ตลท. เผย สภาพการซื้อขายผิดปกติและมาตรการกำกับการซื้อขาย

ตลท. เผย สภาพการซื้อขายผิดปกติและมาตรการกำกับการซื้อขาย

ตลท. เห็นถึงความสำคัญในการจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะการซื้อขายที่ร้อนแรงและมีการเก็งกำไรสูง ได้จัดให้มีเครื่องมือในการเฝ้าระวังสอดส่องดูแลสภาพการซื้อขายที่หลากหลาย และมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์

การซื้อขายหลักทรัพย์โดยผู้ลงทุนโดยมุ่งหวังจะทำกำไรจากการคาดการณ์ราคาหลักทรัพย์ที่อาจมีความผันผวนในระยะสั้น หรือที่เรียกว่าการเก็งกำไรเป็นเรื่องปกติของการซื้อขายหลักทรัพย์ อย่างไรก็ดี หากในตลาดมีการเก็งกำไรสูงมากเกินไปโดยเกิดจากการมีสภาพการซื้อขายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วที่ไม่ได้สอดคล้องกับข้อมูลข่าวสารหรือขาดปัจจัยพื้นฐานรองรับก็อาจกลายเป็นภาวะการซื้อขายที่ร้อนแรงและมีการเก็งกำไรสูงเกินไป (excessive speculation)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเห็นถึงความสำคัญในการจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะการซื้อขายที่ร้อนแรงและมีการเก็งกำไรสูงดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที จึงได้จัดให้มีเครื่องมือในการเฝ้าระวังสอดส่องดูแลสภาพการซื้อขายที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึง มาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์

มาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะใช้กับหลักทรัพย์ที่มีสภาพการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วที่ไม่สอดคล้องกับข้อมูลข่าวสารหรือขาดปัจจัยพื้นฐานรองรับ เพื่อจัดการกับภาวะการซื้อขายที่ร้อนแรง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงแก่ผู้ลงทุน กลไกตลาดและระบบการซื้อขายโดยรวม และปรับสภาพการซื้อขายให้เป็นปกติมากขึ้น

มาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์

การจัดการกับภาวะการซื้อขายที่ร้อนแรงและมีการเก็งกำไรสูงเกินไป (excessive speculation) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อาจอธิบายและแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนหลักๆ ได้ดังนี้

1.แนวทางการคัดกรอง เป็นกระบวนการคัดแยกหลักทรัพย์ที่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าหลักทรัพย์นั้นมีสภาพการซื้อขายที่ผิดไปจากปกติ โดยไม่มีปัจจัยด้าน fundamental สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโดยมีลักษณะดังต่อไปนี้
ในช่วงเวลาที่พิจารณา:

  • มีการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือปริมาณซื้อขายอย่างมาก หรือมีการกระจุกตัวของผู้ซื้อขายหลักทรัพย์นั้นมาก 
  • มีอัตราการหมุนเวียนการซื้อขายสูงผิดปกติ  
  • ไม่มีข่าวที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่จะทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา หรือไม่มีปัจจัยด้าน fundamental สนับสนุน หรือไม่สอดรับกับสภาพโดยรวมของอุตสาหกรรมและตลาด

ซึ่งการคัดกรองมีการดำเนินการต่อเนื่องทุกวัน และจะมีการประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ที่เข้ามาตรการกำกับการซื้อขายให้ผู้ลงทุนทราบทั้งแบบรายวัน (Trading alerts: TA) และรายสัปดาห์ (Turnover list: TO) โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ https://www.set.or.th/th/market/news-and-alert/surveillance-c-sign-temporary-trading/market-surveillance-measure-list


2.การดำเนินมาตรการ หลักทรัพย์ที่ถูกคัดกรองให้เข้าสู่มาตรการกำกับการซื้อขาย จะมีการดำเนินมาตรการที่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นเพิ่มจากเงื่อนไขปกติเพื่อลดการเก็งกำไรเกินควรและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งมาตรการกำกับการซื้อขายในปัจจุบันกำหนดไว้ 3 ระดับ โดยการดำเนินมาตรการจะเริ่มจากมาตรการระดับที่เบากว่า ไปจนถึงระดับที่เข้มข้นกว่า ดังนี้

