‘ภากร’ ไขปมกำกับซื้อขายหุ้น รีเช็ตมาตรการ - ตรวจงบสกัด บจ.ผิดปกติ

‘ภากร’ ไขปมกำกับซื้อขายหุ้น  รีเช็ตมาตรการ - ตรวจงบสกัด บจ.ผิดปกติ

รับตลาดหุ้นไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ต้องปรับงานกำกับด้วยเทคโนโลยี พร้อมตรวจสอบข้อมูล เพิ่ม C-sign และ  Financial data health check หรือการติดตามคุณภาพ บจ. เช่น ข้อมูลงบการเงิน ผลประกอบการ

ตลาดหุ้นไทยปี 2567 ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนทั้งปัจจัยต่างประเทศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภายในประเทศที่ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า การเติบโตกำไรบริษัทจดทะเบียนถูกกดดันต้นทุน และปัญหาสภาพคล่องบางบริษัทจนกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนทำให้แรงขายของต่างชาติยังทำงานต่อเนื่อง

ปัจจัยดังกล่าวยังปกคลุมตลาดหุ้นไทยข้ามปี ซึ่งบทบาท และนโยบายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) “ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ มีโจทย์ใหญ่ต้องฝ่ากระแสปัจจัยลบเพื่อผลักดันทั้งด้านการเติบโต และต้องกำกับดูแลการซื้อขายให้มากขึ้นท่ามกลางความคาดหวังของนักลงทุนที่จับตามอง

@ บทบาทงานกำกับดูแลและงานธุรกิจต้องปรับอย่างไร

ทั้งสองบทบาทเหมือนเหรียญสองด้านต้องไปด้วยกัน สายการธุรกิจมี Listing เชิญชวนเข้าตลาดหุ้น พยายามหาบริษัทที่น่าสนใจกฎเกณฑ์แต่ละตลาด (SET-MAI -LiVEx) ด้านกำกับดูแลดูคุณภาพจะเข้ามาดูอะไรบ้าง ทั้งสองสายงานทำงานด้วยกัน และแยกกัน แต่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ตลอดเวลา เช่น ฝ่ายกำกับกังวลใจเรื่องนี้หากไม่บอกกันฝ่าย งานธุรกิจไม่รู้เลยว่ามีความสี่ยงอะไรบ้าง

ทางกลับกันฝ่ายธุรกิจไม่บอกว่าธุรกิจที่น่าสนใจที่ตลาดทุนต้องการจะทำงานไม่สอดคล้อง  จึงต้องทำงานให้สมดุลเพื่อทำงานร่วมกัน และแยกกัน ยกเว้นงานตรวจสอบการซื้อขายต้องแยกกันเด็ดขาดห้ามอีกฝ่ายรู้แต่เมื่อลงโทษแล้วต้องให้รับทราบจะได้บริหารความสัมพันธ์

@ปี 2567 มีการยกระดับงานกำกับ

การทำงานดังกล่าว ตลท.ให้ความสำคัญตลอด 2 สายงานไม่ได้ลดบทบาทใดบาทหนึ่ง ซึ่งในอนาคตสายงานกำกับขึ้นมารายงานระดับกรรมการตลท. แต่ฝ่ายบริหารจัดการยังเป็นผู้รับผิดชอบตามโครงสร้างองค์กรแต่จะมีการรายการผลการดำเนินการต่างๆ ไปยังระดับบอร์ด ตลท. ให้มีความชัดเจน ซึ่งผลดีมีความชัดเจนในด้านฝ่ายจัดการ และกรรมการรับรู้ในสิ่งที่ดำเนินการ เห็นนโยบายเห็นผลงานรับทราบได้มากขึ้น ซึ่งในอดีตอาจจะมีคำถามว่าดำเนินการไปใครรับทราบบ้างแต่ปรับให้ได้รับทราบหมด เห็นตามหน้าที่ทำงานทั้งโครงสร้าง การทำงานจะครบถ้วน

