อยากมีลูกต้องรู้ "โรคอ้วน" กับ "ภาวะมีบุตรยาก" สัมพันธ์กันอย่างไร

อยากมีลูกต้องรู้ "โรคอ้วน" กับ "ภาวะมีบุตรยาก"  สัมพันธ์กันอย่างไร

หนึ่งในปัญหาการ "มีบุตรยาก" มาจากปัจจัย "โรคอ้วน" ซึ่งเกี่ยวเนื่องทั้ง ชายและหญิง แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ แต่พบว่า คนที่น้ำหนักเกิน จะมีความเสี่ยงระหว่างตั้งครรภ์มากกว่าคนน้ำหนักตัวเกณฑ์ปกติ

"พญ.ปนัดดา บรรยงวิจัย" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูติ-นรีแพทย์ ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหา ภาวะมีบุตรยาก ในผู้ป่วย โรคอ้วน ผ่านเพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ โดยอธิบายว่า คนสมัยใหม่มักจะให้ความสำคัญกับการมีบุตรมากขึ้น ใครที่อยากมีลูก ผ่านไปสัก 3-6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วไม่ตั้งครรภ์ ก็จะเริ่มตรวจเพิ่มเติม สิ่งสำคัญ คือ การเข้ารับการปรึกษาการมีบุตร จำเป็นต้องเข้ามาทั้ง 2 ฝ่ายทั้งชายและหญิง เพราะต้องประเมินครอบคลุม 

 

สาเหตุของ การมีบุตรยากในปัจจุบัน พบว่า มาจากฝ่ายหญิง 50% และ ฝ่ายชาย 40% ถือว่าใกล้เคียงกัน และ 10% คือไม่ทราบสาเหตุ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ มีบุตรยาก มีหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือ ภาวะอ้วน 

 

ปัญหาของภาวะอ้วน 

 

คนที่เป็น โรคอ้วน ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะการมีบุตรเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ไม่ว่าจะความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไขข้อ ฮอร์โมนผิดปกติทำให้มีลูกยาก ปัญหาเรื่องของการหายใจ การนอน การขาดออกซิเจน เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ได้แก่ 

  • “ผู้ชาย” มะเร็งลำไส้ ตับอ่อน และต่อมลูกหมาก 
  • “ผู้หญิง” มะเร็งเต้านม รังไข่ และเยื่อบุโพรงมดลูก

 

แบบไหน ถึงเรียกว่า “โรคอ้วน”

 

โรคอ้วน ดูได้จาก 2 เกณฑ์ ได้แก่ 

การวัดรอบเอวระดับสะดือ 

  • ผู้ชาย ไม่เกิน 36 นิ้ว หรือ 90 เซนติเมตร 
  • ผู้หญิง ไม่เกิน 32 นิ้ว หรือ 80 เซนติเมตร 

 

BMI = (น้ำหนักตัว [กิโลกรัม] ÷ ส่วนสูง [เมตร] ยกกำลังสอง) 

<18.5 = น้ำหนักน้อย 

18.5 – 22.9 = น้ำหนักปกติ 

23.0 – 24.9 = น้ำหนักเกิน 

25.0 - 29.9 = อ้วน 

>30 = อ้วนมาก 

 

“เมื่อไหร่ก็ตามที่พบว่าน้ำหนักเกินมาตรฐาน จะทำให้มีบุตรยากมากขึ้น 20% คือ BMI = 25 ขึ้นไป และมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักมาตรฐานประมาณ 40% นอกจากนี้ คนอ้วนหากตั้งครรภ์ หรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ คำแนะนำที่จะได้รับ คือ ลดน้ำหนักหรือควบคุม BMI ในระดับมาตรฐาน"

ควรคุมน้ำหนัก ก่อนตั้งครรภ์

 

พญ.ปนัดดา อธิบายต่อไปว่า คนอ้วนสามารถท้องได้ บางคนตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติ แต่มีความเสี่ยงแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ และส่งผลให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือ ทารกเจริญเติบโตช้า และในกรณีตอนคลอด ก็มีโอกาสสูงที่จะต้องผ่าตัดคลอด ตกเลือดระหว่างการคลอด หรือหลังคลอดได้มากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ  

 

ดังนั้น หากยังไม่ตั้งครรภ์ ควรควบคุมน้ำหนัก ให้ได้ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนตั้งครรภ์ นอกจากจะเพื่อสุขภาพ จะช่วยให้โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตรลดลง 

 

ขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงที่มีน้ำหนักเกิน หรือ ภาวะอ้วน จะมีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ทั้งนั้น 

 

เพศชาย น้ำหนักเกิน ส่งผลต่ออสุจิ

 