  • มาตรการระดับที่ 1: ให้ซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวด้วยการวางเงินสดล่วงหน้าเต็มจำนวนก่อนซื้อ (Cash Balance) และห้ามนำหลักทรัพย์ดังกล่าวมาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย
  • มาตรการระดับที่ 2: มาตรการระดับที่ 1 + ห้ามหักกลบค่าซื้อและค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน (ห้าม Net settlement)
  • มาตรการระดับที่ 3: ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นเวลา 1 วันทำการ และเมื่อให้กลับมาซื้อขายได้ จะยังคงใช้มาตรการระดับที่ 2 

มาตรการแต่ละระดับมีระยะเวลาการบังคับใช้ครั้งละ 3 สัปดาห์  โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถพิจารณาขยาย หรือยกระดับมาตรการได้ หากพบว่าสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ยังคงผิดปกติ

ภาพที่ 1: มาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์

ตลท. เผย สภาพการซื้อขายผิดปกติและมาตรการกำกับการซื้อขาย

3.การติดตามประเมินผล ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการติดตามสภาพการซื้อขายของหลักทรัพย์ที่ติดมาตรการกำกับการซื้อขายทั้งในระหว่างการดำเนินมาตรการ และภายหลังออกจากมาตรการต่อไปอีก 1 เดือน (Cooling period)

  • การประเมินผลระหว่างดำเนินมาตรการ: เป็นการติดตามประเมินผลการบังคับใช้มาตรการว่าทำให้สภาพการซื้อขายหลักทรัพย์กลับมาเป็นปกติหรือไม่ หากยังคงพบความผิดปกติอยู่ อาจมีการขยายมาตรการระดับเดิมออกไปอีก 3 สัปดาห์ แต่หากพบความผิดปกติเพิ่มขึ้น อาจมีการยกระดับใช้มาตรการในระดับถัดไป จนกว่าการซื้อขายจะกลับมาอยู่ในสภาพปกติซึ่งจะทำให้หลักทรัพย์นั้นพ้นจากมาตรการกำกับการซื้อขาย
  • การประเมินผลภายหลังมาตรการ (Cooling period): ในช่วงเวลา 1 เดือนหลังพ้นจากมาตรการกำกับการซื้อขาย เป็นช่วงที่ยังคงมีการติดตามสภาพการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง โดยหากพบความผิดปกติในช่วงนี้ หลักทรัพย์ดังกล่าวจะถูกนำกลับเข้ามาในมาตรการ โดยอาจนำกลับเข้ามาในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับล่าสุดที่หลักทรัพย์ดังกล่าวถูกใช้บังคับ หรือนำกลับเข้ามาในระดับมาตรการที่สูงขึ้นหากสภาพการซื้อขายมีระดับความผิดปกติเพิ่มมากขึ้น

ภาพที่ 2: ขั้นตอนการดำเนินการตามมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์

ตลท. เผย สภาพการซื้อขายผิดปกติและมาตรการกำกับการซื้อขาย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการทบทวนปรับปรุงปัจจัยในมาตรการกำกับการซื้อขายให้สอดคล้องกับสภาวะการซื้อขายอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งจากการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่ได้ปรับปรุง  โดยใช้ข้อมูลในช่วงระหว่างวันที่ 4 เมษายน 2565 จนถึง 31 ธันวาคม 2566 พบว่า มาตรการกำกับการซื้อขายที่ปรับปรุงดังกล่าว มีประสิทธิภาพในการจัดการกับสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ โดยมีส่วนช่วยลดความร้อนแรงในการเปลี่ยนแปลงของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งมีส่วนทำให้ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงภายหลังการดำเนินมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์

ภาพที่ 3: ผลการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการกำกับการซื้อขาย

ตลท. เผย สภาพการซื้อขายผิดปกติและมาตรการกำกับการซื้อขาย

มาตรการข้างต้นเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติให้กับผู้ลงทุน ช่วยให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีภาวะการซื้อขายที่ร้อนแรงและอาจมีการเก็งกำไรที่สูงเกินไป อย่างไรก็ดี ในการลงทุนยังมีปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆ อีกมาก ผู้ลงทุนจึงควรหมั่นติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันเหตุการณ์และสามารถใช้ข้อมูลต่างๆ ประกอบการตัดสินใจซื้อขายด้วยหลักการและเหตุผลอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีผู้ไม่ประสงค์ดีใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียหรือช่องทางติดต่อสื่อสารอื่นๆ ในการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงหรือหลอกลวงเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสารเพื่อให้รู้เท่าทันการกระทำดังกล่าวเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวผู้ลงทุนเอง รวมทั้งตลาดทุนโดยรวม