“ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน กับ บทบาท Gatekeeper ในสนามการลงทุน”

“ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน กับ บทบาท Gatekeeper ในสนามการลงทุน”

ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน เช่น ผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญ ในฐานะ Gatekeeper ที่จะช่วยสอดส่องดูแลการดำเนินการของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้

“ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน” เช่น ผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญ ในฐานะ Gatekeeper ที่จะช่วยสอดส่องดูแลการดำเนินการของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ (ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้) และเป็นหนึ่งใน value chain ที่อยู่ในแผนของ ก.ล.ต. ที่จะยกระดับคุณภาพการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพให้มีประสิทธิภาพขึ้น กำกับดูแลอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนให้แข็งแกร่งขึ้น

ผู้สอบบัญชี

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่องในการยกระดับการกำกับดูแลการสอบบัญชีตามมาตรฐานฉบับใหม่ที่กำหนดคุณสมบัติและการทำหน้าที่ของผู้สอบทานคุณภาพงานสอบบัญชี (EQR) (second eye) ในกรณีที่เป็นงานสอบบัญชีที่มีความเสี่ยงสูง กำหนดให้มีการสอบทานคุณภาพงานสอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียนก่อนออกรายงานการสอบบัญชี (hot review) โดยผู้สอบบัญชีอีกรายซึ่งมีความเป็นอิสระ (third eye) เพิ่มเติมจากผู้สอบบัญชีที่รับรองงบการเงินและ EQR และการใช้ professional skepticism ในการสอบบัญชี (การสังเกตและสงสัยเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ) ซึ่งทำให้มั่นใจว่าการสอบบัญชีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น 

รวมทั้งการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น การกำหนดจำนวนผู้สอบบัญชีในตลาดทุนขั้นต่ำที่สังกัดสำนักงานสอบบัญชี เพื่อให้สำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุนเข้มแข็งและมีบุคลากรเพียงพอที่จะให้บริการแก่บริษัทจดทะเบียนอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ และการกําหนดให้สํานักงานสอบบัญชีจัดให้มีการกำกับดูแลและการตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) และการประเมินระดับความเสี่ยงด้านไอที (IT Risk Assessment) หรือ ITRA เพื่อให้จัดการความเสี่ยงในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 9 ก.พ. และคาดว่าจะสามารถออกประกาศหลักเกณฑ์นี้ได้ภายในไตรมาส 2 ปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีแผนส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและคุณภาพการทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ Value of Audit ร่วมกับสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพงานสอบบัญชีและทำให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอต่อการตัดสินใจ เป็นต้น 

ที่ปรึกษาทางการเงิน

ก.ล.ต. ร่วมมือกับชมรมวาณิชธนกิจในการพัฒนาและยกระดับหลักสูตรการสอบและการอบรมของที่ปรึกษาทางการเงินในฐานะที่เป็นหนึ่งใน Gatekeeper ที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง และได้มีการออกหนังสือเวียนถึงบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อซักซ้อมความเข้าใจและแนวปฏิบัติที่ดีในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการเตรียมความพร้อมให้แก่บริษัทที่จะยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน เพื่อให้ที่ปรึกษาทางการเงินใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่และสอบทานความพร้อมหรือคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตเสนอขายหุ้น IPO

ผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้

ก.ล.ต. มีแผนเพิ่มคุณภาพและความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ของผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ (underwriter) ในการจัดประเภทผู้ลงทุน การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ลงทุน และการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์และคำแนะนำแก่ผู้ลงทุน เช่น การปรับปรุงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจสอบ (due diligence) และการเปิดเผยข้อมูลของผู้ออกตราสารหนี้ การปรับปรุงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดประเภทผู้ลงทุน เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ลงทุนที่ได้รับการจัดประเภทเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ มีฐานะ ความเข้าใจ สามารถรับความเสี่ยงได้ และรับทราบผลการจัดประเภท เพื่อเสนอขายแก่ผู้ลงทุนได้อย่างถูกประเภท ปรับปรุงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอขาย และการให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้า รวมทั้งเพิ่มเติมการตรวจสอบผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ขายตราสารหนี้เสี่ยงสูง เพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติเป็นตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นเหมือนตัวแทนของผู้ถือหุ้นกู้ในแต่ละรุ่น หากเกิดกรณีที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ไม่ชำระหนี้หรือผิดข้อกำหนดสิทธิอื่น ๆ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีหน้าที่เรียกร้องให้บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ชี้แจงและแก้ไข รวมถึงเรียกร้องให้ชำระหนี้และบังคับหลักประกันให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ จึงเป็นมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและดูแลผู้ถือหุ้นกู้ ก.ล.ต. จึงสนับสนุนและให้ความสำคัญในการทำหน้าที่ของผู้แทนผู้หุ้นกู้ โดยมีแผนยกระดับการทำหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เช่น การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การติดตามและการทำหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ การจัดทำสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มาตรฐานเพื่อกำหนดขอบเขตหน้าที่ระหว่างผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้ และการปรับปรุงข้อกำหนดสิทธิมาตรฐานเพื่อกระชับกระบวนการและลดอุปสรรค รวมถึงปรับปรุงแนวปฏิบัติที่ดีของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

สำหรับสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มาตรฐาน ก.ล.ต. ร่วมกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) จัดทำตัวอย่างสัญญาฯ ขึ้นมาแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น ผู้สนใจสามารถไปให้ความคิดเห็นได้ที่ www.thaibma.or.th จนถึงวันที่ 5 มี.ค. นี้นะครับ 

นอกจากการเดินหน้ายกระดับการทำงานของ Gatekeeper ในตลาดทุน ที่ ก.ล.ต. ทำมาอย่างต่อเนื่องตามที่ได้เล่าไปแล้วนะครับ ก.ล.ต. ยังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ 4 ฉบับ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติไปเมื่อปี 2566 โดยหนึ่งในนั้นเป็นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลการระดมทุน สำนักงานสอบบัญชี และผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน 

เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนทุกลำดับขั้นของ value chain ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ เชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้าง Trust and Confidence ในตลาดทุนไทยและทำให้การคุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