อัปเดตพอร์ตหุ้น “ชินวัตร - ดามาพงศ์” มั่งคั่ง 1.44 หมื่นล้านบาท รับปันผลปี 66 กว่า 763 ล้านบาท 

อัปเดตพอร์ตหุ้น “ชินวัตร - ดามาพงศ์” มั่งคั่ง 1.44 หมื่นล้านบาท รับปันผลปี 66 กว่า 763 ล้านบาท 

อัปเดตพอร์ตหุ้น “ชินวัตร - ดามาพงศ์” ถือหุ้น SC - PR9 มั่งคั่งระดับ 1.44 หมื่นล้านบาท รับปันผลปี 2566 อู้ฟู่กว่า 763 ล้านบาท ด้านนิตยสาร Forbes จัดอันดับมหาเศรษฐีทั่วโลกปี 2023 "ทักษิณ ชินวัตร" ติดอันดับ 1,434 ของโลก มีทรัพย์สิน 71,348.55 ล้านบาท

เรื่องราวของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ยังได้รับการโจษจันมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กลับมาเหยียบมาตุภูมิบ้านเกิดในรอบ 17 ปี เมื่อ 22 ส.ค.2566 และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จนถึงวันที่ 18 ก.พ.2667  ที่ “ทักษิณ” ได้พักโทษ และได้อิสรภาพ รับการปล่อยตัวกลับสู่อ้อมกอดของครอบครัว ซึ่งเรื่องราวของ “ทักษิณ ชินวัตร” ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง

โดยในปีที่ผ่านมา “ทักษิณ ชินวัตร” ได้รับการจัดอันดับจาก นิตยสาร Forbes มหาเศรษฐีทั่วโลกประจำปี 2023 ติดอันดับ 1,434 ของโลก จากทั้งหมด 2,540 คน และร่ำรวยเป็นอันดับที่ 12 ของไทย โดยมีทรัพย์สิน 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็นเงินไทยราว 71,348.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ นิตยสาร Forbes เปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินของ “ทักษิณ ชินวัตร” ย้อนหลัง 11 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2013 จนถึง 2023 พบว่า มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง

  • ปี 2023 มีมูลค่าทรัพย์สิน 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2022 มีมูลค่าทรัพย์สิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2021 มีมูลค่าทรัพย์สิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2020 มีมูลค่าทรัพย์สิน 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2019 มีมูลค่าทรัพย์สิน 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2018 มีมูลค่าทรัพย์สิน 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2017 มีมูลค่าทรัพย์สิน 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2016 มีมูลค่าทรัพย์สิน 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2015 มีมูลค่าทรัพย์สิน 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2014 มีมูลค่าทรัพย์สิน 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2013 มีมูลค่าทรัพย์สิน 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกันกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจพอร์ตหุ้นของตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ ในหุ้น SC และ PR9 มีมูลค่ารวม 14,421.69 ล้านบาท ขณะที่ปันผลปี 2566 ทั้ง 2 ตระกูลได้รับปันผลกว่า 762.55 ล้านบาท 

อัปเดตพอร์ตหุ้น “ชินวัตร - ดามาพงศ์” มั่งคั่ง 1.44 หมื่นล้านบาท รับปันผลปี 66 กว่า 763 ล้านบาท 

บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC พบคนในตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ ถือหุ้นใหญ่ 4 ราย รวมมูลค่า 9,164.56 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 20 ก.พ.2567 ที่ 3.38 บาท) ขณะที่ปันผลปี 2566 รับรวมกัน 677.85 ล้านบาท 

1.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (อุ๊งอิ๊ง) หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 1,216,149,870 หุ้น หรือ 28.48% มูลค่า 4,110.59 ล้านบาท 

2.น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ (เอม) ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 จำนวน 1,176,915,495 หุ้น หรือ 27.56% มูลค่า 3,977.97 ล้านบาท 

3.นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 จำนวน 201,234,375 หุ้น หรือ 4.71% มูลค่า 680.17 ล้านบาท 

4.คุณหญิง พจมาน ดามาพงศ์ ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 จำนวน 117,109,887 หุ้น หรือ 2.74% มูลค่า 395.83 ล้านบาท 

ขณะที่เงินปันผลปี 2566 หุ้น SC จ่ายปันผลถึง 2 ครั้งๆ แรกในวันที่ 18 พ.ค.2566 จ่ายปันผล 0.17 บาทต่อหุ้น ส่วนวันที่ 6 ก.ย.2566 จ่ายปันผล 0.08 บาทต่อหุ้น รวม 2 ครั้งของปี 2566 เท่ากับจ่ายปันผลไปทั้งสิ้น 0.25 บาท 

