บล.ดีบีเอส จัดพอร์ตไตรมาส 1 ให้น้ำหนักหุ้นสหรัฐ-พันธบัตรและทอง

บล.ดีบีเอส  จัดพอร์ตไตรมาส 1  ให้น้ำหนักหุ้นสหรัฐ-พันธบัตรและทอง

บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะจัดสรรพอร์ตลงทุนแบบ “บาร์เบล” ปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นสหรัฐ เชื่อได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ลดน้ำหนักหุ้นยุโรป ขณะที่พันธบัตรและทองคำเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัย

นายเอ็ดวิน ตัน (Mr. Edwin Tan) Market Head DBS, Thailand & Philippines, DBS Bank กล่าวในงาน DBS 1H25 CIO Market Outlook  บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ว่าเริ่มต้นปี 2568 มีการคาดการณ์ถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับปานกลางแต่มีเสถียรภาพในหลายภูมิภาคทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงเผชิญกับปัจจัยพลิกเกมที่อาจกำหนดทิศทางในช่วงเดือนข้างหน้า

ด้านหนึ่งการกลับมาดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งสัญญาณถึงสงครามการค้าระดับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยมาตรการทางภาษีและยิ่งซ้ำเติมความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดำเนินอยู่

ในอีกด้านหนึ่ง แนวโน้มการลดภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบในอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ ประกอบกับวัฏจักรการลดอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงดำเนินต่อไป อาจเป็นปัจจัยเสริมให้ตลาดและเศรษฐกิจเติบโตได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นว่า "เกมเปลี่ยน (Game Changers)" เป็นธีมที่เหมาะสมสำหรับการแถลงแนวโน้มตลาดครั้งแรกของปีนี้

       คำแนะนำสำคัญที่ทีม CIO ให้ไว้เมื่อปีที่ผ่านมา เริ่มจากการแนะนำให้ลูกค้าลงทุนใน I.D.E.A. companies – Innovators, Disruptors, Enablers, Adapters แม้ว่าหลายฝ่ายจะกังวลว่าการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอาจซ้ำรอยฟองสบู่ดอทคอมในปี 2000 ในส่วนของตลาดตราสารหนี้

       คำแนะนำให้ Overweight ในตราสารหนี้ที่มีเครดิตดียังคงให้ผลตอบแทนที่ดี แม้ว่าสัญญาณของเฟดจะมีการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากการกลับมาของทรัมป์ ตั้งแต่ต้นปี เราแนะนำให้ลูกค้าใช้กลยุทธ์ Liquid+ โดยให้ความสำคัญกับตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนระยะสั้นที่มีคุณภาพสูงเป็นทางเลือกแทนเงินสด

        นอกจากนี้ แนวโน้มตลาดทองคำที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปียังเป็นไปตามที่คาด โดยทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่ทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา

            

        นายเวย์ ฟุก โหว กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนโยบายการขยายตัวภายใต้การบริหารงานของทรัมป์ ทาง DBS แนะนำให้ปรับสถานะการลงทุนในหุ้นทั่วโลกจาก “Underweight” เป็น “Neutral”  ยังคงให้คงน้ำหนักในหุ้นสหรัฐฯในระดับ “Overweight” เนื่องจากนโยบายการลดภาษีจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรของบริษัทต่างๆ

        โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ทั้งนี้ DBS ยังคงมีความเชื่อมั่นบริษัทเหล่านี้ เนื่องจากมีศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว และมีค่าเบต้าสูงถึง 1.4 เท่าของตลาดหุ้นโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถได้รับผลตอบแทนที่ดีจากนโยบายการลดภาษี และการผ่อนคลายกฎระเบียบ

      เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากสงครามการค้า ทาง DBS จึงให้น้ำหนักลงทุน “Overweight” ในตราสารหนี้ (Fixed Income) เนื่องจากช่วยป้องกันความเสี่ยงขาลง หากความตึงเครียดทางการค้าทวีความรุนแรงขึ้นโดยผลตอบแทนจากพันธบัตรในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่น่าสนใจโดยเฉพาะเมื่อพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี มีอัตราผลตอบแทนที่กลับมาระดับ 4.4% ต่อปี

