'ประกันสังคม' ปัดถูกทาบให้ขาย 'หุ้น BCP'

'ประกันสังคม' ปัดถูกทาบให้ขาย 'หุ้น BCP'

“ประกันสังคม” ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 “บางจาก” ปัดถูกทาบขายหุ้นให้ “กลุ่มทุนการเมือง” ที่ต้องการมีส่วนร่วมใน “บางจาก” ลั่นนโยบายพร้อมขายหุ้นทันที “ทำกำไร” ที่มาพร้อมนักลงทุนรายใหญ่ “กองทุน Capital Asia Investment” ดอดเก็บหุ้นขึ้นแท่นผู้ถือหุ้น “อันดับ 4”

จากกระแสข่าว “กลุ่มทุนการเมือง” มีความพยายามเข้าถือครองหุ้น บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ผ่านทางนอมินีที่เป็น “กองทุนต่างชาติ” และมีการเจรจาให้ “กองทุนประกันสังคม” ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 สัดส่วน 14.18% (ณ 5 ก.ย.2567) ขายหุ้น BCP ออกมา 

สอดรับการเข้ามาถือหุ้นของ “กองทุน Capital Asia Investment” บริษัทจัดการกองทุนสัญชาติสิงคโปร์ ที่มุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะในธุรกิจพลังงาน และปิโตรเลียม ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) ของ BCP โดยพบว่า Capital Asia Investment ได้เข้าซื้อหุ้น BCP เมื่อ 20 ธ.ค.2567 ผ่าน CGS International Securities Singapore จำนวน 81,781,200 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.9394% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ 

ต่อมา เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2567 ได้เข้าซื้อหุ้น BCP เพิ่มอีก 55,911,200 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 4.0605% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ส่งผลให้หลังวันทำรายการ Capital Asia Investment จะถือหุ้น 137,692,400 หุ้น คิดเป็น 10% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้น “อันดับ 4” และมติคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อ 14 ก.พ.2568 แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า มีมติแต่งตั้ง “พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท มีผลตั้งแต่ 17 ก.พ.68 เป็นต้นไป

ดังนั้น ปัจจุบัน “กองทุนประกันสังคม” กำลังถูกจับตามองในประเด็นว่าจะมีการขาย “หุ้น BCP” ออกมาหรือไม่ ขณะที่ หากดูกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทย “ปลัดกระทรวงแรงงาน” ยืนยันไม่ทิ้งการลงทุนในหุ้นไทย เพียงแต่ปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่คือ หุ้นตัวไหนที่ “ทำกำไร” ได้ กองทุนประกันสังคมอาจจะมีการทบทวนขายไป และซื้อเข้าใหม่ได้ 

\'ประกันสังคม\' ปัดถูกทาบให้ขาย \'หุ้น BCP\'

อย่างไรก็ตาม จากกระแสข้างต้น มาพร้อมกับการมาของ “นักลงทุนรายใหญ่” กองทุน Capital Asia Investment และเป็นจังหวะ BCP กำลังอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญ จากจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่ปี 2567 ที่ผ่านมา BCP ได้ประกาศ “ดีลซื้อกิจการครั้งใหญ่” จาก บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) (ESSO) เพื่อขยายกำลังการผลิต และเครือข่ายสถานีและได้เปลี่ยนชื่อบริษัท ESSO เป็น บมจ.บางจาก ศรีราชา (BSRC) ซึ่งการควบรวมการครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิด “การผนึกกำลัง” (Synergy) ให้ BCP กลายเป็นโรงกลั่นที่มีกำลังการผลิตใหญ่สุด และสถานีบริการน้ำมันที่เพิ่มมากขึ้น นั่นย่อมส่งผลให้ “รายได้” ของ BCP เติบโตไปด้วย

ล่าสุด การประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจากผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ BSRC ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ลดความซับซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้น และเสริมสร้างศักยภาพทางการเงิน โดย BSRC เป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักของกลุ่มบางจาก ซึ่งการควบรวมครั้งนี้จะช่วยสร้าง Synergy ในการดำเนินธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ยังไม่มี ยังไม่ทราบรายละเอียด ซึ่งการที่ประกันสังคมจะขายหุ้นออกไป มีขั้นตอนของการขายหุ้นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการซื้อขายหุ้นปกติ และแนวทางที่ประกันสังคมกำหนด ทั้งนี้ ประกันสังคมเป็นนิติบุคคลมีอำนาจที่จะดูแลเรื่องนี้ได้เอง 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เปิดเผยว่า ณ ตอนนี้ หุ้น BCP เป็นหุ้นกลไกปกติ ซึ่งบอร์ดประกันสังคมจะไม่สามารถอนุมัติอะไรได้ ทั้งการขายหุ้น ขายสินทรัพย์ บอร์ดไม่ได้เป็นผู้อนุมัติ เป็นผู้วางแนวทางการบริหารการลงทุน

“ถ้าเป็นหุ้นปกติไม่ได้เป็นการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ สามารถซื้อขายได้ตามกลไกตลาด ไม่ว่าจะเป็นการขายมาก ขายน้อย ขายบิ๊กล็อต สามารถทำได้เพียงแค่วางหลักเกณฑ์”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์