รวมไปถึงการบรรจุงานกำกับดูแลการซื้อขายเป็น KPI ของฝ่ายบริหารจัดการจากนี้ตั้งแต่ปี 2567 จึงอยากให้ “มั่นใจ ตลท. ให้ความสำคัญ” ตลอดไม่ได้เทน้ำหนักเพียงฝ่ายธุรกิจ หรือเน้นแค่กำกับแต่ต้องบาลานซ์ทั้งสองด้าน และปรับตัวอยู่ตลอด

 

 

@ งานกำกับซื้อขายตามทันการทำผิดแค่ไหน

ตลาดหุ้นไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว จากบริษัทเข้ามาจดทะเบียนใหม่ปีละ 40-50 บริษัท มูลค่าไอพีโอ 4,000-5,000 ล้านดอลลาร์ทุกปี ต้องปรับคุณภาพบริษัทจดทะเบียนตามไปด้วยเพื่อให้เกิดความเหมาะสมเพราะงานกำกับดูแลบริษัทใหญ่ กลาง เล็ก แตกต่างกัน ความสำคัญอยู่ที่การให้ข้อมูลมากขึ้นจาก ตลท. เห็นอะไรด้านการดำเนินธุรกิจ และเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับนักลงทุนเพื่อนำไปคิดวิเคราะห์

ฝ่ายงานกำกับมีความพร้อมทั้งเครื่องมือ การดูแลระดับมาตรฐานโลก ตลาดหุ้นโลกมีอะไรตลาดหุ้นไทยมีเช่นกัน วิธีการทำงานอัปเดตประสานหน่วยงานอื่นว่าเครื่องมือ กระบวนการ มีหรือแตกต่างที่อื่นอย่างไร เรื่องความเชี่ยวชาญระบบหรือเทคโนโลยีที่ใช้จึงไม่แตกต่าง หากแต่องค์ประกอบในตลาดหุ้นไทยกับต่างประเทศมีสิ่งที่ไม่เหมือนกัน รวมไปถึงการปรับเครื่องมือกระบวนการกำกับให้ทันต่อเหตุการณ์หรือไหม ตอนนี้จึงมีการตรวจสอบภายใน มีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามาให้คำแนะนำจะได้เห็นว่าควรปรับหรือดำเนินการดีอยู่แล้ว

“ถามว่าตลาดหลักทรัพย์ตามทันการซื้อขายผิดปกติไหมกลับมาดูมีบริษัทจดทะเบียน 800 บริษัท มีบุคลากรทำงานด้านนี้ 70-80 คน ทำอย่างไรก็ไม่พอจึงต้องให้เกิดระบบตรวจสอบทันที กระบวนการดูแลมากขึ้น ดังนั้นการปรับตัว ตลท. ครั้งนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ แค่คนไม่พอต้องใช้เครื่องมือ ระบบ AI เน้นเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะให้ข้อมูลล่วงหน้าเตือนมากขึ้น ลงโทษได้รวดเร็วขึ้น”

 

@การให้ความสำคัญข้อมูลคืออะไรบ้าง

ที่ผ่านมามีการดึงข้อมูลจากงบการเงินที่นักลงทุนไม่ได้พิจารณาหยิบยกขึ้นมาให้ผู้ลงทุนเห็นชัดเจน และนำไปวิเคราะห์ต่อ ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ เน้นให้ตระหนักด้านข้อมูลในส่วนนี้ มีทั้งเครื่องมือ เช่น C-sign และ  Financial data health check หรือการติดตามคุณภาพ บจ. เช่น ข้อมูลงบการเงิน ผลประกอบการเพิ่มเติมต่างๆ อะไรทำได้เร็วทำได้เลย ถ้าเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต้องเฮียริ่งทำความเข้าใจตกลงกันในอุตสาหกรรมจะเป็นกระบวนการที่ปรับเรื่อยๆ แต่จะเห็นภาพชัดเจนทั้งระยะสั้นถึงระยะยาว

