จับตาบิ๊กล็อต ‘แกรมมี่’ 'จุฬางกูร' รุกคืบ ทำดีลปริศนา มีนัยสำคัญ !

พบ BIG LOT หุ้น GRAMMY จำนวน 94.56 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 6 บาท มูลค่า 567.35 ล้านบาท บริษัทยืนยันไม่มีการเปลี่ยนแปลงการบริหาร นักวิเคราะห์ ตั้งข้อสังเกตรายการบิ๊กล็อตข้างต้นกลุ่มที่มี “หุ้นในมือ” ที่จะสามารถทำรายการดังกล่าวได้ มีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ถึง 4 คือ กลุ่ม จุฬางกูร
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 พ.ค.2568) พบมีการทำรายการซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดานใหญ่ (BIG LOT) ของหุ้น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY จำนวน 94.56 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 6 บาท มูลค่า 567.35 ล้านบาท
ร้อนถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไม่อาจนิ่งนอนใจประสานขอความร่วมมือให้ GRAMMY ไขข้อข้องใจดังกล่าวโดยทันที ! สะท้อนผ่านวานนี้ (19 พ.ค.68) GRAMMY ชี้แจงรายการ Big Lot ดังกล่าวทันที ว่า บริษัทไม่มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานอันสืบเนื่องจากรายการ Big Lot ดังกล่าว และปัจจุบันไม่มีความคืบหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ระยะเวลาอันใกล้เกี่ยวกับการบริหารงาน โครงสร้างองค์กร หรือเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจควบคุมแต่อย่างใด...
อย่างไรก็ตาม รายการ Big Lot ข้างต้นถือว่า “มีนัยสำคัญ” ที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนหรือลำดับการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ โดยจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบโดยทันทีเมื่อรับทราบข้อมูลดังกล่าว ปัจจุบันยังไม่ได้รับแจ้งหรือรับทราบข้อมูลในรายละเอียด โดยยังไม่พบการรายงานแบบรายงานการได้มา หรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) สำหรับรายการ Big Lot ดังกล่าว
หากดูโครงสร้างผู้ถือหุ้น 5 อันดับแรก GRAMMY คือ อันดับ 1.บริษัท ฟ้า ดำรงชัยธรรม ถือหุ้น 52.05% อันดับ 2. นายทวีฉัตร จุฬางกูร 16.43% อันดับ 3.นายณัฐพล จุฬางกูร 9.89% อันดับ 4.นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร 8.13% และอันดับ 5. นายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ 2.77%
ย้อนเส้นทางปฏิบัติการถือหุ้น “กลุ่มจุฬางกูร” มักจะใช้กลยุทธ์ “ซื้อหุ้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่” สะท้อนผ่าน
“กลุ่มจุฬางกูร” ถือหุ้นใหญ่ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC , บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SE-ED เป็นต้น
“กิจพณ ไพรไพศาลกิจ” รองกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากรายการบิ๊กล็อตดังกล่าว หลัง GRAMMY แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการบริหาร” นั่นแปลว่า บิ๊กล็อตไม่ได้มาจาก “ผู้ถือหุ้นใหญ่” ลำดับ 1 คือ บริษัท ฟ้า ดำรงชัยธรรม จำกัด สัดส่วน 52.05% ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้นรายนี้ ซึ่งเป็นของ “ตระกูลดำรงชัยธรรม”
ดังนั้น อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า รายการบิ๊กล็อตข้างต้นกลุ่มที่มี “หุ้นในมือ” ที่จะสามารถทำรายการดังกล่าวได้ มีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ถึง 4 ซึ่งเป็นของ “ตระกูลจุฬางกูร” สอดคล้องกับสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มจุฬางกูรที่เข้ามากระชับพื้นที่ในหุ้น GRAMMY นานพอสมควรแล้ว
สอดรับก่อนหน้ามีการขายปรับโครงสร้างระหว่างกัน “ณัฐพล จุฬางกูร” ผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 3 มีการขายให้ “หทัยรัตน์ จุฬางกูร” ลำดับที่ 4 ทีนี้ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ในการทำบิ๊กล็อตได้ก็จะมี “ทวีฉัตร จุฬางกูร” ผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 กับ “หทัยรัตน์” ผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 4 ฉะนั้น จึงเป็นไปได้อาจจะเป็นการ “ลดการถือหุุ้นให้ผู้ถือรายอื่น” หรือ “อาจจะเป็นโยกระหว่างกลุ่มจุฬางกูร” ในการปรับโครงสร้างการถือหุ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับ GRAMMY ถือเป็นหนึ่งใน “ผู้นำด้านธุรกิจบันเทิง” แต่ปัจจุบันภาพของธุรกิจเปลี่ยนไป หากย้อนดูตั้งแต่ปี 2559 GRAMMY เคยมีรายได้มากว่า 7,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันรายได้ 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งผลประกอบการค่อนข้างคาดการณ์ “ยาก” โดยในช่วง 9 ปีหลัง “ขาดทุน” ถึง 4 ปี มีเพียง 5 ปีที่ “ทำกำไร” แต่กำไรที่เห็นนั้นไม่ใช่มาจากผลประกอบการ แต่มาจากกำไรในการปรับโครงสร้าง
ฉะนั้น ในมุมนักลงทุนอาจมองผลตอบแทน GRAMMY ระยะยาวอาจจะไม่ได้ดูดีมากนัก จึงอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งหรือไม่ที่ทำให้ผู้ถือหุ้น ที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงสถานะการลงทุน หรือเปลี่ยนแปลงภาพที่มองบริษัท อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องรอการชี้แจงจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์