ITOCHU ญี่ปุ่นทุ่มลงทุน 540 ล้านบาท ซื้อหุ้น ECL 25% หวังรุกธุรกิจสินเชื่อรถมือสอง

ITOCHU ญี่ปุ่นทุ่มลงทุน 540 ล้านบาท ซื้อหุ้น ECL 25% หวังรุกธุรกิจสินเชื่อรถมือสอง

ITOCHU บริษัทการค้าญี่ปุ่นเตรียมถือหุ้น 25% ใน ECL มูลค่า 540 ล้านบาท หวังรุกตลาดสินเชื่อรถมือสอง รองรับการเติบโตของชนชั้นกลางในไทย

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานวันนี้ (17 ก.พ.) ว่า บริษัทการค้าอิโตชู (Trading House) เตรียมลงทุนในบริษัทสินเชื่อรถยนต์ในประเทศไทย โดยมองเห็นโอกาสการเติบโตในระยะกลางของตลาดชนชั้นกลางในประเทศ

อิโตชูมีแผนเข้าสู่ตลาดสินเชื่อรถยนต์มือสองในประเทศไทย ซึ่งเพิ่มเติมจากธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคที่บริษัทดำเนินการมาอย่างยาวนานในประเทศไทย โดยอิโตชูวางแผนลงทุนมากกว่า 540 ล้านบาท (16.3 ล้านดอลลาร์) เพื่อซื้อหุ้นในบริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน)  หรือ ECLจำนวน 25%  ภายในสิ้นเดือนมี.ค.

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ECL ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะออกหุ้นใหม่ให้แก่อิโตชูผ่านการจัดสรรหุ้นให้บุคคลในวงจำกัด

ITOCHU ญี่ปุ่นทุ่มลงทุน 540 ล้านบาท ซื้อหุ้น ECL 25% หวังรุกธุรกิจสินเชื่อรถมือสอง สภาวะหุ้น ECL วันที่ 17 ก.พ. เวลา 14.40 น.

ภายหลังการลงทุน อิโตชูจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ECL โดย "Premium Group" ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจสินเชื่อรถยนต์มือสอง ถือหุ้นมากกว่า 25% ใน ECL ซึ่งก่อตั้งในทศวรรษ 1980

ทั้งนี้ ลูกค้าหลักของ ECL คือผู้ขับขี่ที่ต้องการซื้อรถยนต์มือสองแต่มีคะแนนเครดิตค่อนข้างต่ำ บริษัทกำหนดอัตราดอกเบี้ยรายปีประมาณ 12-13% สำหรับผู้กู้กลุ่มนี้ ด้วยเม็ดเงินลงทุนจากอิโตชูและพรีเมียมกรุ๊ป ECL จะนำเงินทุนดังกล่าวไปจัดซื้อปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในระบบการจัดการเพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองเครดิต

การปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะช่วยให้ ECL เร่งกระบวนการคัดกรองเครดิต ทำให้สามารถเสนอสินเชื่อแก่ผู้ซื้อรถยนต์มือสองได้ก่อนคู่แข่ง บริษัทตั้งเป้าเพิ่มยอดสินเชื่อเป็น 20,000 ล้านบาทในปี 2572 จาก 5,000 ล้านบาทในปี 2567

การลงทุนของอิโตชูเกิดขึ้นท่ามกลางการปรับตัวลดลงของตลาดรถยนต์ใหม่ในประเทศไทย ในปี 2567 มียอดขายรถยนต์ในประเทศไทย 634,000 คัน ลดลง 38% จากห้าปีก่อน ตามข้อมูลจากผู้ให้บริการข้อมูลอุตสาหกรรม MarkLines

อย่างไรก็ตาม บริษัทวิจัย 6Wresearch คาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์มือสองของประเทศจะเติบโตเป็น8.47 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2574 จาก 6.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 9% อานิสงส์สัดส่วนผู้บริโภคชนชั้นกลางที่ปรับตัวสูงขึ้น

แม้ว่าประเทศไทยจะมีประชากรน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ทว่าธนาคารโลกรายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDP per Capita) ​ของไทยอยู่ที่ 7,182 ดอลลาร์ในปี 2566 ซึ่งสูงกว่าอินโดนีเซียที่ 4,876 ดอลลาร์ และฟิลิปปินส์ที่ 3,804 ดอลลาร์ตามลำดับ โดยโตชูตัดสินใจลงทุนใน ECL เนื่องจากประเทศไทยมีผู้บริโภคระดับรายได้ปานกลางจำนวนมาก มีหน่วยงานข้อมูลเครดิต และระบบการเงินที่พัฒนาแล้ว บริษัทประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่ากำลังลงทุนในบริษัทประกันวินาศภัยในประเทศไทยด้วย

อ้างอิง: Nikkei Asia