“ฝีดาษลิง” ไม่ติดต่ออันตราย สาธารณสุขไทยรองรับได้

“ฝีดาษลิง” ไม่ติดต่ออันตราย สาธารณสุขไทยรองรับได้

แม้ว่า WHO จะประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่สธ.ไทยยังคงให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังต่อไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่เข้านิยามโรคติดต่ออันตราย

ประเทศไทยยังไม่ประกาศให้โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่ออันตราย แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) จะประกาศให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการวิชาการ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งประชุมกันไปวานนี้ (25 ก.ค.) ให้คงการเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังต่อไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทยขณะนี้ยังไม่เข้านิยามโรคติดต่ออันตราย ซึ่งต้องมีอาการรุนแรง และแพร่ได้ง่าย รวดเร็ว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ยกระดับศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโรคฝีดาษวานร (EOC) จากระดับกรมควบคุมโรคเป็นระดับกระทรวงไว้รับมือหากมีการแพร่ระบาดแล้ว

“โรคฝีดาษลิง” ระบาดระลอกใหม่ เมื่อต้นเดือนพ.ค. 2565 ปัจจุบัน มีการแพร่ระบาดไปแล้วมากถึง 75 ประเทศ ผู้ติดเชื้อมากกว่า 16,000 ราย ซึ่งการติดเชื้อฝีดาษลิงส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคฝีดาษลิง ซึ่งมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองที่ผิวหนังตามตัว รวมทั้งการสัมผัสเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ประเทศไทยได้มีการวินิจฉัยยืนยันผู้ติดฝีดาษลิงรายแรกที่ภูเก็ต ล่าสุดผลการตรวจหาเชื้อโรคจากตัวอย่างเชื้อที่เก็บจากแผลของผู้ติดเชื้อรายแรกทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนที่เคยปลูกฝีดาษไปก่อนหน้านี้เบื้องต้นเชื้อไม่ค่อยขึ้น รวมทั้งผลตรวจสิ่งของต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยออกมาเป็นลบทั้งหมด

เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน กรมการแพทย์ ได้จัดทำแนวทางการรักษาและสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ในเรื่องการดูแลรักษาให้ชัดเจน เพิ่มความระมัดระวังคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุมทุกกลุ่มครบถ้วนเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังหากมีการแพร่ระบาดมากขึ้น และเตรียมการรองรับหากกรณีที่มีผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าระบบสาธารณสุขของไทยมีความสามารถในการรองรับได้ พร้อมจัดทำประกาศเสนอให้รมว.สาธารณสุข ลงนามปลดล็อกให้ห้องแล็บระดับ 2 ตรวจหาเชื้อฝีดาษวานรได้ เพิ่มเติมจากที่พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ได้ กำหนดให้เฉพาะห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 (แล็บ) เท่านั้นเพื่อให้ดำเนินการได้รวดเร็ว

หากจำเป็นต้องต้องเฝ้าระวังโรคนี้อย่างใกล้ชิดและเตรียมการรองรับฉีดวัคซีนฝีดาษคน (smallpox) ก็มีวัคซีนที่เก็บไว้ประมาณ 500,000 โดสนานกว่า 40 ปี ซึ่งได้นำมาตรวจสอบประสิทธิผลพบว่ามีคุณภาพตามมาตรฐานวัคซีนไวรัสทั่วไป หากเกิดการระบาดขึ้นน่าจะนำมาใช้ในการป้องกันโรคได้ ซึ่งธรรมชาติของโรคฝีดาษลิงสามารถหายได้เอง ล่าสุดสธ.สิงคโปร์ไม่แนะนำฉีดวัคซีนให้ประชาชนวงกว้าง เนื่องอาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และคนที่เพิ่งฉีดวัคซีนสามารถติดเชื้อจากคนที่ไม่ได้ฉีดได้ถ้าสัมผัสใกล้ชิด