เปิดโฉมหน้า 7 CEO ป้ายแดงแรงฤทธิ์ พิชิตความสำเร็จ แห่งปี 2567

เปิดโฉมหน้า 7 CEO ป้ายแดงแรงฤทธิ์ พิชิตความสำเร็จ แห่งปี 2567

เปิดโฉมหน้า 7 CEO ป้ายแดงแรงฤทธิ์ พิชิตความสำเร็จ แห่งปี 2567 ปตท. ตั้ง ‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ CEO ปตท.คนที่ 11 เริ่มงานวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นี้

KEY

POINTS

  • CEO ป้ายแดง มากความสามารถ แห่งปี 2567 ด้วยกันทั้งสิ้น 7 ราย หุ้น PTT ‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ CEO ปตท.คนที่ 11 เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 13 .ค. 67 ต่อจาก ‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’ ที่จะครบวาระ 4 ปี ภายในเดือน พ.ค.67 นี้
  • 'สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ บุตรชาย ‘นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ’ ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง BANPU ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีผลในวันที่ 2 เม.ย.67
  • SIRI แต่งตั้ง ‘นายอุทัย อุทัยแสงสุข’ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ จากเดิมดำรงตำแหน่งประธานผู้บริหารสายงานปฎิบัติการ

 

 

เปิดโฉมหน้า 7 CEO ป้ายแดงแรงฤทธิ์ พิชิตความสำเร็จ แห่งปี 2567 ปตท. ตั้ง ‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ CEO ปตท.คนที่ 11 เริ่มงานวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นี้

ในปี 2567 ผ่านไปแค่ 3 เดือนเศษ ๆ บริษัทระดับชั้นนำในเมืองไทยหลายบริษัทมีการปรับเปลี่ยนผู้นำสูงสุดในองค์ หรือที่เรียกว่า CEO ย่อมาจาก chief executive officer หรือ ประธานกรรมการบริหาร เป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหารงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง 

และยิ่งน่าสนใจเพิ่มขึ้นไปอีกที่ CEO ป้ายแดงเหล่านี้ ล้วนเป็นมีความสามารถ มากด้วยประสบการณ์ที่พร้อมจะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ 

ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจในช่วง 3 เดือน พบว่า มี CEO ป้ายแดง มากความสามารถ แห่งปี 2567 ด้วยกันทั้งสิ้น 7 ราย 

7 CEO ป้ายแดงแรงฤทธิ์ พิชิตความสำเร็จ แห่งปี 2567

1. คงกระพัน อินทรแจ้ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT

มาร์เก็ตแคป 978,282.62 ล้านบาท ผลการดำเนินงาน ปตท. และบริษัทย่อย ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2565 ซึ่งมีกำไรสุทธิ จำนวน 91,175 ล้านบาท

 มติบอร์ด ปตท. เห็นชอบตั้ง ‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง CEO ปตท.คนที่ 11 เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ต่อจาก ‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’ ที่จะครบวาระ 4 ปี ภายในเดือน พ.ค.2567 นี้

‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ มีประสบการณ์มากกว่า 25 ปีในการบริหารบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการกลั่นปิโตรเลียมแบบครบวงจร รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในด้านการกำหนดกลยุทธ์องค์กร การพัฒนาธุรกิจ การเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ การวิจัยและพัฒนา (R&D) การพัฒนาโครงการลงทุนที่สำคัญ การควบรวมกิจการระหว่างประเทศ และการบริหารจัดการกิจการร่วมค้า

และมีประสบการณ์ที่หลากหลายในการบริหารจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ และเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Emery Oleochemicals Group และกรรมการของบริษัทย่อยในต่างประเทศ ได้แก่ Emery Oleochemicals Group ในประเทศมาเลเซีย Vencorex Holding ในประเทศฝรั่งเศส และ NatureWorks LLC ในสหรัฐอเมริกา

ขณะเดียวกัน ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่งประธานร่วม France-Thailand Business Forum โดยมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้นำและส่งเสริมในเรื่องเศรษฐกิจความร่วมมือกัน (Economic Collaboration) รวมทั้งการลงทุนและการค้าทั้งสองทาง (Two-way trade and investment) ระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส

2. ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) SCC

มาร์เก็ตแคป 319,200.00 ล้านบาท ผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิ 25,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อน ผลจากกำไรการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา มูลค่ารวม 14,822 ล้านบาท แม้ธุรกิจเคมิคอลส์มีส่วนต่างราคาขายลดลงและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในภูมิภาค

เอสซีจี มีมติแต่งตั้ง ‘ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม’ ให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ แทนคุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ที่กำลังจะครบเกษียณอายุ และแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด อีกตำแหน่งหนึ่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

