ดัชนีดาวโจนส์ ดิ่ง 570 จุด ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐร่วงแตะระดับต่ำสุด

ดัชนีดาวโจนส์ ดิ่ง 570 จุด ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐร่วงแตะระดับต่ำสุด

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(30 เม.ย.)ปรับตัวร่วงลง 570 จุด หลัง Conference Board เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2565

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (ดัชนีดาวโจนส์) ลดลง 570.17 จุด หรือ 1.49% ปิดที่ 37,815.92 จุด
  • ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 80.48 จุด หรือ 1.57% ปิดที่ 5,035.69 จุด
  • ดัชนีแนสแด็ก ลดลง 325.26 จุด หรือ 2.04% ปิดที่ 15,657.82 จุด

ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 97 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2565 จากระดับ 103.1 ในเดือนมี.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 104

ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและตลาดแรงงาน

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้าดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2565

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ เป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน

นอกจากนี้ นักลงทุนผิดหวังต่อผลประกอบการของบริษัทแมคโดนัลด์ คอร์ป รวมทั้งวิตกต่อการเปิดเผยดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และบ่งชี้การพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้

หุ้นแมคโดนัลด์ ดิ่งลงกว่า 1% หลังเปิดเผยตัวเลขกำไรในไตรมาส 1/2567 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบในตะวันออกกลาง

นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. หลังการเปิดเผยดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และบ่งชี้การพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 49.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 40.8% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25%

นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 42.8% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 6-7 พ.ย. และให้น้ำหนัก 41.1% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 17-18 ธ.ค.

กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนแรงงานที่กว้างที่สุด เพิ่มขึ้น 1.2% ในไตรมาส 1/67 เมื่อเทียบรายไตรมาส ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 1 ปี และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในไตรมาส 4/66

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี ECI พุ่งขึ้น 4.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 4.2% เช่นกันในไตรมาส 4/66

การดีดตัวของดัชนี ECI ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้น 1.1% ของค่าจ้างและเงินเดือน เมื่อเทียบรายไตรมาส

เมื่อเทียบรายปี ค่าจ้างและเงินเดือนเพิ่มขึ้น 4.4% ในไตรมาส 1/67

ทั้งนี้ ดัชนี ECI ถือเป็นมาตรวัดที่น่าเชื่อถือในการชี้วัดตลาดแรงงาน และเป็นดัชนีคาดการณ์ที่ดีสำหรับอัตราเงินเฟ้อซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.3% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมครั้งนี้

อย่างไรก็ดี ตลาดจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด หลังการประชุม เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในปีนี้

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนเม.ย.ในวันศุกร์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 243,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. โดยชะลอตัวจากระดับ 303,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.8%