ผู้ปกครองควรรู้ “เด็กติดโควิด” ต้องทำอย่างไร หลังกรณี “กรุงเทพคริสเตียน”

ผู้ปกครองควรรู้ “เด็กติดโควิด” ต้องทำอย่างไร หลังกรณี “กรุงเทพคริสเตียน”

จากกรณี รร.กรุงเทพคริสเตียนพบ "เด็กติดโควิด" จำนวนมากจนต้องกลับไปใช้ระบบ "เรียนออนไลน์" ทำให้ผู้ปกครองต้องหันมาใส่ใจลูกหลานมากขึ้น แม้จะเปิดเทอมมาแล้ว 2 เดือน แต่ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

หลังการเปิดเทอมแบบออนไซต์เต็มรูปแบบกลับมาในเทอมนี้ ปรากฏว่า เว็บไซต์ BANGKOK CHRISTIAN COLLEGE  ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ออกประกาศเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียน หลังพบครูและนักเรียนติดโควิดกว่า 700 คน

โดยระบุว่า โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนในช่วงวันที่ 11-19 ก.ค. 2565 ด้วยตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ที่โรงเรียนเริ่มเปิดทำการเรียนการสอนจนถึงปัจจุบัน แต่ล่าสุด สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในโรงเรียนนั้น พบจำนวนนักเรียนและบุคลากรติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทำให้ผู้ปกครองต้องกลับมาใส่ใจปัญหาเรื่อง “เด็กติดโควิด” อีกครั้ง

เพราะนอกจากตัวเลข "ผู้ติดเชื้อ" ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. แถลงข่าวหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เรื่อง มติบอร์ด สปสช. ต่อแนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 หลังปรับเป็นโรคประจำถิ่น ระบุว่า

ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประกาศผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และโควิดเข้าสู่ระยะ Post-Pandemic และในวันนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็จะนำเรื่องการปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นเข้าที่ประชุม ศบค. ด้วย

นอกจากนี้ ปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่มีการเรียนการสอนแบบ "ออนไซต์" การที่ปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นนั้น ก็อาจจะสร้างความกังวลให้ผู้ปกครองในประเด็น "เด็กติดโควิด" มากพอสมควร

  • วิธีสังเกตอาการ "เด็กติดโควิด"

ในขั้นแรกหากพบว่าเด็กมีอาการ ไอ จาม มีน้ำมูก คัดจมูก เจ็บคอ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ให้ผู้ปกครองสงสัยไว้ก่อนว่าบุตรหลานของตนมีอาการที่เข้าข่ายติดโควิด ซึ่งในระยะนี้สามารถใช้ ATK ในการตรวจก่อนได้

หากพบว่าติดโควิดก็ยังสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ แต่ถ้าเด็กมีอาการดังต่อไปนี้ คือ มีไข้สูงต่อเนื่อง ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อยลง ผู้ปกครองควรพาไปโรงพยาบาลทันที

 

  • การป้องกัน "เด็กติดโควิด" เบื้องต้น

เนื่องจากตอนนี้เป็นการเปิดเทอมที่กลับมาเรียนแบบออนไซต์เต็มรูปแบบ เด็กๆ ที่ยังมีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าผู้ใหญ่ และต้องอยู่รวมกันภายในโรงเรียนเป็นเวลาหลายชั่วโมง จึงมีความเสี่ยงที่จะติดโควิดได้ง่าย

ดังนั้น ผู้ปกครองจะต้องเน้นย้ำบุตรหลานว่า เมื่อต้องไปโรงเรียน หรือทุกครั้งที่ออกจากบ้านจะต้องล้างมือบ่อยๆ เตรียมของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เช่น แก้วน้ำ กระติกน้ำ ช้อนส้อม รู้จักการใส่และเก็บหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี และเมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ

 

  • เมื่อ "เด็กติดโควิด" ต้องรักษาตัวที่บ้าน

เนื่องจากเด็กๆ ยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างเต็มที่ รวมถึงเด็กบางคนยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด ดังนั้นผู้ปกครองจะต้องจัดสรรให้เด็กติดโควิดสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้ในกรณีที่อาการไม่หนักมาก ซึ่งในเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้

1. เตรียมห้องสำหรับอยู่อาศัยตลอดระยะเวลากักตัว และไม่ให้ออกจากห้องพัก (ยกเว้นกรณีไม่มีห้องน้ำภายในห้อง สามารถออกมาใช้ห้องน้ำด้านนอกได้) ซึ่งสามารถใช้ห้องนอนของเด็กได้

2. จัดหาอาหารและของใช้จำเป็นให้ โดยที่เด็กไม่ต้องออกจากห้อง

3. ผู้ปกครองและผู้ที่อยู่อาศัยร่วมบ้าน ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องสุขอนามัย เช่น สวมใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือ เวลานำสิ่งของไปให้เด็ก รวมถึงแยกของใช้ส่วนตัวของเด็กออกจากส่วนรวม เช่น จาน ช้อน ส้อม

4. ก่อนจะเริ่มกักตัว ผู้ปกครองจำเป็นต้องสอนวิธีการใช้ ATK เพื่อตรวจดูเชื้อในแต่ละวันด้วยตนเอง โดยถ้าเป็นการตรวจแบบน้ำลายจะง่ายต่อตัวเด็กมากขึ้น หรือหากเป็นเด็กเล็กผู้ปกครองจำเป็นต้องเข้าไปตรวจให้

5. สอบถามอาการเด็กอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงพูดคุยกับเด็กผ่านโทรศัพท์หรือช่องทางอื่นๆ เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว

6. หากเด็กมีอาการแย่ลง ผู้ปกครองจะต้องนำเด็กส่งโรงพยาบาลทันที

 

  • การเข้ารับการรักษาเมื่อโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

การรักษาตัวตามสิทธินั้น หากป่วยโควิดสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องมีใบส่งตัว เพราะโควิดถึงแม้อาการไม่รุนแรง แต่ถือเป็นโรคภาวะฉุกเฉิน ทุกคนสามารถรักษาพยาบาลได้ทุกที่ ส่วนการบริการ Home Isolation หรือ HI ถ้าโรงพยาบาลพร้อมให้บริการก็ยังสามารถเบิกจ่ายจาก สปสช. ได้

โดยผู้ป่วยนอกหากสงสัยว่าตนเองมีอาการ สามารถไปรับชุดตรวจ ATK ในร้านยาที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนำมาตรวจเองได้ และเมื่อมีผลตรวจเป็นบวกหรือขึ้น 2 ขีด ก็สามารถรับยาที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ หรือไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน

ถ้าโรงพยาบาลใกล้บ้านดูแลรักษาจะเป็นหน่วยบริการประจำ โรงพยาบาลจะสามารถมาเบิกที่ สปสช. และนอกหน่วยก็สามารถเบิกได้

นั่นหมายความว่า หาก "เด็กติดโควิด" จะทำ HI ได้ก็ต่อเมื่อโรงพยาบาลพร้อมให้บริการเท่านั้น และผู้ปกครองสามารถไปซื้อยาที่ร้านยาในโครงการของ สปสช. และไปโรงพยาบาลเองได้โดยไม่ต้องมีการทำเรื่องส่งตัว เท่ากับว่าไม่จำเป็นต้องเข้าระบบ

ดังนั้นหากโรงพยาบาลใกล้บ้านไม่พร้อมให้บริการ HI จึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องศึกษาวิธีการดูแล "เด็กติดโควิด" อย่างรอบคอบก่อนในเบื้องต้น

-----------------------------------------

อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลศิครินทร์