ภารกิจด่วน‘ประธานตลท.’ ‘กิติพงศ์’ ลั่นใน 15 เดือน เร่งยกเครื่อง ‘ตลาดทุนไทย’

ภารกิจด่วน‘ประธานตลท.’  ‘กิติพงศ์’ ลั่นใน 15 เดือน เร่งยกเครื่อง ‘ตลาดทุนไทย’

ในช่วงเวลาที่ “ตลาดทุนไทย” กำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะการแก้ปัญหา “วิกฤติความเชื่อมั่น” และคาดหวังพัฒนาการสิ่งใหม่ๆ เข้ามา เพื่อเป็นการยกระดับ “ตลาดทุนไทย” กลับมามี “เสน่ห์ใหม่“ อีกครั้ง !! 

ดังนั้น ภายหลังจากที่ “ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ที่เข้ารับตำแหน่ง “ประธานกรรมการ” ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คนที่ 19 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา จึงเริ่มติดเครื่องลุยสานต่องานทันที... 

“ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภารกิจที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือ แผนการดำเนินงานและนโยบายตลาดทุน เพื่อเตรียมความพร้อมหารือ “พิชัย ชุณหวชิระ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รวม.คลัง) โดยในแผนงานหลักยังคง “มุ่งเน้นเดินหน้าสานต่อนโยบายต่างๆ” ของรมว.คลัง ที่ได้ดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงเตรียมพร้อมดำเนินการให้สอดรับกับมาตรการใหม่ๆ ที่ทางภาครัฐต้องการความร่วมมือต่อไป

ภารกิจด่วน‘ประธานตลท.’  ‘กิติพงศ์’ ลั่นใน 15 เดือน เร่งยกเครื่อง ‘ตลาดทุนไทย’

โดยมุ่งเป้าหมายสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนควบคู่ไปกับ “การยกระดับ” ตลาดทุนไทย สร้างบรรยากาศการลงทุนให้กลับมาคึกคัก พร้อมกับวางเป้าหมาย (ส่วนตัว) ภายใน 15 เดือนก่อนที่จะหมดวาระรอบนี้ คาดหวัง “เร่งผลักดันมาตรการเร่งด่วนต่างๆ” รวมถึง “วางพื้นฐานกฎหมายตลาดทุนไทย” และ “การปรับโครงสร้างตลาดทุนไทย สู่ตลาดทุนแห่งอนาคต” ได้สำเร็จ

สำหรับ โจทย์เร่งด่วนแรก ! การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ และเร่งกระบวนการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทั้งการป้องกันและปราบปรามกระทำความผิดในตลาดทุนไทย  

โดยมุ่งเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการตรวจสอบ สอบสวนหาข้อเท็จจริง และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย เพื่อสามารถดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำผิดต่อตลาดทุนไทยได้เร็วขึ้น และเพิ่มบทโทษผู้กระทำผิดต่อตลาดทุน เพื่อยกระดับการกำกับดูแลประชาชนผู้ลงทุนให้มีความเข้มข้นขึ้น

ยกกรณีตัวอย่าง “เคสหุ้นมอร์” ที่ประสบความสำเร็จของการเร่งกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและสั่งฟ้องได้เร็วขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับประชาชนและตลาดทุนไทยในวงกว้าง โดยก.ล.ต. และ ตลท. ร่วมกันบูรณาการความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับในตลาดทุนและนอกตลาดทุน อาทิ ดีเอสไอ และ ปปง. สามารถเร่งกระบวนการตรวจสอบและส่งฟ้องเคสดังกล่าวได้ภายใน 1 ปี หลังจากนี้เป็นกระบวนการทางศาลฯ

พร้อมกันนี้ เร่งผลักดันมาตรการยกระดับกำกับดูแลเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนตามแผนงาน หลายมาตรการต่างๆ จะทยอยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ เป็นต้นไป เช่น การคุมเข้ม Program Trading โดยเฉพาะการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความเร็วสูง (HFT) , การยกระดับการกำกับดูแล Short Selling และ Naked Short Selling รวมถึงการพัฒนาแฟลตฟอร์มแหล่งข้อมูลกลางตลาดทุนไทย เช่น Central Platform เป็นต้น

นอกจากนี้มุ่งเป้าปราบปรามกลุ่มทุจริตปั่นหุ้นที่ผ่านมาพบเห็น พฤติกรรมการสร้างราคาปั่นหุ้นเป็นก๊วนเป็นแก๊ง ทาง ตลท. พบพฤติกรรมน่าสงสัย และได้ส่งรายชื่อให้ทางก.ล.ต. มาตรวจสอบและดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย รวมถึงการสร้างราคาหุ้น IPO เข้ามาป่วนตลาด ทำให้นักลงทุนรายย่อยเกิดความเสียหาย

