รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ดัน “กัญชาทางการแพทย์” ครบวงจร

รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ดัน “กัญชาทางการแพทย์” ครบวงจร

“กัญชาทางการแพทย์” เป็นวัตถุประสงค์ปลดล็อกพ้นยาเสพติด ส่งผลให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยได้ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย โดยจะต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ที่ผ่านการอบรมหรือหมอพื้นบ้านหรือแพทย์แผนไทย ซึ่งมีสารสกัด และน้ำมันกัญชา 7 ตัวที่มีใช้อยู่

การใช้ กัญชาทางการแพทย์ แผนปัจจุบัน ตามคำแนะนำของ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 เดือนม.ค.2564 ระบุว่า กัญชา รักษา 6โรค/ภาวะ ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายาก ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาท ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อยเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยระยะสุดท้าย และพบหลักฐานเชิงประจักษ์ในการช่วยควบคุมอาการแต่ไม่ได้รักษาให้โรคหายขาดอีก 4 โรค

1.โรคพาร์กินสัน

2.โรคอัลไซเมอร์

3.โรควิตกกังวลทั่วไป

4.โรคปลอกประสาทอักเสบ

 

ทั้งนี้ ไม่ได้แนะนำเป็นทางเลือกแรกในการรักษา ปัจจุบัน องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีการผลิตสารสกัดน้ำมันกัญชา 4 สูตร ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบด้วย

THC3 มิลลิกรัมต่อหยด THC0.5 มิลลิกรัมต่อหยด ข้อบ่งใช้ ดูแลรักษาแบบประคับประคอง (ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ปวด เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ) ใช้ตามแพทย์สั่ง

CBD 4 มิลลิกรัมต่อหยด ข้อบ่งใช้ โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา ใช้ตามแพทย์สั่ง

THC 1 มิลลิกรัม และ CBD1 มิลลิกรัมต่อหยด ข้อบ่งใช้ ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ใช้ตามแพทย์สั่ง

กัญชาทางการแพทย์ครบวงจร

 

“พญ.โศรยา ธรรมรักษ์”  ผู้อำนวยการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ดำเนินนโยบายกัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่ปลูก ผลิตและใช้ ตั้งแต่ ปี 2562 และยังเป็นรพ.แห่งแรกที่ เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 โดยมีการให้บริการกัญชาการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยควบคู่กันไป ปัจจุบันมีผู้ป่วยกว่า 2,000 รายที่รับยากัญชาจากคลินิกของโรงพยาบาล และผู้ป่วยราว ๆ 10,000 รายทั่วประเทศที่รับยาที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผลิต

 

จากการให้บริการ ทำให้เห็นศักยภาพของยากัญชาในการดูแลปัญหาสุขภาพของคนไทย โดยโรคหรืออาการเจ็บป่วยที่ตอบสนองต่อยากัญชาได้ดี คือ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่มีอาการปวด นอนไม่หลับและเบื่ออาหาร กลุ่มอาการปวดเรื้อรัง และโรคสะเก็ดเงิน โดยมีผู้ป่วยมากกว่าครึ่งที่สามารถลดการใช้ยาแผนปัจจุบันลงได้ ส่วนโรคปวดเส้นประสาท พาร์กินสัน ยังคงต้องติดตามผลการรักษาต่อไป เนื่องจากผู้ป่วยยังมีจำนวนน้อย

 

มีการเก็บข้อมูลในด้านความปลอดภัยผู้ป่วยทุกรายพบว่า ผู้ป่วยมีอาการไม่พึงประสงค์จากยากัญชาแผนปัจจุบัน 20 %-30 % และยากัญชาแผนไทย 2 %-5 % แต่เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่สามารถจัดการได้ โดยส่วนใหญ่มักเกิดในช่วงสัปดาห์แรก และเป็นอาการที่ไม่รุนแรง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ปวดศีรษะ มึนงง

 

นอกจากนั้น ยังพบว่า ยากัญชาไม่ส่งผลต่อการทำงานของตับและไต หากผู้ป่วยนั้นตับและไตยังทำงานได้ดี แต่ในผู้ป่วยที่มีตับหรือไตทำงานไม่ดีแล้ว ยากัญชาก็อาจมีผล แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากกัญชาหรือไม่ เพราะมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้อง เช่น โรค อายุ และยาอื่นที่ใช้ร่วมที่ส่งผลต่อการทำงานของตับและไตเช่นกัน