        บล.ดีบีเอส  จัดพอร์ตไตรมาส 1  ให้น้ำหนักหุ้นสหรัฐ-พันธบัตรและทอง

        ในส่วนของการลงทุนหุ้นยุโรปทาง DBS ให้น้ำหนักการลงทุนในระดับ “Underweight” เนื่องจากคาดว่าหุ้นยุโรปจะให้ผลตอบแทนที่ด้อยกว่าหุ้นสหรัฐฯ จากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกจีนต้องเปลี่ยนเส้นทางการค้าของตนไปยังตลาดที่ไม่ใช่สหรัฐฯยังผลให้การแข่งขันในตลาดการค้านอกสหรัฐฯจะรุนแรงขึ้น

          บล.ดีบีเอส  จัดพอร์ตไตรมาส 1  ให้น้ำหนักหุ้นสหรัฐ-พันธบัตรและทอง

         นอกจากผลกระทบเชิงนโนบายต่างๆ ที่จะเกิดในสภาคองเกรสแล้ว สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวกำหนดทิศทางของตลาดในระยะยาว DBS คาดว่ามูลค่าของสินทรัพย์เสี่ยงในปี 2025 จะได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยต่อไปนี้

         เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เข้าสู่การเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะช่วยลดผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้บริษัทต่างๆ สามารถรักษาอัตรากำไรได้ดี ความมั่งคั่งสุทธิของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และหนี้สินของครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 71% ของ GDP สหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศให้แข็งแกร่ง

         จุดเด่นของการลงทุนสำหรับไตรมาสนี้ ได้แก่ การลงทุนในสินทรัพย์ผสม– พันธบัตร ยังคงน่าสนใจจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของดัชนี ISM Services แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้อยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง อย่างไรก็ตามการขึ้นภาษีนำเข้าภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดใหม่ อาจทำให้เฟดต้องกลับมาดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนจากหุ้นและพันธบัตรรัฐบาล (Earning yield gap) ที่อยู่ในเกณฑ์ติดลบ เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เรามองว่าการลงทุนในตราสารหนี้มีความน่าสนใจมากกว่าตราสารทุน

      หุ้น – สหรัฐฯ ยังคงโดดเด่นต่อเนื่อง คาดการณ์ผลตอบแทนในตลาดสหรัฐที่สูงกว่าตลาดยุโรป คาดว่าการเติบโตที่เหนือกว่าของสหรัฐฃจะยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากการลดภาษีที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงการสนับสนุนจากนโยบายการคลัง และการเงิน ในขณะที่การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ทำให้ตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มที่จะเติบโตลดลงจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

         

        อันเนื่องมาจากจีนส่งออกไปยังยุโรปมากขึ้น แม้จะมีอุปสรรคจากภาษีการค้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้น และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น แต่ DBS ยังคงคำแนะนำให้ลงทุนในตลาดเอเชียนอกญี่ปุ่น (Asia ex-Japan) เนื่องจากราคาหุ้นในตลาดนี้ถูกกว่าตลาดที่พัฒนาแล้ว 34% ในกลุ่ม Asia ex-Japan  คาดว่าประเทศในอาเซียนจะได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากการกระจายห่วงโซ่อุปทานของจีน ภายใต้กลยุทธ์ China+1

        พันธบัตร – การจัดการความเสี่ยงจากนโยบายขยายตัวและภัยคุกคามจากภาษี ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า และนโยบายการขยายตัวภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีทรัมป์บ่งชี้ได้ว่าผลตอบแทนของพันธบัตรและตราสารหนี้ได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ

        จากข้อมูลในอดีตแสดงให้เห็นว่าส่วนชดเชยความเสี่ยงของตราสารหนี้เอกชนยังคงอยู่ในระดับคงที่หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของพรรครีพับลิกันเป็นเวลา 1 ปี กลยุทธ์ของทาง DBS ยังคงใช้การลงทุนแบบ "บาร์เบล" โดยเน้นตราสารหนี้หรือพันธบัตรอายุ 2-3 ปี และ 7-10 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มเรตติ้งระดับ A/BBB ที่มีแนวโน้มเชิงบวกจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องในกลุ่มตราสารหนี้ระดับ investment grade

        สินทรัพย์ทางเลือก – ทองคำยังคงได้รับความนิยมแม้จะมีความท้าทายในระยะสั้น, ความไม่แน่นอนในตลาดยังคงสนับสนุนสินทรัพย์ทางเลือก DBS ยังคงให้น้ำหนักการลงทุน “Overweight” ในทองคำ เนื่องจากสินทรัพย์ปลอดภัยมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น หลังมีความตึงเครียดทางการค้ารวมถึงความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการคลังของสหรัฐฯ

      ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีทรัมป์ การใช้กลยุทธ์พอร์ตการลงทุนที่ผสมผสานสินทรัพย์ในตลาดและนอกตลาด โดยใช้กองทุนกึ่งสภาพคล่องในสินทรัพย์นอกตลาด (Semi-liquid Asset) จะช่วยให้นักลงทุนสามารถรับมือกับอุปสรรคทางเศรษฐกิจ และนโยบายที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากสินทรัพย์นอกตลาดมีความสัมพันธ์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับตลาด

       สรุปการลงทุนสำหรับไตรมาส 1 ปี 2025 นโยบายมหภาค การลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องของ Fed และ ECB คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อไป ในขณะที่ BOJ ยังคงดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้อย่างต่อเนื่อง

        แนวโน้มเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความยืดหยุ่น ขณะที่การเติบโตในยุโรปยังคงอ่อนแอจากการส่งออกที่ชะลอตัว และคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากรัฐบาลจีน เพื่อยกระดับการบริโภคในประเทศ

         หุ้น ยังคงชื่นชอบหุ้นสหรัฐมากกว่าหุ้นยุโรป และญี่ปุ่น เนื่องจากอัตรากำไรของบริษัทที่สูง การเติบโตภายในประเทศที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น มีการลงทุนในโครงสร้างของ AI อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงแรงสนับสนุนจากนโยบายแบบขยายตัวภายใต้การดำเนินงานของทรัมป์

         ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนยังจะคงได้รับผลประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย และนโยบาย China+1  เครดิต คาดว่าการผ่อนคลายนโยบายทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นต่อไป โดยมุ่งเน้นที่การลงทุนในพันธบัตร A/BBB ที่มีผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่ดีที่สุด จากภาวะที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่แคบลง (Tighten credit spread) จึงแนะนำให้ “Overweight” ในตลาดตราสารหนี้อายุ 2-3 ปี และ 7-10 ปี เพื่อควบคุมความเสี่ยงในการลงทุนในอนาคต และยังคงได้รับผลประโยชน์จากลดลงของส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชน

      อัตราดอกเบี้ย คาดว่า Fed จะมีการลดอัตราดอกเบี้ย แต่แนวโน้มจะไม่มากนัก ภายใต้การดำเนินงานของทรัมป์

     สกุลเงิน ดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งจากแนวโน้มของดอกเบี้ยที่ต่ำลง ขณะที่ยูโรและหยวนจะความมีอ่อนไหวเพิ่มขึ้นจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า

     สินทรัพย์ทางเลือก ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อทองคำจากการขาดดุลทางการคลังของสหรัฐ ที่เพิ่มขึ้น ควรเน้นกลยุทธ์พอร์ตการลงทุนที่ผสมผสานสินทรัพย์ทั้งในตลาดและนอกตลาด โดยใช้กองทุนกึ่งสภาพคล่องในสินทรัพย์นอกตลาด (Semi-liquid Asset) เพื่อการบริหารสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ

      สินค้าโภคภัณฑ์ ยังมีความผันผวนต่อไปในระยะสั้น จากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าภายใต้การบริหารงานของทรัมป์ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความต้องการสำหรับโลหะอุตสาหกรรม และสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร ขณะที่วาระความมั่นคงด้านพลังงานของสหรัฐฯ อาจกดดันราคาน้ำมัน คาดว่าราคาของกาแฟและโกโก้ยังมีแนวโน้มที่ดีกว่าสินค้าโภคภัณฑ์อื่น เนื่องจากความต้องการทั่วโลกที่ยังคงแข็งแกร่งแม้จะมีอุปสรรคด้านอุปทาน

        Thematic focus การลงทุนในธุรกิจกีฬามีการเติบโตอย่างรวดเร็วในการถ่ายทอดสดกีฬาประเภทต่างๆกระจายไปถึงความตื่นตัวที่เพิ่มขึ้นสำหรับกีฬาผู้หญิงและเยาวชน รวมถึงการแข่งขันอีสปอร์ต ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มนี้ ได้แก่: (1) ธุรกิจการวิเคราะห์ทางด้านกีฬา, (2) ธุรกิจการสตรีมมิ่ง, (3) ธุรกิจการขายตั๋ว, และ (4) ธุรกิจเกมกีฬา