‘ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม’ ซีอีโอคนใหม่ของเอสซีจี มีประสบการณ์การทำงานใน เอสซีจี ดังนี้

  • 2543 – 2547 eCommerce and eBusiness Manager ธุรกิจเคมิคอลส์
  • 2547 – 2553 Business Development and Corporate Planning Director ธุรกิจเคมิคอลส์
  • 2551 – 2555 Deputy General Director, Long Son Petrochemicals Company Limited
  • 2555 – 2561 General Director, Long Son Petrochemicals Company Limited
  • 2561 – 2564 ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ – การเงินและการลงทุน เอสซีจี
  • 2561 – 2565 กรรมการบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

 

3. พิทยา วรปัญญาสกุล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC

มาร์เก็ตแคป 111,512.95 ล้านบาท ปี 2566 มีกำไร 7,295.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.05% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไร 7,079.40 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 KTC มีมูลค่าพอร์ตรวมเท่ากับ 112,346 ล้านบาท ขยายตัว 7.8% จากภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่ทยอยฟื้นตัวโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน  

ทั้งนี้ KTD ประกาศแต่งตั้ง ‘พิทยา วรปัญญาสกุล’ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) แทน ‘ระเฑียร ศรีมงคล’ ที่จะครบกำหนดการขยายเวลาเกษียณอายุ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

โดย ‘พิทยา’ ถือเป็น CEO หญิงคนแรกแห่งเคทีซี ที่เป็นผู้คร่ำหวอดมีประสบการณ์ด้านการตลาดบัตรเครดิตมาเกือบ 30 ปี โดยเข้าร่วมงานดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงาน Credit Card เมื่อปี 2540 ก่อนมารับผิดชอบเพิ่มในสายงานธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค และเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานการตลาดและสื่อสารองค์กร (Chief Marketing & Communication Officer) 

 

4. สินนท์ ว่องกุศลกิจ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU

มาร์เก็ตแคป 53,100.18 ล้านบาท ผลประกอบการปี 2566 บริษัทฯ มีกำไร 5,434.06 ล้านบาท ลดลง 87% จากปี 65 ที่มีกำไร 40,518.97 ล้านบาท ทั้งนี้  BANPU ได้ชี้แจงผลประกอบการโดยใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ว่า ปี 2566 กลุ่มบริษัทรายงานผลกำไรสุทธิ 160 ล้านดอลลาร์ ลดลง 1,002 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 86% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ปัจจัยหลักจากราคาตลาดของก๊าชธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ส่งผลให้ค่าภาคหลวงรวมทั้งขาดทุนจากอนุพันธ์ทางการเงินลดลงจากปีก่อนเช่นกัน

ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติแต่งตั้ง ‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ เป็นบุตรชายของ ‘นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ’ ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง BANPU ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งจะมีผลในวันที่ 2 เม.ย.67 เป็นต้นไป 

โดยการสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทบ้านปูเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกจากนี้ เพื่อสะท้อนถึงความพร้อมและความเชื่อมั่นของบริษัทฯ ในการเปลี่ยนผ่านผู้นำองค์กร (Leadership Transformation) คณะกรรมการฯ ยังได้กำหนดแนวทางและวางแผนพัฒนาผู้สืบทอดตำแหน่งสำคัญ (Succession Planning and High Performance Management) เพื่อขับเคลื่อนองค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ (Business Transformation ) มาอย่างต่อเนื่อง

 

5. อุทัย อุทัยแสงสุข บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI

มาร์เก็ตแคป 30,208.56 ล้านบาท โดยปี 2566 แสนสิริมีกำไรสุทธิสูงถึง 6,060 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ก่อตั้งมาได้ 40 ปี หรือ All Time High เพิ่มขึ้น 42% จากปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 4,280 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ 15.5% ทุบสถิติใหม่ นับว่าเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตด้านกำไรสุทธิสูงที่สุดในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้ ส่วนยอดขายรวมอยู่ที่ 49,000 ล้านบาท ด้านรายได้รวมก็ถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่เช่นกันอยู่ที่ 39,082 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อนหน้า ซึ่งมาจากการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งแนวราบและแนวสูง

ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติแต่งตั้ง ‘นายอุทัย อุทัยแสงสุข’ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ (จากเดิมดำรงตำแหน่งประธานผู้บริหารสายงานปฎิบัติการ) โดยมีผลวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป

‘นายอุทัย อุทัยแสงสุข’ เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย มองภาพตลาดและคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ อย่างเฉียบคม ด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนตลอดระยะเวลา 30 ปี ร่วมพัฒนาโครงการต่างๆ ของแสนสิริมามากมาย 

 

6. ธีรเดช เกิดสำอางค์ บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI

มาร์เก็ตแคป 5,928.91 ล้านบาท ปี 2566 บริษัทมียอดขายกว่า 12,561 ล้านบาท มีรายได้รวม 5,862 ล้านบาท พร้อมทั้งมีกำไรสุทธิ 1,195 ล้านบาท และจ่ายปันผลรอบปี 2566 เพิ่มอีก 0.603 บาท/หุ้น ขึ้น XD วันที่ 30 เม.ย.67 นี้

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 1/2567 เมื่อ 24 ม.ค.67ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติแต่งตั้ง ‘นายธีรเดช เกิดสำอางค์’ เป็นกรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหารแทน นายสุรินทร์ สหชาติโภคานันท์ โดยมีตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

‘ธีรเดช เกิดสำอางค์’ มีประสบการณ์ในการทำงานสายงานธุรกิจบ้านจัดสรรมาเป็นเวลากว่า 30 ปี รวมถึงการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงสายงานพัฒนาบ้านจัดสรรให้แก่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนจะเข้ามาดำรงตำแหน่ง Co-CEO ที่บมจ. บริทาเนีย (BRI) เป็นเวลา 1 ปี จนปัจจุบัน ได้ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

 

7. อภิชาติ เกษมกุลศิริ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN

มาร์เก็ตแคป 5,089.70 ล้านบาท ผลการดำเนินงาน ณ สิ้นปี 2566 มีรายได้จากการขายและบริการ 7,407 ล้านบาท ลดลงประมาณ 28 % จากรายได้จากการขายและบริการที่ 10,276 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 353 ล้านบาท ลดลง 42 % จากกำไรสุทธิที่ 612 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2565

LPN แต่งตั้ง ‘นายอภิชาติ เกษมกุลศิริ’ ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทน ‘นายโอภาส ศรีพยัคฆ์’ ที่เกษียณอายุ โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 67 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้ ‘อภิชาติ เกษมกุลศิริ’ ได้เข้าร่วมงานกับ LPN ตั้งแต่ปี 2561 โดยดำรงตำแหน่ง กรรมการบริษัท กรรมการบริหาร กรรมการบริหารความเสี่ยง และหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรในช่วงที่ผ่านมา 

การเข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LPN จึงเป็นโอกาสและความท้าทายที่จะได้ผลักดัน และขับเคลื่อนองค์กรให้มีอัตราการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้น พันธมิตร และนักลงทุน พร้อมทั้งการดูแลลูกค้าด้วยการพัฒนาความ “น่าอยู่” ในทุกมิติเพื่อยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นเจตนารมณ์และความภาคภูมิใจของ LPN ตลอดระยะการดำเนินธุรกิจมากว่า 3 ทศวรรษ

ทั้งนี้ ‘อภิชาติ เกษมกุลศิริ’ ถือว่าเป็นผู้ที่มีความประสบการณ์และมากด้วยความสามาถ โดยในอดีตเคย

กรรมการบริหาร และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สาย Treasury and Banking Operations Group ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จํากัด (มหาชน) , กรรมการ บริษัทลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จํากัด , กรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ สินเอเซีย จํากัด และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัทสามารถ ไอ-โมบาย จํากัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เซ็นทรัล รีเทล แต่งตั้ง ‘ณัฐธีรา บุญศรี’ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มห้างสรรพสินค้า ในเครือเซ็นทรัล รีเทล อย่างเป็นทางการ โดยจะเป็นแม่ทัพใหญ่กุมบังเหียน ขับเคลื่อนอาณาจักรห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและโรบินสันเดินหน้าสู่สากลอย่างเต็มภาคภูมิ

 ณัฐธีราคลุกคลีและคร่ำหวอดในวงการรีเทลมาเกือบ 20 ปี สั่งสมประสบการณ์ทำงานมาแล้วในทุกภาคส่วนของการบริหารห้าง มีความเชี่ยวชาญในการยกระดับ Store Transformation ปรับโฉมพื้นที่ในห้าง เฟ้นหาแบรนด์สินค้าใหม่ๆ ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์และความต้องการของลูกค้า โดยมุ่งเน้นที่การมอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับลูกค้า ดังเช่นหลากหลายโปรเจ็กต์ที่ผ่านมา อย่างการปรับลุคห้าง Zen สู่ Central at Centralworld และการรีโนเวทห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดและครบครันยิ่งขึ้น รวมถึงเมกะโปรเจ็กต์ที่กำลังเกิดขึ้นนั่นคือ การปรับพื้นที่และรูปโฉมใหม่ของห้างเซ็นทรัล ชิดลม โดยวางเป้าหมายขึ้นแท่นสู่ห้างสรรพสินค้าลักชัวรีอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia)

 

เปิดโฉมหน้า 7 CEO ป้ายแดงแรงฤทธิ์ พิชิตความสำเร็จ แห่งปี 2567