  • น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้ปันผลปี 2566 ทั้งสิ้น 304.04 ล้านบาท
  • น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ ได้ปันผลปี 2566 ทั้งสิ้น 294.23 ล้านบาท
  • นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้ปันผลปี 2566 ทั้งสิ้น 50.31 ล้านบาท
  • คุณหญิง พจมาน ดามาพงศ์ ได้ปันผลปี 2566 ทั้งสิ้น 29.28 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือนปี 2566 SC ยังคงรักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการดำเนินงาน 15,669 ล้านบาท เติบโต 10% (YoY) สัดส่วนหลักมาจากรายได้จากการขาย 95% และอีก 5% เป็นรายได้จากค่าเช่า และบริการ โดยมีรายได้จากการขาย โครงการแนวราบ 9 เดือน อยู่ที่ 11,857 ล้านบาท และ จากโครงการแนวสูงที่ 2,999 ล้านบาท มีการเติบโตถึง 116% (YoY) ด้วยปัจจัยความสำเร็จมาจากการโอนคอนโดมิเนียม 28Chidlom และ SCOPE Langsuan และ บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,631 ล้านบาท

ในขณะที่ยอดขายรวม ทำได้ 20,681 ล้านบาท เป็นสถิติยอดขายรวมสูงสุดของ 9 เดือน เติบโต 20% (YoY) โดยมาจากยอดขายของโครงการแนวราบ 12,941 ล้านบาท และจากโครงการแนวสูง 7,740 ล้านบาท ซึ่งมีการเติบโตถึง 145% (YoY) จากผลตอบรับที่ดีมากของโครงการ COBE รัชดา-พระราม 9

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 บริษัทมีทรัพย์สินรวม 62,765 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 22,473 ล้านบาท และมูลค่าทางบัญชีเท่ากับ 5.26 บาทต่อหุ้น และ มียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) 15,866 ล้านบาท แบ่งเป็น แนวราบ 43% และ คอนโด 57%



บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) หรือ PR9 พบคุณหญิง พจมาน ดามาพงศ์ ถือหุ้นใหญ่เพียงคนเดียว ในลำดับ 1 จำนวน 292,062,500 หุ้น หรือ 37.14% ราย รวมมูลค่า 5,257.12 ล้านบาท (ราคาปิด ณ 20 ก.พ.2567 ที่ 18.00 บาท) ขณะที่ปันผลปี 2566 จ่าย 1 ครั้งเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2567 ที่ 0.29 บาทต่อหุ้น รับปันผลที่ 84.70 ล้านบาท

 สำหรับผลการดำเนินงาน PR9 ปี 2566 รายได้รวมทุบสถิติ All Time High 4,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิ 558 ล้านบาท หากไม่รวมรายการวัคซีนที่ลูกค้าไม่มาใช้บริการ กำไรสำหรับปี 2566 จะสูงกว่า กำไรสำหรับปี 2565 คิดเป็น 3.8% อานิสงส์ช่วงโค้งสุดท้ายไตรมาส 4/66 เติบโตโดดเด่น จากแบรนด์ที่แข็งแกร่งเป็นที่รู้จัก และยอมรับในกลุ่มผู้ป่วยทั้งใน และต่างชาติ และเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก จากการเข้ามาใช้บริการตรวจสุขภาพประจำปี, การผ่าตัดทั่วไป รวมถึงการทำเลสิค 

โดยภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 4/66 บริษัทมีกำไรสุทธิ 188 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49 ล้านบาท เติบโต  36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมรายการวัคซีนที่ลูกค้าไม่มาใช้บริการบริษัทจะมีกำไรสุทธิ 139 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,191 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75 ล้านบาท เติบโต 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่รายได้รวม 1,086 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ในปีนี้ PR9 ปักธงขับเคลื่อนรายได้รวมเติบโต 12% ทะลุ 4,700 ล้านบาท ภายใต้การเดินหน้ากลยุทธ์ด้านการพัฒนาความเชี่ยวชาญการรักษาโรคยากซับซ้อน เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขัน ขับเคลื่อนการเติบโตต่อเนื่องแบบยั่งยืน ควบคู่ไปกับการขยายวอร์ดเพิ่มเติม รองรับผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงการทำการตลาดเชิงรุกขยายฐานผู้ป่วย ทั้งชาวไทยและต่างชาติ อาทิ กัมพูชา, พม่า, สปป.ลาว และจีน รวมถึงผู้ป่วยชาวอาหรับ ที่ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกในการเข้าใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์