หุ้นไทยวันนี้ 8 ม.ค.67 เปิดตลาด ร่วง 9.02 จุด ไร้ปัจจัยใหม่ - หุ้นกู้อสังหาฯ ฉุด

หุ้นไทยวันนี้ 8 ม.ค.67 เปิดตลาด ร่วง 9.02  จุด ไร้ปัจจัยใหม่ - หุ้นกู้อสังหาฯ ฉุด

หุ้นไทยวันนี้ 8 ม.ค.67 ตลาดหุ้นเปิดเช้านี้ อยู่ที่ 1,418.94 จุด ปรับตัวลง 9.02 จุด หรือ 0.63% โบรกเกอร์ชี้ดัชนีเช้านี้ แกว่งไซด์เวย์ไร้ปัจจัยใหม่ เกาะติดตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐสัปดาห์นี้ มองกรอบดัชนีวันนี้ แนวรับ 1,420 จุด และแนวต้าน 1,435 จุด

หุ้นไทยวันนี้ ความเคลื่อนไหววันที่ 8 ม.ค.67  ตลาดหุ้นไทย เปิดเช้านี้ ดัชนี SET อยู่ที่ 1,418.94 จุด ปรับตัวลง 9.02 จุด หรือ 0.63% มูลค่าการซื้อขาย ทั้งสิ้น 5.63 พันล้านบาท

หุ้นไทยวันนี้ 8 ม.ค.67 เปิดตลาด ร่วง 9.02  จุด ไร้ปัจจัยใหม่ - หุ้นกู้อสังหาฯ ฉุด

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า "ตลาดหุ้นไทย" เช้านี้ คาดแกว่งไซด์เวย์ออกด้านข้าง ไร้ปัจจัยใหม่หนุนดัชนี โดยเมื่อคืนวันศุกร์ (5 ม.ค.67) ตัวเลขเศรษฐกิจภาคแรงงานของสหรัฐแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ตลาดยังไม่มั่นใจว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.67

ขณะที่สัปดาห์นี้นักลงทุนจับตาการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในช่วงคืนวันพฤหัส ส่งผลให้ดัชนีน่าจะแกว่งออกข้าง ซึ่งหากตัวเลขเงินเฟ้อออกมาลงช้า คาดว่าจะยังคงมีแรงกดดันตลาดต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หากตัวเลขเงินเฟ้อยังขยับลงได้เร็วกว่าที่ตลาดมอง อาจจะสร้างความเชื่อมั่น และจะทำให้ตลาดรีบาวด์ได้ในช่วงสั้น

 

สำหรับการลงทุนในช่วงนี้แนะนำเลือกเป็นรายตัว ซึ่งหากสถานการณ์ดูนิ่งๆ มองไปที่กลุ่มการแพทย์ และกลุ่มค้าปลีก ซึ่งน่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการ Easy e-Reciept ในเดือนนี้

มองกรอบดัชนีวันนี้ ให้แนวรับ 1,420 จุด และแนวต้าน 1,435 จุด

นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดัน จากประเด็นข่าวเรื่องการเลื่อนชำระคืนหุ้นกู้ของ ITD ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อภาค อสังหาฯ เนื่องจากหากอิงข้อมูลของ SCB EIC พบว่า หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดปี 2567 รวมหุ้นกู้ระยะสั้น และยาว มีมูลค่าทั้งสิ้น 1.07 ล้านล้านบาท แบ่งตามเครดิตเรตติ้งในกลุ่ม Investment Grade ราว 9 แสนล้านบาท และที่เหลือ Non-Investment Grade) ซึ่งหากแบ่งตามกลุ่มธุรกิจพบว่าอยู่ในกลุ่มอสังหาฯ ราว 1.8 แสนล้านบาท (หรือสัดส่วน 17% ซองหุ้นกู้ทั้งหมด) และอยู่ในกลุ่ม Non-Investment Grade 6.12 หมื่นล้านบาท(สัดส่วน 34% ของหุ้นกู้ประเภท Non-Investment Grade)

นอกจากนี้หุ้นกู้ในระบบที่จะครบกำหนดไตรมาส 1 ปี 2567  มีอยู่เกือบ 1.9 แสนล้านบาท (แบ่งเป็น Investment Grade 1.48 แสนล้านบาท, Non-Investment Grade 2.04 หมื่นล้านบาท และ
Non-Rated อีกราว 1.77 หมื่นล้านบาท) และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ในกลุ่มอสังหาฯ เป็นหลัก ทำให้เกิดความกังวลต่อความเสี่ยงที่จะไม่สามารถคืนหุ้นกู้ หรือไม่สามารถ Roll-over ได้

นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวสร้าง Sentiment เชิงลบต่อภาพรวมของกลุ่มอสังหาฯ แต่ก็ไม่สามารถเหมารวมความเสี่ยงต่อกลุ่มอสังหาฯ ทั้งระบบได้

เนื่องจากต้องพิจารณา และวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาหุ้นกู้เป็นรายตัวมากกว่า โดยมองว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงมากกว่ารายอื่นคือ ผู้ประกอบการอสังหาฯ รายกลาง-เล็ก ที่มีพอร์ตสินค้าไม่ได้กระจายตัว โดยกระจุกตัวในสินค้าประเภทคอนโดฯ (เสี่ยงมากกว่าแนวราบฯ ที่มี  Business Cycle สั้นกว่า และสามารถทยอยลงทุนเป็นเฟสๆ ได้ รวมถึงผู้ประกอบการที่มีปัญหาสภาพคล่องการเงิน โครงสร้างการเงินอ่อนแอ วัดจาก Net Gearing สูงเกิน 2-3 เท่าขึ้นไป

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงผู้ประกอบการที่ฝ่ายวิจัยศึกษา 15 บริษัทใน SET ถือเป็นบริษัทรายกลาง-ใหญ่ พบว่า ส่วนใหญ่ยังมีฐานะการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี วัดจากอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อทุนสุทธิ (Net Gearing) อยู่ในกรอบ 1-1.2 เท่า มาโดยตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดสิ้น ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 1.1 เท่า

โดยมีภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ยจ่ายรวมทั้งสิ้น 4.07 แสนล้านบาท (รวม Perp Bond ของ ANAN และ SIRI  รวม 8 พันล้านบาท) พบว่า หนี้สินสัดส่วน 45% ของหนี้ที่มีดอกเบี้ยอยู่ในรูปแบบเงินกู้ยืมธนาคาร และอื่นๆ ขณะที่สัดส่วนใหญ่ราว 55% หรือเท่ากับ 2.23 แสนล้านบาท อยู่ในรูปแบบหุ้นกู้ระยะสั้นและยาว และหากจำแนกลงไปถึงหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระคืนภายใน 1 ปีข้างหน้า มีทั้งสิ้น 6.66 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30% ของหุ้นกู้ทั้งหมด หลักๆ

มาจาก LH มีหุ้นกู้ครบใน 1 ปี ข้างหน้าเกือบ 1 หมื่นล้านบาท , SIRI 8.16 พันล้านบาท, SPALI และ PSH เฉลี่ย 6 พันล้านบาท บริษัท รวมถึง AP 5.3 พันล้านบาท ซึ่งล้วนถือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสายป่านยาว เน้นธุรกิจแนวราบที่มีกระแสเงินสดหมุนเร็ว และการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องแต่อย่างใด

ขณะที่ ANAN แม้มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดใน 1 ปีข้างหน้า ราว 7 พันล้านบาท แบ่งเป็น 2 งวด คือ ช่วง ม.ค. จำนวน 3.8 พันล้านบาท แต่ปัจจุบันมีแหล่งเงินทุนรองรับพร้อมชำระแล้ว ขณะที่อีกงวดเดือนก.ค. อีก 3.2 พันล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดหาแหล่งเงินทุน คาดมาจากการขายสต็อกโครงการเดิม รวมถึงแผนขายสินทรัพย์ เช่น Serviced Apartment และที่ดินบางส่วน รวมมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดธุรกรรมเสร็จสิ้นภายใน ไตรมาส 1/2567

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์