ดาวโจนส์ ดิ่ง 475 จุด หลังแบงก์ใหญ่เผยผลประกอบการต่ำคาด

ดาวโจนส์ ดิ่ง 475 จุด หลังแบงก์ใหญ่เผยผลประกอบการต่ำคาด

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์ (12เม.ย.) ร่วงลง 475 จุด เนื่องจากหุ้นเติบโตระดับเมกะแคป (megacap) และหุ้นชิปส่วนใหญ่พากันปรับตัวลง ขณะที่หุ้นธนาคารใหญ่บางตัวร่วงลงหลังเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสออกมาแย่กว่าที่คาด

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (ดัชนีดาวโจนส์) ร่วงลง  475.84 จุด หรือ  1.24% ปิดที่  37,983.24 จุด
  • ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 1.46% ปิดที่  5,123.41 จุด
  • ดัชนีแนสแด็ก ร่วงลง 1.62% ปิดที่ 16,175.09 จุด

ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เปิดเผยผลประกอบการในวันนี้ว่า มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 6% ในไตรมาสแรก แต่ราคาหุ้นร่วงลงหลังจากที่เจพีมอร์แกนประมาณการรายได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

เจพีมอร์แกน คาดว่า หากไม่รวมกำไรขาดทุนจากการซื้อขาย รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ตลอดทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 8.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับความผันผวนของตลาด ซึ่งสูงกว่าประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 8.8 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 9.068 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของ LSEG

ด้าน แบงก์ออฟอเมริกา รายงานว่า หุ้นขนาดใหญ่ของสหรัฐประสบกับยอดเงินไหลออกรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2565 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันพุธ (10 เม.ย.)

ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในวันนี้ ระบุว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงในเดือนเม.ย. 2567 ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อ ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าและในระยะยาวจะสูงขึ้นด้วย

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนรายงานข้อมูลเบื้องต้นว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐอยู่ที่ระดับ 77.9 ในเดือนเม.ย. ลดลงจากระดับตัวเลขขั้นสุดท้ายที่ 79.4 ในเดือนมี.ค. และต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ได้คาดการณ์ไว้ที่ 79.0

นับตั้งแต่เดือนม.ค.เป็นต้นมา ดัชนีความเชื่อมั่นยังคงแกว่งอยู่ในกรอบแคบเพียง 2.5 จุด ซึ่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่าต้องมีการแกว่งตัวอย่างน้อย 5 จุดจึงจะถือว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

"โดยรวมแล้ว ผู้บริโภคกำลังสงวนท่าทีการแสดงความเห็นในเรื่องเศรษฐกิจ เพราะกำลังรอดูผลเลือกตั้งที่จะถึงนี้อยู่ ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากมองว่า อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อทิศทางเศรษฐกิจ" โจแอน ซู ผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจผู้บริโภค กล่าวในแถลงการณ์

ผลสำรวจพบว่า การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในรอบ 1 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ในเดือนเม.ย. จาก 2.9% ในเดือนมี.ค. ซึ่งสูงกว่าช่วงระดับ 2.3-3.0% ในช่วง 2 ปีก่อนโควิด-19 ระบาด สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วง 5 ปีข้างหน้านั้น ก็ปรับตัวขึ้นเป็น 3.0% จากระดับ 2.8% ในเดือนก่อนหน้า