เพศชาย มีงานวิจัยศึกษาพบว่า ชายที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน จะมีภาวะอารมณ์ทางเพศลดลง การที่คนอ้วน จะมีไขมันในร่างกายเยอะ การไหลเวียนเลือดลดลง ทำให้เลือดที่มาเลี้ยงบริเวณอวัยวะเพศลดลง มักเกิดปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว มีปัญหาการหลั่ง อวัยวะเพศไม่แข็งตัวเต็มที่ นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อความแข็งแรงของร่างกาย มีโรคซ่อนเร้นภายนอกแข็งแรง แต่หากตรวจเลือด ตรวจสุขภาพ อาจจะเจอคอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวานซ่อนอยู่ พอความแข็งแรงโดยรวมของร่างกายลดลง เวลาที่มีเพศสัมพันธุ์ ความแข็งแรงก็จะลดลงเช่นกัน  

ขณะที่ น้ำอสุจิ ก็มีผลโดยตรงเช่นกัน เพราะเวลาที่ผู้ชายมีน้ำหนักตัวเยอะ ไขมันเยอะ จะสังเกตว่าคนอ้วนอุณหภูมิร่างกายจะสูงกว่าคนผอม ขี้ร้อน ความร้อนของอุณหภูมิกาย ส่งผลต่อการผลิตอสุจิทำได้ด้อยลง เพราะถุงอัณฑะจำเป็นต้องห้อยอยู่นอกร่างกาย อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการมีชีวิตสเปิร์มจะต้องต่ำกว่าร่างกายคนปกติเล็กน้อย แต่พอคนอ้วนอุณหภูมิกายสูงขึ้น ไขมันเยอะขึ้น ทำให้อุณหภูมิบริเวณอัณฑะสูงขึ้น ส่งผลต่ออสุจิด้วย รวมถึงส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะเพศด้วย

 

ผลต่อคุณภาพอสุจิ 

 

  • การสร้างเซลล์อสุจิใหม่ทำได้ลดลง 
  • ทำให้จำนวนของอสุจิลดลง 
  • ความเข้มข้นของน้ำอสุจิลดลง
  • การสร้าง เจริญ และพัฒนา ไม่สมบูรณ์ 
  • รูปร่างของอสุจิผิดปกติ (หัว คอ หาง)
  • การเคลื่อนที่ของอสุจิผิดปกติ 
  • สารพันธุกรรมในอสุจิผิดปกติจากภาวะ Oxidative stress ที่มากกว่าคนปกติ

 

“ดังนั้น การลดน้ำหนักเพื่อมีบุตร ไม่ใช่แค่มุ่งเน้นที่ฝ่ายหญิงเพียงอย่างเดียว ควรจะให้ความสำคัญในเรื่องของการลดน้ำหนักในฝ่ายชายด้วย”

 

ผลต่อเพศหญิง 

 

  • ความแปรปรวนของฮอร์โมนเพศ 
  • ฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง เนื่องจากการสร้างจากเซลล์ไขมัน 
  • ทำให้รังไขเกิดการทำงานผิดปกติ 
  • ส่งผลกระทบต่อการตกไข่และการมาของประจำเดือน มาไม่ปกติ 
  • การตกไข่ผิดปกติ 
  • คุณภาพของไข่แย่ลง 

อีกทั้ง มีความเสี่ยงต่อการเป็น PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) คือ การวินิจฉัยโดยการอัลตร้าซาวด์แล้วพบว่า รังไข่มีซีสต์หลายก้อน ซึ่งเกิดได้ทั้งคนอ้วนและคนผอม ตั้งแต่ 18-45 ปี เกิดเองได้ตามธรรมชาติ 

 

ภาวะดื้ออินซูลีน จากร่างกายไม่ตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลีน คือ คนที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน หลักๆ คือคนอ้วน หิวบ่อย กินแป้งน้ำตาลเยอะ 

 

อาการที่สงสัย 

 

ไข่ไม่ยอมตก ประจำเดือนขาด ภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง ผมร่วง วินิจฉัยจากการอัลตร้าซาวน์ ทำให้มีบุตรยาก หากเป็น PCOS และอ้วนต้องลดน้ำหนัก จะช่วยรักษาภาวะนี้ได้

 

บางคนไม่รู้ว่ามีโรคซ่อนอยู่

 

"ในหลายคนที่มีน้ำหนักตัวเกินมาก แล้วตั้งครรภ์ คนเรามักจะไม่รู้ว่าเรามีโรคซ่อนอยู่ แต่ส่วนใหญ่จะมารู้ตอนท้องเพราะต้องตรวจร่างกาย วัดความดันพบว่าความดันโลหิตสูง และเมื่อความดันโลหิตสูงที่ไม่ถูกควบคุม แต่มารักษาตอนท้องจะยาก การใช้ยาในช่วงตั้งครรภ์ยากเพราะต้องใช้ยาค่อนข้างอ่อน สุดท้าย คือ คุมไม่ได้ คนที่เป็นความดันโลหิตสูง หรือ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสที่จะกระตุ้นให้เกิดครรภ์เป็นพิษได้ ดังนั้น คนอ้วนก็ท้องได้ แต่ความน่ากังวล คือ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์และระหว่างการคลอดมากกว่า"

