‘เอกชนไทย’ หันระดมเงินนอก ต้นทุนดบ.ต่ำกว่า -ลดพึ่งแหล่งทุนเดียว

‘เอกชนไทย’ หันระดมเงินนอก ต้นทุนดบ.ต่ำกว่า -ลดพึ่งแหล่งทุนเดียว

“3 เอกชนไทย” หันกู้เงินนอกประเทศ "MTC" เผยปีนี้เตรียมกู้ระดับหมื่นล้าน ผ่าน 3 แบงก์นอก “กลุ่มศรีสวัสดิ์” สนใจหากเงื่อนไขดี ค่าใช้จ่ายถูกกว่าในประเทศ แต่ไม่รีบร้อน "TIDLOR” ชูเครดิตเรตติ้ง A สร้างความน่าเชื่อถือ ขยายฐานแหล่งเงินทุนต่างประเทศเพิ่มในอนาคต

ภายใต้สถานการณ์ “ต้นทุนทางการเงิน” ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันยังทรงตัวอยู่ใน “ระดับสูง” ส่งผลทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะใน “ธุรกิจไฟแนนซ์” (นอนแบงก์) ที่สถานการณ์ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นและค่อนข้างตึงตัว 

ดังนั้น จึงถือเป็นความท้าทาย “ผู้เล่น” ในตลาดดังกล่าวมาก ในการเข้าถึง “แหล่งเงินทุน” เพื่อมาขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่ธุรกิจไฟแนนซ์ยังถูก “กดดัน” แหล่งเงินทุนที่เอกชนมักใช้ในการระดมทุนเป็นประจำอย่าง “ตลาดหุ้นกู้” ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากคงปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดหุ้นกู้เผชิญแรงกดดันความเสี่ยงจากกรณี “หุ้นกู้ผิดนัดการชำระคืนหนี้” ของหลากหลายธุรกิจทั้งธุรกิจขนาดเล็กระดับ “ร้อยล้านบาท” ลามจนถึงธุรกิจระดับ “แสนล้านบาท” 

ทั้งนี้หน่วยงานกำกับดูแลจึงเตรียม “ยกระดับ” และ “เพิ่มความเข้มข้น” ของผู้ออกหุ้นกู้ให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นการปกป้อง “ผู้ลงทุน” มากขึ้น ทำให้การออก “ขายหุ้นกู้” เพื่อการระดมเงินทุน “ไม่ใช่เรื่องง่าย” อีกต่อไป

ทว่าในธุรกิจมีความจำเป็นต้องสร้างการเติบโตสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการเติบโตของ “พอร์ตสินเชื่อ” ควบคู่กับการบริหารจัดการหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนทางการเงินที่ดีหรือเรียกว่า “ต่ำที่สุด” ดังนั้น หนึ่งในช่องทางที่เอกชนกำลังกระจายขยายฐานแหล่งเงินทุน นั่นคือ “การกู้เงินต่างประเทศ” เพิ่มเติม เหตุผลหลักๆ มาจาก “ดอกเบี้ยต่ำกว่ากู้เงิน หรือ ออกหุ้นกู้ในประเทศ” 

สำหรับในมุมของเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้รายได้ของประชาชนยังไม่กลับมาสู่ระดับปกติ แต่ความต้องการเงินเพื่อมาใช้จ่ายในครอบครัวยังอยู่ในระดับเดิม ขณะที่ธนาคาร (แบงก์) ต่างเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับ 16.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 91.4% ของจีดีพี สอดคล้องกับธุรกิจไฟแนนซ์ที่มีอัตราการเติบโตเป็น “ตัวเลขสองหลัก” 

“ดังนั้นจะเห็นว่าธุรกิจไฟแนนซ์จำเป็นต้องสร้างการเติบโตสินเชื่อไปควบคู่กับการบริหารจัดการหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนที่ดีหรือเรียกว่าถูกที่สุดพบว่าเริ่มกระจายขยายฐานแหล่งเงินทุนกู้เงินต่างประเทศเพิ่มเติม เพราะคิดดอกเบี้ยต่ำกว่ากู้เงินหรือออกหุ้นกู้ในประเทศนั่นเอง” 