ล่าสุด ขณะนี้ ทาง ตลท.กำลังรวบรวมข้อมูลหุ้น IPO ที่ราคาเคยขึ้นแรง 100-200% มีการใช้ที่ปรึกษาการเงิน (FA) กี่รายและมีวิธีการและการคำนวณราคาหุ้นมาอย่างไรสมเหตุสมผลหรือไม่ หากพบพฤติกรรมความผิดในตลาดทุน จะรายงานให้ก.ล.ต.รับทราบเพื่อนำไปสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการลงโทษกฎหมายต่อไป หากพบการกระทำความผิด

ขณะที่ “มาตรการระยะสั้นและระยะกลางและระยะยาว” เป็นโจทย์ถัดไปที่ผสมผสนกันในการวางโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนไทยครั้งใหม่ เริ่มตั้งแต่วันนี้ ...เพื่อขยายโอกาสการระดมทุนสนับสนุนธุรกิจทุกขนาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะ “พัฒนาตลาดทุนแบบดิจิทัล” มาเสริมตลาดทุนแบบดั้งเดิม ด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะ AI เข้ามาพัฒนาในหลายๆ ด้าน เช่น วิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการการลงทุนของนักลงทุนประเภทต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาสร้างสรรค์สินค้าและบริการการลงทุนใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนยุคใหม่ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในตลาดทุนไทยมากขึ้น

พร้อมกับ “ยกระดับตลาดหลักทรัพย์ของภูมิภาค” ด้วยการเป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทต่างประเทศ ขณะนี้เตรียมดึงผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาวางโครงสร้างพื้นฐานในส่วนนี้ มาช่วยกันปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ในอดีตที่บริษัทต่างประเทศไม่สามารถเข้ามาระดมทุนตลาดทุนไทย และวางหลักเกณฑ์การระดมทุนใหม่ๆ ช่วยกันพัฒนาสร้างความได้เปรียบให้กับตลาดทุนไทยสามารถแข่งขันได้ รวมถึงเพิ่มทางเลือการลงทุนต่างประเทศ ผ่านกลไกตลาดทุนไทย

รวมถึง “สร้างตลาดระดมทุนใหม่ๆ สนับสนุนธุรกิจไทย” โดยเฉพาะเปิดโอกาสธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธุรกิจสตาร์ตอัป เน้นสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมใหม่ ๆ (New Economy) ต่อยอดจากจุดแข็งเดิมของไทย เช่น เฮลท์แคร์ อาหาร ท่องเที่ยว

ขณะที่ “สร้างแหล่งเงินออมในระยะยาวให้คนไทยทุกคน ผ่านกลไกตลาดทุนไทย”  ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกองทุนประเภทต่างๆ อย่างกองทุน LTF ตามแนวคิด รมว.คลังแล้ว ยังมองถึงการส่งเสริมการออมเงินระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบกองทุนรวมเพื่อการศึกษาบุตร ให้สามารถลดหย่อนภาษี และเดินหน้าผลักดันการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับกองทรัสต์เพื่อการลงทุน เป็นต้น  

“ผลักดันทางด้านความยั่งยืน (ESG) ทุกมิติ” เป็นหลักการดำเนินธุรกิจและขับเคลื่อนตลาดทุนไทยทุกมติ เพื่อสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมทุกสังคมไทยให้โตไปพร้อมกัน และเกิดความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างชุมชนให้เข้มแข็งสังคมไทยจะดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ตลาดทุนไทยอยู่ระหว่างเปิดสรรหา “ผู้จัดการ ตลท.” คนใหม่ ที่จะมาขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต ดังนั้น บุคคลที่จะมานั่งตำแหน่งนี้ ถือว่า “มีความท้าทายมาก” จึงต้องมีความกล้า มีวิสัยทัศน์ ริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ มีความเข้าใจตลาดทุน ต้องสื่อสารภายนอกเป็น ขายของได้ หรือเป็นเซลล์แมน และที่สำคัญมีอายุการทำงานในตำแหน่งนี้จนครบ 2 วาระ หรือ 6-7 ปี หรือครบ 8 ปีได้ยิ่งดี 

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ฉะนั้น “ตลาดทุนไทยอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว” ต้องเป็น “ตลาดทุนแห่งอนาคต” ของนักลงทุนทุกกลุ่มให้ได้  นำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศแข็งแรงสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม และอนาคตสังคมไทยยั่งยืน