ในผู้ป่วยโรคปวดเส้นประสาทที่ไม่ตอบสนองต่อยามาตรฐาน ให้ยากัญชาไป พบว่าการลดลงของอาการปวดไม่มาก ผู้ป่วยยังคงมีอาการปวด แต่สามารถนอนหลับได้ดีขึ้น ผู้ป่วยมะเร็งหลายราย มีแผลที่ปะทุออกมาทางผิวหนัง เอาไปทาแผล หยอดใต้ลิ้นด้วย ภายหลังแผลหายดี

 

พุ่งเป้าโรคกัญชารักษาได้ผล

 

จากนี้ไปรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะพุ่งเป้าโรคที่ยากัญชาได้ผลดี ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย นอนไม่หลับ ขณะนี้ได้รับการประสานจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมจัดทำโครงการวิจัยยากัญชาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยจะทำร่วมกับสถาบันหลายแห่ง เรียกว่า multicenter research สร้างความมั่นคงทางสุขภาพ และเศรษฐกิจ

 

ส่วนในโรคสะเก็ดเงินนั้น นำมาบูรณาการกับคลินิกสะเก็ดเงินทางการแพทย์แผนไทย ซึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยในคลินิกประมาณ 60% ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาสมุนไพรแบบรับประทานจะนำมาวิจัยเพิ่มเติมว่าหากใช้ยาทาภายนอกขี้ผึ้งกัญชาผสมขมิ้นชันเสริมเข้ามา จะเพิ่มผลการรักษาได้มากขึ้น

 

ทั้งนี้ ได้พัฒนาฐานข้อมูลออนไลน์ เพื่อรวบรวมผลการรักษาด้วยยากัญชาจากโรงพยาบาลต่างๆ และสามารถพัฒนางานวิจัยจากฐานข้อมูลดังกล่าว อาทิ การใช้ยาสารสกัดกัญชา THC ร้อยละ 1.7 ในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย ผู้ป่วยปวดปลายประสาท ผลการรักษาด้วยยาน้ำมันกัญชาทั้ง 5 (ดอก เมล็ด ราก ใบ และกิ่งก้าน) ในผู้ป่วยนอนไม่หลับเรื้อรัง ซึ่งพบว่า

  • มีผู้ป่วยลดการใช้ยานอนหลับร้อยละ 54.17
  • และหยุดการใช้ยานอนหลับร้อยละ 43.06

โดยยาทั้งหมดนี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ประชาชนสามารถรับการรักษาได้หากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

 

วิจัยกัญชาแทนยานอนหลับ

 

รวมทั้งมีแผนการวิจัยยากัญชาทั้ง 5 เพื่อมาทดแทนยานอนหลับ ซึ่งปัจจุบันคนไทยประสบปัญหานอนไม่หลับถึง 19 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรไทย ซึ่งหากพัฒนาสำเร็จเข้ามาทดแทนยานอนหลับ จะลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศและเพิ่มโอกาสส่งออกเพราะการนอนไม่หลับเป็นปัญหาสุขภาพของคนทั่วโลก และตลาดผลิตภัณฑ์และยานอนหลับทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.4 ล้านล้านบาท

 

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาตำหรับยาอื่นๆ อาทิ ยากัญชาผสมขมิ้นชัน เป็นยาใช้ภายนอกในผู้ป่วยสะเก็ดเงินระยะแรก และการพัฒนากัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจรดำเนินการควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจของสังคมให้ใช้กัญชาอย่างปลอดภัย โดยมีศูนย์ข้อมูลกัญชา ตอบคำถามภาคประชาชน ผ่าน chatbot การฝึกอบรม และการจัดทำคู่มือการใช้ภาคประชาชน

 

ขณะนี้ ได้เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ แผนปัจจุบัน ให้บริการทุกวันจันทร์สัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน เวลา 13.00 น- 16.00 น. และ คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย เปิดให้บริการทุกวัน เงลาราชการ ผู้ที่สนใจ สามารถ โทรปรึกษาก่อนเดินทางมารับบริการ ที่หมายเลข 037 211289 ในวันและเวลาราชการ

 

รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ดัน “กัญชาทางการแพทย์” ครบวงจร