@ตรวจสอบธุรกรรม short sell

อยู่ระหว่างศึกษาของ “โอลิเวอร์ ไวแมน” ทั้ง short sell - naked short sell และโปรแกรม High-Frequency Trading (HFT) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนม.ค. ที่ผ่านมา คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จสัปดาห์แรกเดือนก.พ.  โดยการศึกษาจะเทียบเคียงกับตลาดหุ้นใกล้เคียงกับไทย เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และตลาดหุ้นที่เป็นเป้าหมาย ตลาดหุ้นฮ่องกง ตลาดหุ้น Nasdaq เพื่อให้หลากหลายแต่ไม่ใช่ทุกตลาดเพราะจะมีแบ่งตามวัตถุประสงค์ว่าเป็นโมเดลตลาดหุ้นไทย เป็นต้น

หลังผลการศึกษาแล้วเสร็จจะมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อเฮียริ่งรับทราบ และรับฟังนำไปสู่การปรับขั้นตอนต่อไป แนวทางน่าจะเป็นการปรับหรือยกเลิกต้องมาดูรายละเอียดอีกทีว่ามีประเด็นอะไรบ้าง ซึ่งคาดว่าจะเป็นแนวทางการปรับมากกว่าเพราะสามารถปรับได้หลายด้าน และแสดงให้เห็นด้วยว่า ปรับแล้วดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

@ ด้านภาวะซื้อขายหุ้นไทยเจอแรงกดดันมากแค่ไหน  

มองภาพแบบว่าตลาดหุ้นในช่วง 2 ปีหลังช่วงโควิดมีผลกระทบหลากหลาย แต่ผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นติดอันดับต้นๆ ของโลก หรือปรับตัวลงก็น้อยที่สุดในโลก เมื่อรวมปี 2566 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมากที่สุดแต่เทียบเฉลี่ยแล้วคือ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมาเท่าเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 2 ปีก่อนนักลงทุนคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวมีความหวังเศรษฐกิจจีนจะดีขึ้น นักท่องเที่ยวฟื้นตัว ดอกเบี้ยต่ำ ทั้งหมดคือ 2 ปีก่อน วันนี้เห็นแล้วว่านักท่องเที่ยวจีนยังไม่ฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบ ดอกเบี้ยสูง เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จึงทำให้ความคาดหวังเจอผิดหวังที่ขึ้นไปสูงปรับตัวลงมา

@ ตลาดหุ้นยังต้องเตรียมรับ Prefect storm ลูกใหญ่

คือ  “ความไม่แน่นอน”  เพราะเศรษฐกิจต่างประเทศยังมีปัญหาห้ามไม่ได้เจอทุกตลาด  แต่ปัจจัยที่น่าสนใจคือ ดอกเบี้ยเคยสูงกลับมาคาดการณ์จะไม่สูงขึ้นไปกว่านี้แล้ว ถึงจุดที่จะปรับตัวลง และจะเป็นประโยชน์ต่อไทยที่เมื่อดอกเบี้ยลงสภาพคล่องสูงขึ้น เงินทุนที่อยู่ในสินทรัพย์ปลอดภัยมองสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงได้มากขึ้น

ส่วนโอกาสดึงเม็ดเงินให้กลับมายังตลาดทุนไทย ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกกระทบอย่างไร การวิเคราะห์ลงทุน จึงต้องมองหมดผลกระทบตรง กระทบจากภายนอกจะโดนไทยไหม ลงไปยังอุตสาหกรรมอะไรบริษัทไหน มีบางกลุ่มธุรกิจที่ดึงดูดเม็ดเงิน  มีชื่อเสียง และจุดแข็งทำธุรกิจแบบยั่งยืน ดัชนี TESG Fund ระดมทุนภายใน 1 เดือนสูงถึง 6,000 กว่าล้านบาท สามารถเพิ่มนักลงทุนได้ถึงแสนบัญชี เป็นแนวโน้มที่เป็นบวกสำหรับการลงทุน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์