 

น้ำหนักเกิน เตรียมพร้อมมีบุตรอย่างไร

 

กรณีที่คนอ้วน ต้องการรักษาภาวะมีบุตรยาก สิ่งแรก คือ ต้องค้นหาโรค หากเจอโรคต้องรักษาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เช่น เบาหวาน ความดัน หากท้องจะส่งผลกระทบในตอนท้อง หากควบคุมโรคไม่ได้ ไม่แนะนำให้ตั้งครรภ์ เพราะเสี่ยงสูง การใช้ยาค่อนข้างยาก 

 

นอกจากนี้ ควรลดน้ำหนักให้อยู่ภาวะปกติก่อนท้อง ลดอาการแทรกซ้อนตอนท้อง ไม่ว่าจะเป็นการแท้งบุตร ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือหากไม่มีโรคอาจเป็นเบาหวานตอนตั้งครรภ์

 

ลดน้ำหนักไม่ได้ ท้องได้ไหม

 

หากลดน้ำหนักไม่ได้ ท้องได้ เนื่องจากปัจจุบัน มีเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ 2 อย่าง คือ 

 

การฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก (IUI)

แต่ปัญหา คือ การฉีดน้ำเชื้อเป็นการคัดเชื้ออสุจิฉีดเข้าสู่โพรงมดลูก แต่หากฝ่ายชายมีปัญหาเรื่องน้ำเชื้อ มีภาวะอ้วน น้ำเชื้อไม่แข็งแรง เจือจาง การทำ IUI ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น วิธีนี้ ต้องมีฝ่ายชายที่มีน้ำอสุจิที่แข็งแรง เข้มข้นมากพอ 

 

การทำอิ๊คซี 

เลือกอสุจิที่ดูดีที่สุด สมบูรณ์ คาดว่าจะแข็งแรงที่สุด ยิงเข้าสู่ไข่เพียง 1 ตัว แน่นอนว่ามีโอกาสปฏิสนธิ100% เพียงแต่ว่าจะได้ตัวอ่อนสมบูรณ์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสารพันธุกรรม หรือ โครโมโซม ของไข่และอสุจิ เพราะเราไม่สามารถตรวจก่อนปฏิสนธิได้ เพียงแต่ตอนเลือก แพทย์จะมีเกณฑ์คัดเลือกอสุจิและไข่ที่สมบูรณ์ 

 

"ดังนั้น คนอ้วนสามารถใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ได้ เพียงแต่โครโมโซม ของอสุจิมีโอกาสผิดเพี้ยนได้มากกว่าคนน้ำหนักเกณฑ์ปกติ เวลาปฏิสนธิ จะได้ตัวอ่อนที่สมบูรณ์น้อยกว่าคนที่น้ำหนักเกณฑ์ปกติ และในผู้หญิงที่น้ำหนักตัวเกิน โอกาสแท้งสูงกว่าคนน้ำหนักปกติด้วย คนอ้วนท้องได้ โอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่า โอกาสเสี่ยงสูงกว่าด้วย" 

 

ลดน้ำหนัก 10% เพิ่มอัตราตกไข่

 

การลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อเพิ่มการตกไข่ หากลดได้ 10% ของน้ำหนักตัวเดิมจะเพิ่มอัตราการตกไข่ ส่วนใหญ่จะตกไข่ได้เองใน 6 เดือน ผลพลอยได้ คือ สุขภาพคุณแม่ดีขึ้น 

 

กินยาคุมมานาน ส่งผลต่อการมีบุตรยากหรือไม่

 

สำหรับคนที่กินยาคุมมานาน เนื่องจากยาไปกดการทำงานของรังไข่ ทำให้คุมกำเนิดได้ ทันทีที่หยุดยาคุม มี 2 รูปแบบ คือ 

 

กลุ่มหนึ่ง หลังจากหยุดยาคุม มีประจำเดือนทุกเดือน ตั้งครรภ์ได้ และมีงานวิจัยว่า หลังจากหยุดยาคุมในช่วงแรกบางคนมีโอกาสท้องแฝด 

 

กลุ่มที่สอง บางคนรังไข่ขี้เกียจ เพราะไม่ได้ทำงานมานาน ทำให้ไม่ทำงานไปเลย เหมือนหลับไม่ตื่น ให้สังเกตว่าหลังจากหยุดการใช้ยาคุมกำเนิดไม่ว่าจะยากิน ยาฉีด ยาฝัง ภายใน 6 เดือน หากประจำเดือนมาไม่ปกติ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อใช้ยากระตุ้นรังไข่ ให้กลับมาทำงานได้