นอนเยอะไม่ได้แปลว่าดี เพราะอาจเสี่ยงเป็น “โรคนอนเกิน” ส่งผลร้ายถึงสมอง

นอนเยอะไม่ได้แปลว่าดี เพราะอาจเสี่ยงเป็น “โรคนอนเกิน” ส่งผลร้ายถึงสมอง

หลายคนอาจรู้สึกว่าการได้นอนพักผ่อนนานหลายชั่วโมง ทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นอาจจะเป็นเรื่องปกติ แต่หารู้ไม่ว่าร่างกายกำลังส่งสัญญาณเตือนว่ากำลังเสี่ยงเป็น “โรคนอนเกิน” อยู่ ซึ่งส่งผลเสียถึงสมองเลยทีเดียว

คุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่ ? ตื่นนอนยากผิดปกติ รู้สึกว่าตนเองนอนเท่าไรก็ไม่พอ ง่วง เพลีย อยากงีบหลับวันละหลายครั้ง หรือนอนเกินวันละ 9 ช.ม. นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาณที่กำลังบ่งบอกว่ามีความเสี่ยงเป็น “โรคนอนเกิน” ซึ่งเกิดได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก หากสังเกตตนเองแล้วพบว่ามีอาการตรงกับตนเองหลายข้อควรรีบพบแพทย์เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อร่างกายและสมองต่อไปในอนาคต

โรคนอนเกิน (Hypersomnia) หรือ การหลับเกินพอดี เรียกได้ว่าเป็นสิ่งผิดปกติและคนที่มีภาวะนี้จะตื่นนอนยากกว่าคนทั่วไป และเมื่อตื่นแล้วจะรู้สึกว่าต้องการนอนต่ออีก ระหว่างวันก็ต้องการงีบหลับหลาย ครั้ง และการงีบก็อาจเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากนิสัยเกียจคร้าน หรือบุคลิกภาพส่วนตัว แต่เกิดจากโรคทางกายหรือทางใจ ต้องรีบไปพบแพทย์

  • วิธีสังเกตสัญญาณเตือน โรคนอนเกิน

- ตื่นนอนยากผิดปกติ

- นอนเท่าไรก็ไม่พอ เพราะยังรู้สึกง่วง เพลีย

- อยากงีบนอนวันละหลายครั้ง

- หากมีอาการหนักมาก อาจงีบหลับในสถานการณ์ที่ไม่ควรหลับ เช่น ทานข้าว หรือ ทำงาน

- หงุดหงิดง่ายกับเรื่องเล็กน้อย

- ความจำไม่ค่อยดี สมองไม่ค่อยแล่น คิดอะไรไม่ค่อยออก หรือคิดช้าทำช้า

- มีความวิตกกังวล หรือมีอาการซึมเศร้าโดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

 

  • สาเหตุที่นอนอย่างไร ก็นอนไม่พอ

- อดนอนมาเป็นเวลานาน จนร่างกายพักผ่อนไม่พอ

- นาฬิกาชีวภาพในร่างกายแปรปรวน ปรับเวลาผิด เช่น เดินทางข้ามประเทศที่ต่างช่วงเวลากันมาก

- ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในสมองผิดปกติ

- นอนกรน มีภาวะการหยุดหายใจในช่วงหลับ ทำให้ร่างกายรับออกซิเจนไม่เพียงพอ

- เนื้องอกในสมอง และโรคอื่น ๆ ที่ทำให้อยากนอนตลอดเวลา

 

  • ผลเสียจาก โรคนอนเกิน

- สมองทำงานช้า ทำให้ความคิดความอ่านช้าตามไปด้วย รู้สึกเฉื่อยชา กลายเป็นคนไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีชีวิตชีวา ไม่อยากขยับร่างกาย ทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อไม่ค่อยถูกใช้งาน ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคเกี่ยวกับกระดูกได้

- อ้วนง่าย การนอนทำให้ระบบอาหารไม่ย่อย แม้จะทานน้อยแต่ระบบเผาผลาญไม่ทำงาน ร่างกายเริ่มสะสมไขมัน ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น โรคหัวใจ ความดัน และ เบาหวาน

- มีบุตรยาก ผลจากการศึกษาผู้หญิงเกาหลีใต้ ในปี 2013 พบว่าผู้ที่นอนนานเกินวันละ 9 ชั่วโมงต่อวัน จะเกิด ภาวะมีบุตรยาก กว่าคนที่นอน 7-8 ชั่วโมง ถึง 650 คน เพราะฮอร์โมนและรอบเดือนของผู้หญิงจะเป็นปกติก็ต่อเมื่อได้รับการพักผ่อนอย่างพอดี

- เสียชีวิตเร็ว คนที่หลับง่ายและนอนนานเกินไป จะไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย ส่งผลให้ออกซิเจนไม่ไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่นอนอย่างพอดีถึง 1.3%

- โรคซึมเศร้า ในปี 2012 ได้มีการศึกษาผู้หญิงสูงวัยที่นอนมากกว่า 9 ชั่วโมงนั้นจะมีอารมณ์แปรปรวน สมองทำงานแย่ลงเพราะสารแห่งความสุขจะผลิตน้อยลง ซึ่งเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนที่นอนปกติถึง 49% โดยเฉพาะ เคมีอารมณ์ สารความสุข จำพวก เซโรโทนิน (Serotonin) และ เอนดอร์ฟิน (Endorphin) ลดต่ำลง

 

  • การจัดการกับโรคนอนเกินเบื้องต้น

- ตั้งเวลาเข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่ม เพื่อให้ร่างกายมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น เพราะปกติร่างกายจะนอนหลับเป็นรอบ ถ้าเริ่มตั้งแต่ช่วงสะลึมสะลือจนถึงขั้นหลับลึก จะกินเวลารอบละ 90 นาที คืนละ 5-6 รอบ ยิ่งนอนหัวค่ำก็จะทำให้มีโอกาสที่จะนอนได้หลับลึกมากยิ่งขึ้น

- กำหนดตารางเข้านอน และตื่นนอนเวลาเดียวกันทุกวัน ติดต่อกัน 28 วัน ร่างกายจะสร้างระบบนาฬิกาชีวิตของตัวเราเองขึ้นมาใหม่ จะตื่นได้เองอย่างสดชื่นโดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุก

- จัดห้องนอนให้โปร่ง อากาศระบายได้ดี ร่างกายที่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอจะทำให้สมอง เซื่องซึม และง่วงนอนตลอดเวลา

- ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ สร้างออกซิเจนในเลือดให้มากขึ้น และยังทำให้ร่างกายไม่มีการขยับมากขึ้น

- งดอาหารประเภทจังค์ฟู้ด น้ำอัดลม แป้งขัดขาว เบเกอรี่ ซึ่งทำให้น้ำตาลในเลือดไม่ปกติ ร่างกายคุมไม่ได้ ทำให้ง่วง เนือย ตอนที่ระดับน้ำตาลตก

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงลักษณะอาการและการแก้ไขปัญหาโรคนอนเกินในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ในผู้ที่มีอาการหนักและไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเองควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเป็นอาการเริ่มต้น หรืออาการแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ หรือไม่ และสำหรับใครที่ไม่ได้เข้าข่ายตามสัญญาณดังกล่าวก็อย่าเพิ่งชะล่าใจเพราะโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้เสมอหากร่างกายไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร

อ้างอิงข้อมูล : รามาชาแนล และ รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