BCP ตั้งโต๊ะเทนเดอร์แลกหุ้น BSRC ก่อนเตรียมเพิกถอนออกจากตลาด

BCP ตั้งโต๊ะเทนเดอร์แลกหุ้น BSRC ก่อนเตรียมเพิกถอนออกจากตลาด ด้านผลการดำเนินงานไตรมาส 4/76 กำไรสุทธิ 2,184 ล้านบาท จ่ายปันผล 0.45 บาท ขึ้น XD 13 มี.ค.68 จ่าย 24 เม.ย.68 นี้
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ได้แจ้งต่อ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 เพื่อพิจารณาอนุมัติการปรับโครงสร้างการถือหุ้น และการจัดการของบริษัท และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
ในการอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น และการจัดการของบริษัท โดยบริษัท จะดำเนินการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ (จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน) ให้แก่ผู้ถือหุ้นรายอื่นของบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC ที่บริษัท ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 81.7 ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ BSRC พร้อมกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ BSRC จากผู้ถือหุ้นรายอื่นของ BSRC เพื่อเพิกถอนหุ้นของ BSRC จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยวิธีการแลกเปลี่ยนหุ้นสามัญเดิมของ BSRC กับหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท
ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างบริษัท รวมถึงธุรกรรมการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ BSRC การเพิ่มทุน และการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ให้แก่ผู้ถือหุ้นรายอื่นของ BSRC ขึ้นอยู่กับการได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ BSRC ที่อนุมัติแผนการปรับโครงสร้างบริษัท และการเพิกถอนหุ้นของ BSRC จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ตลอดจนเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ BSRC ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง การที่บริษัท และ BSRC ได้รับแจ้งผลการอนุญาตเบื้องต้นจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างบริษัท การที่บริษัทได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ ที่ออกใหม่จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
อย่างไรก็ตาม ยังรวมถึงการได้รับอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการขอเพิกถอนหุ้นของ BSRC จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ BSRC และเมื่อบริษัทหรือ BSRC ได้แจ้งแก่หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องสำหรับการดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างบริษัทและแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น และการจัดการของ BSRC และได้ดำเนินการตามที่หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกำหนดแล้ว และเมื่อบริษัท และ BSRC ได้แจ้งขอความยินยอม หรือขอผ่อนผันจากคู่สัญญา และ/หรือเจ้าหนี้ตามสัญญา
โดยอนุมัติการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ BSRC จากผู้ถือหุ้นของ BSRC ไม่เกินจำนวน 631,859,702 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 4.9338 บาท (คิดเป็นร้อยละ 18.3 ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ BSRC อ้างอิงข้อมูลกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุด ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568) เพื่อเพิกถอนหุ้นของ BSRC จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
บริษัทฯ จะชำระราคาเสนอซื้อด้วยหุ้นสามัญที่ออกใหม่ของบริษัทฯ (share swap)ในอัตราการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ต่อ 6.50 หุ้นสามัญของ BSRC ทั้งนี้ หากมีเศษหุ้นจากการคำนวณหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท เพื่อจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นของ BSRC ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ในธุรกรรมการทำคำเสนอชื้อหลักทรัพย์ BSRC จะมีการปัดเศษนั้นนั้นทิ้ง
ทั้งนี้ บริษัทจะเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จำนวน 97,209,185.0 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 1,376,923,157.0 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 1,474,132,342.0 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวน 97,209,185 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.0 บาท เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นของ BSRC ที่ตอบรับคำเสนอชื้อหลักทรัพย์ในธุรกรรมการทำคำเสนอชื้อหลักทรัพย์ BSRC
โดย แผนการปรับโครงสร้างบริษัท เป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจาก ให้ สามารถตอบสนองต่อโอกาสทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มความแข็งแกร่งของผลประกอบการ อันทำให้โครงสร้างการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจาก มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยลดกระบวนการทำงาน และ ขั้นตอนการทำงานให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น การปรับโครงสร้างการถือหุ้น และการจัดการตามแผนการปรับโครงสร้าง บริษัทเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นภายในกลุ่มตามกฎหมายหลักทรัพย์
การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยของ BSRC ทุกรายด้วยเช่นกันเนื่องจากเป็นการ เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ BSRC ทุกรายที่จะมีสิทธิเข้าถือหุ้นของบริษัท
หากตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ BSRC ในธุรกรรมการคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ BSRC ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้น BSRC มีสภาพคล่องในการลงทุน ที่สูงขึ้น พร้อมทั้งกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Diversification) ผ่านการถือครองหุ้นของ BCP ซึ่งเป็นบริษัท ขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคง และความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน
นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ BSRC ทุกรายจะ ยังคงมีส่วนในการได้รับรู้รายได้จากการประกอบกิจการของ BSRC ผ่านการถือหุ้น BCP ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ BSRC ภายหลังดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างบริษัท เสร็จสิ้น
