยกรรม การทำเด็กหลอดแก้ว ฯลฯ จะค่อยๆ เติบโตตามมา

 

ขณะเดียวกัน ภาพรวมผู้ป่วยในประเทศของโรงพยาบาลเอกชน “ศ.นพ.เฉลิม” เผยว่า ขณะนี้เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นระบบประกันสังคมและการรักษาโรคซับซ้อน ผู้ป่วยกล้าเข้าโรงพยาบาล เพราะเริ่มมองว่าโควิด-19 ไม่มีความน่ากังวล ไม่รุนแรง โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง สัดส่วนกลับมาเท่ากับปี 2562 ก่อนโควิด-19

 

“สิ่งที่พยายามจะขับเคลื่อนต่อไป คือ Wellness เพื่อให้สามารถคาดการณ์ได้ก่อนล่วงหน้า ดังนั้น หลังจากนี้โปรแกรมในการเช็กสุขภาพจะละเอียด พบก่อน รักษาก่อน ถูกกว่า เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้โรงพยาบาลต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ให้วินิจฉัยได้ลึก เร็วขึ้น”

รักษามาตรฐาน อัพระบบทันสมัย

 

ความท้าทายด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในฐานะโรงพยาบาลเอก “นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน” มองว่า การใช้ดิจิทัลที่ผ่านมา มีการใช้แพร่หลาย และเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็มีการนำมาใช้มากขึ้นในแทบจะทุกโรงพยาบาล และเปลี่ยนให้ทันสมัยมากขึ้นตามเทคโนโลยีที่พัฒนา รวมถึงข้อมูลต่างๆ ก็เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เราพัฒนาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้ระบบเทเลเมดิซีนถูกบังคับให้พัฒนา

 

“เทคโนโลยี ทุกอย่างต้องเปลี่ยนระบบให้ทันสมัย เพื่อให้เกิดการวินิจฉัย การเจ็บป่วยได้รวดเร็วขึ้น การรักษาจะทีเดียวแล้วจบ ปัจจุบัน โรคมะเร็งสามารถวินิจฉัยได้เร็ว และเราผ่านโควิด-19 มาแล้ว เทคโนโลยีในการใช้งานเปลี่ยน เทเลเมดิซีน ถูกบังคับจากการระบาดของโควิด แต่หลังจากนี้โรงพยาบลเอกชนของไทยต้องปรับปรุงเทคโนโลยี และคงความนิยมของลูกค้าทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาตามที่รัฐบาลส่งเสริม”

 

“Medical Hub เกิดมานาน แต่ตอนนี้สิ่งที่ต้องเตรียมคือ อะไรที่เคยเป็นอุปสรรค เช่น บุคลากรมีเพียงพอหรือไม่ เห็นได้จากช่วงโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ดังนั้น ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผลิตบุคลากร ฝ่ายเตรียมคน ฝ่ายลงทุน และการผลิตผู้เชี่ยวชาญ ต้องร่วมมือกัน เป็นภาพรวมระดับประเทศ ปัจจุบัน เราผลิตแพทย์ได้ปีละ 3,000 คน แต่มีกว่า 1,500 คน ที่ไม่มีโอกาสได้เทรนด์เป็นผู้เชี่ยวชาญ ในฐานะภาคเอกชน พร้อมที่จะให้ทุนสนับสนุน ประเทศไทยต้องมีผู้เชี่ยวชาญ ไม่ลดมาตรฐานเด็ดขาด” นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวทิ้งท้าย

 

“เทคโนโลยี” หนุนบริการสุขภาพ ยกระดับ ดันไทยสู่ \"Medical Hub\"