“เมืองไทย แคปปิตอล” จ่อกู้เงิน “หมื่นล้าน” 

นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผยว่า ปัจจุบันแหล่งเงินทุนของบริษัทมาจากทั้งในและต่างประเทศ แบ่งเป็นในประเทศบริษัทได้รับแหล่งเงินกู้จากแบงก์และการออกหุ้นกู้ 

ขณะที่แหล่งเงินทุนต่างประเทศที่ผ่านมาบริษัทค่อนข้างเป็นที่รู้จักของสถาบันการเงินในต่างประเทศ จากการที่บริษัทได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) บริษัทเพื่อการลงทุนและการพัฒนาแห่งเยอรมนี (DEG) และ ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (SMBC) 

ดังนั้นทำให้ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าไว้ว่าจะมีเงินกู้จากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท โดยดอกเบี้ยจะต่ำกว่าเงินกู้ภายในประเทศ

อย่างไรก็ตามการขอกู้เงินจากต่างประเทศนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทต้องการกระจายความเสี่ยง และลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนแหล่งใดแหล่งหนึ่งเป็นหลัก ดังนั้น บริษัทมองว่าการมีพันธมิตรเป็นธนาคารต่างประเทศนอกจากจะสนับสนุนเงินทุนในการเติบโตของบริษัทแล้วยังจะช่วยให้บริษัทพัฒนามาตรฐานการบริการของบริษัทให้ดียิ่งขึ้นสู่การเป็นธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ระดับโลก

สอดรับกับแนวโน้มสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในไตรมาสแรกปีนี้ ยังคงเติบโตได้ดีทั้งจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์และรถยนต์ เป็นไปตามเป้าการเติบโตที่บริษัทตั้งไว้ในกรอบ 20% และคาดว่าแนวโน้มตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยังมีความต้องการสูง เนื่องจากเน้นสินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์เป็นประกัน ยังคงมองว่าสินเชื่อประเภทนี้ยังเติบโตได้และไม่มีปัญหาในอีกหลายปีข้างหน้า

ระมัดระวังปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

พร้อมกันนี้ บริษัทเน้นไปที่การปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น เนื่องจากสินเชื่อประเภทนี้มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่ำเมื่อเทียบกับสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อไม่มีหลักประกัน บริษัทมีขั้นตอนในการปล่อยที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมคุณภาพหนี้ให้อยู่ในระดับที่ตั้งเป้าไว้ 

นอกจากนั้นพนักงานที่สาขาก็สามารถตามเก็บหนี้ได้ดีขึ้นด้วย ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าที่จะคุม NPL ให้ไม่เกิน 3.20% จากปีก่อน อยู่ที่ระดับ 3.1%

“MTC เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินที่ถูกต้องและเป็นธรรม โดยการดำเนินงานของเราจะสอดคล้องกับประกาศของทางแบงก์ชาติ มีการเน้นย้ำให้ลูกค้ากู้เท่าที่จำเป็นและคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายชำระของลูกค้าเป็นหลัก”

“ศรีสวัสดิ์” พิจารณากู้เงินนอกประเทศ 

นางสาวธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD กล่าวว่า กลุ่ม SAWAD กำลังพิจารณาเงินทุนสถาบันการเงินต่างประเทศเช่นกัน หากมีเงื่อนไขทางด้านค่าใช้จ่ายที่ดีกว่าหรือต่ำกว่าแหล่งเงินทุนในประเทศ เราก็ให้ความสนใจ เปิดโอกาสแต่ไม่รีบร้อน

ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่าการใช้เงินทุนจากสถาบันการเงินต่างประเทศหรือไม่นั้น จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของแต่ละบริษัท ซึ่งปัจจัยภายในจะไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะไปพอร์ตลูกค้ามีความแตกต่างกัน ต้นทุนทางการเงิน และความเพียงพอของกระแสเงินสดหมุนเวียนภายในอาจไม่เท่ากัน