ขณะเดียวกันโครงสร้างกรรมการของ BSRC รวมถึงคุณสมบัติ การแต่งตั้ง และวาระการประชุมจะยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท ตามมาตรฐานการกำกับ ดูแลตามกฎหมายหลักทรัพย์ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 89/241 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. เนื่องจาก BSRC จะยังคงสถานะเป็นบริษัทย่อยของ BCP ตามกฎหมายหลักทรัพย์ ดังนั้น แผนการปรับโครงสร้างบริษัท จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัท และ BSRC ในภาพรวม และไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยของ BSRC แต่อย่างใด
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่า BCP ทำกำไรสุทธิปี 67 ที่ 2,184 ล้านบาท ลดลง 83% เหตุขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ และสต๊อกน้ำมัน แต่มีกำไรจากการดำเนินงาน 6,120 ล้านบาท ขณะที่มีปริมาณจำหน่ายน้ำมันสูงเป็นประวัติการณ์ 13.8 ล้านลิตร รวมถึงสามารถสร้าง Synergy สูงถึง 6,071 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเท่าตัว พร้อมประกาศปันผลอีกอัตรา 0.45 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่าย วันที่ 24 เมษายน นี้
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP เปิดเผยว่า กำไรสำหรับงวดปี 67 จากโครงสร้างธุรกิจที่มีความหลากหลายของกลุ่มบริษัท ทำให้สามารถชดเชยแรงกดดันบางส่วนจากอัตรากำไรการกลั่นที่อ่อนตัวลง และผลขาดทุนจากสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ 2,184 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.30 บาท
โดยบริษัท มีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ 2,184 ล้านบาท ลดลง 83% จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็น กำไรต่อหุ้น 1.30 บาท โดยภาวะตลาดที่ยังคง มีความผันผวนส่งผลให้รับรู้ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ทั้งสิ้น 806 ล้านบาท และขาดทุนที่เกิดขึ้นจาก Inventory Loss 2,258 ล้านบาท (รวมขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV)) จากราคาน้ำมันอ่อนตัวลง
ทั้งนี้ แม้ปี 67 จะเป็นปีที่เผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำมัน และค่าการกลั่นที่อ่อนตัวลง ส่งผลให้กำไรปรับตัวลดลงจากปีก่อน กลุ่มบริษัทบางจากยังคงสร้างสถิติใหม่ของรายได้จากการขาย และการให้บริการ 589,877 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องร้อยละ 53 โดยมี EBITDA ที่ 40,409 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ (ที่ไม่รวมรายการพิเศษ) 6,120 ล้านบาท ผ่านการขับเคลื่อนของ 5 กลุ่มธุรกิจ
โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการตลาด ที่มีปริมาณการจำหน่ายน้ำมัน 13,814 ล้านลิตร เติบโตอย่างก้าวกระโดดกว่าร้อยละ 61 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับการรู้ Synergy สูงถึง 6,071 ล้านบาท เหนือกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 2,500 ล้านบาท หลังจากการควบรวมกิจการ และรับรู้รายได้เต็มปีของบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัว และประสิทธิภาพของกลยุทธ์ที่กลุ่มบริษัทได้วางไว้ ตอกย้ำถึงศักยภาพ และความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
ในขณะเดียวกัน โครงสร้างธุรกิจที่หลากหลาย ยังทำให้บริษัท สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ผันผวนได้ มีโครงสร้างการเงินที่แข็งแกร่ง ยืนยันด้วยการปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของบางจากฯ โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เป็น A+ ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดตั้งแต่บริษัท ได้รับการจัดอันดับ
นอกจากนี้ บางจากฯ ยังได้รับการประเมินด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) ในระดับสูงสุดของโลกด้านความยั่งยืน Top 1% ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refinery and Marketing ใน S&P Sustainability Yearbook 2025 โดย S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) ผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี DJSI ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล
ทั้งนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และการเมืองโลกในปี 68 กลุ่มบริษัทบางจากเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการขยาย Synergy อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างรอบคอบ และระมัดระวัง กลุ่มธุรกิจโรงกลั่น และการค้าน้ำมัน พร้อมผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ในไตรมาส 2/68 ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน
ขณะที่ กลุ่มธุรกิจการตลาดตั้งเป้าขยายสถานีบริการกว่า 100 แห่ง โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 2 อย่างมั่นคง และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เตรียมเปิดโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพ (CDMO) แห่งแรกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน สีเขียว ผ่านการลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังงานสะอาดในพื้นที่ ที่มีศักยภาพ โดยในปี 68 จะมีโครงการโรงไฟฟ้า ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม 99 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในลาว 290 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ไต้หวัน ซึ่งจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์
สำหรับ การขยายการลงทุนในกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ และธุรกิจใหม่ โดยนำประสบการณ์ด้านสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมจากนอร์เวย์มาต่อยอดขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และตั้งเป้านำน้ำมันดิบที่ผลิตได้มาใช้ในโรงกลั่นทั้งสองแห่ง ช่วยสร้างความแข็งแกร่ง และ Synergy ให้กับกลุ่มบริษัทบางจาก และเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานให้ประเทศยิ่งขึ้น
ภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชี และการเงิน BCP รายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญในปี 67 ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจโรงกลั่น และการค้าน้ำมัน มี EBITDA 5,006 ล้านบาท ปรับลดลงร้อยละ 62 มีอัตรากำลัง การผลิตเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 258,000 บาร์เรลต่อวัน เติบโตกว่าร้อยละ 16 จากปีก่อน แม้ว่าโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนงจะมีการปิดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นตามวาระ (Turnaround Maintenance) ในรอบ 3 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคม 67 แต่กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นศรีราชาที่สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 147,800 บาร์เรลต่อวัน จากปี 66 ที่ 101,900 บาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้ หนุนกำลังการผลิตของกลุ่มบริษัทบางจากเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายของราคาน้ำมันที่ผันผวนจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ค่าการกลั่นพื้นฐานลดลง สาเหตุหลักมาจาก Crack Spread ของกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักปรับตัวลง ส่งผลกดดันต่อค่าการกลั่นพื้นฐานปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 66 ประกอบกับรับรู้ Inventory Loss (รวม NRV) 6,940 ล้านบาท หรือ 2.08 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ บริษัท บีซีพี เทรดดิ้ง (BCPT) ยังได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ส่งผลให้มีธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้น 63.3 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ 112.7 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 100 จากปีก่อน อีกทั้งยังเร่งขยายเครือข่ายซื้อขายน้ำมัน Out-Out อย่างต่อเนื่อง ทั้งน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ และเพิ่มช่องทางซื้อขาย เพื่อเสริมความคล่องตัวในธุรกิจ
ส่วนกลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA 5,577 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 มีปริมาณการจำหน่าย 13,814 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 61 จากปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยหลักมาจากการขยายเครือข่ายสถานีบริการ และการขยายฐานลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับภาพลักษณ์แบรนด์บางจาก และเปลี่ยน โลโก้ของสถานีบริการของ BSRC ที่ได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ทั่วประเทศเมื่อสิ้นปี 67
ซึ่งประกอบกับการปรับปรุงคุณภาพของสถานีบริการอย่างต่อเนื่อง มีส่วนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ช่วยผลักดันยอดขายให้เติบโตอย่างโดดเด่น ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดผ่านสถานีบริการขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 28.9 โดย ณ สิ้นปี 67 มีสถานีบริการรวม 2,163 แห่ง สำหรับธุรกิจ Non-Oil มีร้านกาแฟอินทนิล 1,028 สาขา จุดชาร์จ EV กว่า 365 จุด และจุดจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่น FURiO กว่า 2,050 จุด
ขณะที่ กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG มี EBITDA 4,817ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากปีก่อน รับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปีจากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ 4 แห่งในสหรัฐ และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาวที่มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีการหยุดการผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเตรียมขายไฟฟ้าไปยังการไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากการสิ้นสุด adder ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยได้ทั้งหมด อีกทั้งมีการรับรู้กำไรหลังหักภาษีจากการจำหน่ายไปซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น 2,159 ล้านบาท ในเดือนมิถุนายน
ส่วนกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI มี EBITDA 972 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 โดยธุรกิจผลิต และจำหน่ายไบโอดีเซล (B100) มีกำไรขั้นต้นปรับเพิ่มขึ้น จากปริมาณการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าร้อยละ 63 จากปีก่อน ตามความต้องการซื้อภายในกลุ่มบริษัท บางจากที่สูงขึ้น หลังจาก BSRC เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทบางจาก ทำให้มีอัตราการใช้กำลังการผลิตตลอดทั้งปีสูงกว่าผู้ผลิตรายอื่นๆ ในตลาด
และกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ มี EBITDA 24,815 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากปีก่อน โดยมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องและการรับรู้ผลการดำเนินงานจากแหล่งปิโตรเลียม Statfjord ที่ได้รับโอนสิทธิเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 66 และแหล่งผลิต Hasselmus ที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 66 หนุนปริมาณการขายเติบโตกว่าร้อยละ 33 จากปีก่อน รวมถึงแหล่งผลิต Brage ที่ได้รับโอนกิจการมาจาก Wintershall Dea โดยมี OKEA เป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 65 ที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ไตรมาส 4 ปี 67 บริษัทมีรายได้จากการขาย และการให้บริการ 142,246 ล้านบาท มี EBITDA 7,167 ล้านบาท รับรู้ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ทั้งสิ้น 806 ล้านบาท และขาดทุนที่เกิดขึ้นจาก Inventory Loss 2,258 ล้านบาท (รวมขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV)) จากราคาน้ำมันอ่อนตัวลง โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ (ที่ไม่รวมรายการพิเศษ) 1,799 ล้านบาท
โดยคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 68 อนุมัติให้นำเสนอจ่ายเงินปันผลสำหรับ งวดครึ่งปีหลังของปี 67 ในอัตรา 0.45 บาทต่อหุ้น เมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกของปี 67 ในอัตรา 0.60 บาทต่อหุ้น จะรวมเป็นเงินปันผลที่จ่ายในปี 67 ในอัตรา 1.05 บาทต่อหุ้น โดยวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลเป็นวันที่ 14 มีนาคม 68 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 เมษายน 68
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์