แบงก์ขึ้นแท่น“หุ้นปันผล”ต่อเนื่อง 5 ปีพาเหรดจ่ายดันยีลพุ่ง

แบงก์ขึ้นแท่น“หุ้นปันผล”ต่อเนื่อง 5 ปีพาเหรดจ่ายดันยีลพุ่ง

ทยอยประกาศผลประกอบการปี 66 เข้าสู่โค้งสุดท้าย ซึ่งภาพรวมกำไรยังอยู่ในโทนปรับตัวลดลง ที่สำคัญบริษัทขนาดใหญ่ยังออกมาตํ่ากว่าคาด จนทำให้เริ่มมีการพูดถึงการปรับลดประมาณการปี 2567 ลง ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมตลาดหุ้นอย่างการปรับทบทวน ดัชนีเป้าหมายหรือ SET Target อีกครั้ง

   กลุ่มที่ถือว่ายังแข็งแกร่งและเป็นหุ้นที่สะท้อนภาวะเศรษฐกิจของไทยได้ดียังยกให้ “หุ้นกลุ่มแบงก์”  ที่แม้จะเจอมรสุมลูกใหญ่จากการตั้งคำถามถึงตัวเลขกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือ NIM จนทำให้การเข้าถึงสินเชื่อยากและลำบากแต่หุ้นแบงก์สามารถฝ่ากระแสลบ สู้กับเทคโนโลยีที่เข้ามาดีสปรับชั่น การแข่งขันกันเอง หรือแม้แต่เผชิญหนี้สูญจากการผิดนัดชำระหนี้ของ บริษัทจดทะเบียนใหญ่ (บจ.)ในตลาดหุ้น

    หุ้นแบงก์ก็ยังขึ้นแท่น "รักษาผลประกอบการดีต่อเนื่อง" และ "การจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ" จนกลายเป็นหุ้นที่มักจะเข้ามาเก็งกำไรรอรับปันผลทุกปี

   กลุ่มแบงก์ใหญ่ (7แห่ง)สามารถทำกำไรทั้งปี 2566 ที่ 197,410 ล้านบาท เติบโต18% จากปี 2565 โดยรายแบงก์ประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กำไร 41,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.1 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กำไร 42,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.6 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน

   ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP กำไร 5,443 ล้านบาท ลดลง 28.4 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กำไร 36,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กำไร 43,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน

   บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเซียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO กำไร 7,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1 % และธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB กำไร 18,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.1 %

     แบงก์ขึ้นแท่น“หุ้นปันผล”ต่อเนื่อง 5 ปีพาเหรดจ่ายดันยีลพุ่ง

    ปี 2566 ผลประกอบการกำไรโทนบวกเป็นผลมาจาก NIM ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงตามการปรับขึ้นนโยบายดอกเบี้ยสามารถช่วยดันรายได้ดอกเบี้ยสุทธิแม้จะมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานและตั้งสำรองสูงก็ตาม ซึ่งแบงก์ที่ผลประกอบการโดดเด่นยกให้ BBL กำไรเติบโต 42% จากปีก่อน รองลงมาเป็น TTB กำไรเติบโต 30% จากปีก่อน ซึ่งมีปัจจัยพิเศษจาก tax shield หลังรวมกิจการมูลค่ามากกว่า 1.55 หมื่นล้านบาท

    โดยเห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มแบงก์สามารถทำกำไรได้อู้ฟูท่ามกลางเศรษฐกิจปี 2566 ออกมาโตเพียง 1.9 % ต่ำสุดในประเทศอาเซียน มาจาก NIM ที่หนุนกำไรเกือบทุกแบงก์ 

    “กรุงเทพธุรกิจ” เก็บข้อมูลพบว่าแบงก์ที่ NIM มากที่สุดใน บรรดา 9 แบงก์ อันดับแรก คือ TISCO ที่ NIM สูงถึง 5.04% แม้จะลดลงจาก 5.09% แต่ NIM ก็ยังสูงที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์  ถัดมา BAY โดยอยู่ที่ 3.91% และ SCB โดย NIM อยู่ที่ 3.73%เช่นเดียวกัน BBL ที่ NIM เติบโตโดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.02% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 2.42%, KBANK มาอยู่ที่ 3.66% จาก3.33% ,KTB ส่วนต่างดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.22% จาก 2.60%

    เมื่อกำไรดีเกินคาดทำให้เกิดความคาดหวังไปถึงอัตราการจ่ายเงินปันผลถือว่าเป็น "ไฮไลต์"สำหรับหุ้นแบงก์ได้ทุกปีรวมไปถึงปี 2566 ด้วย 

    ล่าสุดการทยอยจ่ายปันผลที่เกิดกระแสไล่เก็บหุ้นแบงก์อีกครั้งคือ SCB ที่รอบนี้จัดหนักจัดเต็ม จากบอร์ดอนุมัติจ่ายปันผลในอัตราหุ้นละ 10.34 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 34,816 ล้านบาท โดยที่บริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ก.ย.2566 ในอัตราหุ้นละ 2.50 บาท

    SCB เหลือจ่ายปันผลในรอบครึ่งปีหลัง 2566 อีกหุ้นละ 7.84 บาท โดยการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัท ตามที่ปรากฎรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 18 เม.ย. 2567 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 3 พ.ค.2567

    แน่นอนว่าข่าวดังกล่าวทำให้ Dividend Yeild ของหุ้น SCB พุ่งสูงถึง 7.5 % ขึ้นแท่นหุ้นปันผล Top 5 ของตลาดหุ้นไทยไปโดยปริยาย เพราะแม้แต่หุ้นขึ้นชื่อว่าจ่ายปันผลหนักมาตลอด บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ปี 2566 อยู่ที่ 6 บาท หรือ หุ้นแบงก์ด้วยกัน TISCO มักจะจ่ายในอัตรา 7.75 บาท รอบปี 2566 คาดอยู่ที่ 5.50 บาทในรอบครึ่งปีหลัง 2566 จากครึ่งปีแรกจ่ายไปแล้ว 2.0 บาท

    หากย้อนหลัง 5 ปี ปี 2562-2566 ไล่การจ่ายเงินปันผลของหุ้นแบงก์ไทยถือว่าโดดเด่นและปรับตัวดีต่อเนื่องแม้จะเจอภาวะวิกฤติในช่วงโควิด-19 ก็ตาม โดยจะเห็นได้ว่าปี 2563 แบงก์ทยอยงดจ่ายเงินปันผลในรอบครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นไปตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งผลทำให้เก็บไปจ่ายปันผลในครึ่งปีหลังหมด

    ตั้งแต่ 2564 การจ่ายปันผลกลับมาปกติแต่ “เพิ่มดีกรีอัตราจ่าย ” ในรายแบงก์อย่างชัดเจน จนทำให้กลายเป็นหุ้นที่ทำให้นักลงทุนยังชื่นชอบในการลงทุนเพื่อเก็บเป็น “หุ้นปันผล” ได้