สำหรับกลุ่ม SWAD แหล่งเงินทุนของบริษัท ในปัจจุบันหลักๆ มาจากกระแสเงินสดหมุนเวียนที่ยังอยู่ในระดับที่ดี และมีการออกหุ้นกู้เพิ่มเติม ยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง ซึ่งนักลงทุนยังให้การตอบรับที่ดี นักลงทุนคลายกังวลสถานการณ์ในตลาดหุ้นกู้มากขึ้นและยังต้องการลงทุนเพื่อล็อกดอกเบี้ยในระดับสูงไว้ภายใต้แนวโน้มดอกเบี้ยขาลงในระยะข้างหน้า 

ดังนั้น บริษัท เตรียมออกหุ้นกู้เพิ่มเติมอีก 3,000-6,000 ล้านบาทในไตรมาส 2 ของปีนี้ อีกทั้งบริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในประเทศเพียงพอพร้อมสนับสนุนการเติบโตในปีนี้

“ต้นทุนทางการเงิน (Cost of fund) ปัจจุบันอยู่ในระดับเฉลี่ยที่ 4% ต้องยอมรับว่าจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น แต่มองว่าตอนนี้เป็นจุดสูงสุดแล้ว จากการที่ธนาคารกลางหลายประเทศส่งสัญญาณว่าปีนี้อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้คาดว่าไทยเองก็จะปรับลงเช่นเดียวกันในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งก็จะเป็นผลบวกต่อธุรกิจ”

สำหรับ ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อคงค้าง และยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่เติบโตไม่น้อยกว่า 20% จากปีก่อน โดยคาดว่าจะมีพอร์ตมีสินเชื่อคงค้างแตะ 120,000 ล้านบาทในปีนี้ จากปีก่อน 100,000 ล้านบาท

“เงินติดล้อ” รับต้นทุนดอกเบี้ยต่ำกว่า  

นายวรุตม์ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR กล่าวว่า เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นและค่อนข้างตึงตัว จึงเป็นความท้าทายผู้เล่นในตลาด ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

แต่ด้วยบริษัทมีเครดิตเรตติ้ง A ซึ่งเป็นระดับสูง เมื่อเทียบกับผู้เล่นรายอื่นๆ ในตลาด ทำให้บริษัทมีความน่าเชื่อถือและขยายฐานแหล่งเงินทุนต่างประเทศเพิ่มเติมได้ในอนาคต จากปัจจุบันบริษัทได้รับแหล่งเงินทุนจาก IFC ซึ่งอยู่ภายใต้ World Bank Group เพื่อสนับสนุน financial inclusion ในประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่มีมาตรฐานระดับโลก

นอกจากนี้ ช่วงปลายไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ เพื่อโรลโอเวอร์ (Rollover) หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดอายุ คาดว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และยังวงเงินจากธนาคารที่เหลืออยู่ ซึ่งยังไม่ได้ใช้ ทำให้งบดุลของบริษัทแข็งแกร่ง

“ในปีที่ผ่านมาต้นทุนทางการเงินของบริษัท ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ตามสถานการณ์ทั้งในไทยและต่างประเทศแต่เป็นการยังคงปรับเพิ่มขึ้นในสัดส่วนค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนบริษัทมีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างดีด้วยเครดิตเรตติ้งบริษัทอยู่ในระดับสูง เข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า และสามารถเจรจาหาเงินทุนใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ มีการกระจายแหล่งกู้ยืมเงินที่ดี เพื่อชำระคืนหนี้และสร้างการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต”

ดังนั้น ในปีที่ผ่านมาบริษัทระดมเงินทุน 68,216 ล้านบาท เป็นสัดส่วนออกหุ้นกู้ 51% และเงินกู้สถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ สัดส่วน 49% โดยยังมีเงินทุนหมุนเวียนที่เบิกใช้ได้มากกว่า 24,000 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้เสียและรองรับการเติบโตธุรกิจในอนาคต ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายเติบโตสินเชื่อ 10-20% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 97,000 ล้านบาท รวมถึงคาดว่าต้นทุนทางการเงิน จะอยู่ในกรอบ 3-3.35% จากปีก่อนที่ 3.34% และปีนี้คุมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ระดับ 1.4-1.8%