ที่สุดหุ้นไทย ปี 2566 “สั่นคลอนความเชื่อมั่น”

ที่สุดหุ้นไทย ปี 2566 “สั่นคลอนความเชื่อมั่น”

ปี 2566 เปิดความหวังการลงทุนจากปัจจัยในและต่างประเทศ ทั้งธีมเลือกตั้ง–ต่างชาติที่เข้ามาตั้งแต่ต้นปี แต่กลับจบปีด้วยภาพเศรษฐกิจไทยยังไม่ชัดเจนจะเดินไปในทิศทางไหนเพื่อประตุ้นเศรษฐกิจ

ปัญหาต่างประเทศวิกฤติหนี้อสังหาฯ จีน วิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐ รวมไปถึงปะทะกันระหว่างประเทศจนลุกลามไปยังสินทรัพย์เพื่อการลงทุน

หากแต่อิมแพคที่รุนแรงและสาหัสตั้งแต่ต้นปีจนท้ายปี สำหรับนักลงทุนไทยจนกลายเป็นบ่อเกิดความไม่เชื่อมั่น “ตลาดทุนไทย” คือการฉ้อโกงหุ้นดัง “STARK” ที่สะเทือนทั้งตลาดทุน –ตลาดตราสารหนี้ และองค์กรที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมากตามมาด้วย “ เบี้ยวหนี้หุ้นกู้” “รายย่อยลุกขึ้นประท้วง” ตลท. กรณีปล่อยให้โปรแกรมเทรดเอาเปรียบรายย่อย

จนทำให้ปี 2566 กลายเป็นปีที่บอบช้ำหนักของนักลงทุนไทยเลยก็ว่าได้

@ STARK มหากาพย์ฉ้อโกงครั้งใหญ่ตลาดหุ้นไทย

ขึ้นเป็น top pick ในปี 2566 ที่ต้องหยิบยกและจาลึกในตลาดทุนไทย ปรากฎการณ์ ฉ้อโกงครั้งใหญ่ ของ STARK ที่มีสัญญาณตั้งแต่ราคาหุ้นร่วงผิดฟอร์มหุ้น SET100 รายได้-กำไรระดับหมื่นล้านบาท หลังความผิดปกติจากงบการเงินไตรมาส 4 ปี 2565 จนผู้สอบบัญชีไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้จนต้องหลุดจากทำเนียบ SET 100 และหุ้นขึ้นหยุดพักการซื้อขาย SP ตั้งแต่ 28 ก.พ. 2566 หลังราคาหุ้นดิ่งฟลอร์

กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ใส่ตลาดหุ้นไทยเมื่อปรากฎปัญหาเบี้ยวหนี้หุ้นกู้ 9,200 ล้านบาท จนนำไปสู่การสาวข้อมูลการฉ้อโกงช่วงเดือน ก.ย.ทั้งตกแต่งบัญชี – ผ่องถ่ายเงิน ผ่านบริษัทลูก “เฟ้ลปส์ ดอด์จ “ “เอเชีย แปซิฟิกฯ” “อดิสรสงขลา ” และ “ไทย เคเบิ้ล” ด้วยการกระจายเงินสร้างหลักฐานปลอมลูกหนี้ – เจ้าหนี้ แถมจ่ายภาษีเพื่อเลี่ยงการตรวจสอบและสร้างราคาหุ้น

ที่สุดหุ้นไทย ปี 2566 “สั่นคลอนความเชื่อมั่น”

ผ่านตัวละครผู้ถือหุ้นใหญ่ตระกูลดัง “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” มือขวา “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” จนเกิดปรากฎการณ์ 11หน่วยงานตลาดทุนไทย นำโดย ก.ล.ต. - ตลท. -สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย –สภาวิชาชีพในพระบรมราชูปถัมภ์ -สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย – สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน –ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย

และงานด้านการลงทุน สมาคมบริษัทจัดการลงทุน -สมาคมตลาดตราสารหนี้ และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เป็นต้นจำเป็นต้องมาออกแถลงข่าวอย่างพร้อมเพรียงท่ามกลางความครางแคลงใจนักลงทุนที่ไม่เชื่อมั่นตลาดทุนไทยอย่างรุนแรง

 

@ Naked Short เป็นเหตุพาตลาดปั่นป่วน

“นักลงทุนรายย่อย “ ที่มีสัดส่วนในตลาดหุ้นไทย 33 % กลับทำเกิดผลกระทบใหญ่ต่อตลาดหุ้นไทย นัดรวมตัวหยุดเทรดทุกโบรก 20 พ.ย. หลังมีความ "กังขาต่อระบบการซื้อขาย High-Frequency Trading (HFT) และ Robot Trade ที่เอาเปรียบรายย่อย" ด้วยจำนวนเงินที่มากกว่า –เทคโนโลยีที่ดีกว่า แต่กลับสามารถทั้ง Short sell และ SBL ได้ไม่มีลิมิต จนทำให้รายย่อยเผชิญเวลท์หดหายจนขาดทุนเพราะไม่มีวันเอาชนะเครื่องมือเหล่านี้ได้เลย จนทำให้เกิดความกังขาถึงธุรกรรมประเภท Naked Short เป็นผีในตลาดหุ้นที่มีจริงแต่จับไม่ได้ไล่ไม่ทันหรือไม่

โดยมีการชี้ไปที่บรรยากาศตลาดหุ้นไทยช่วงก.ย. และทวีความรุนแรงจากการเทขายมากผิดปกติของนักลงทุนต่างประเทศแทบทั้งเดือนจนดัชนีหุ้นไทยหลุดดัชนีสำคัญอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน ก.ย. หลุด 1,500 จุด เดือน ต.ค. หลุด 1,400 จุด และในเดือนเดียวกันทำนิวโลว์ในรอบ 3 ปี ที่ 1,366 จุด

โดยระหว่างทางแทบจะไร้การรีบาวด์ใหญ่ให้เห็นอย่างที่ภาวะตลาดปกติเห็นในอดีต หรือภาพตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวบวกถ้วนหน้ากลับมีเพียงตลาดหุ้นไทยที่ลงต่อ หรือตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงแรงตลาดหุ้นไทยลงได้แรงกว่าแบบไร้ปัจจัยหนุน

สวนทางกับการออกมาแถลงข่าวของ ตลท. ในช่วงแรกที่ยืนยันไม่พบธุรกรรม Naked Short ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และภาวะตลาดหุ้นไทยปกติ ไม่ได้เกิดธุรกรรมเอาเปรียบนักลงทุน แต่หลังจากมีแรงกดดันต่อเนื่องทำให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลรายวันตามมูลค่าการซื้อขายจาก Program Trading ซึ่งทำให้นักลงทุนเห็นว่าได้มีสัดส่วนสูงถึง 40 % ของมูลค่าการซื้อขายไปแล้ว

ที่สำคัญยังกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวต่อการทำงานของหน่วยงานตลาดทุน ว่าสร้างมาตรฐานที่เหมาะสมให้กับนักลงทุนทุกกลุ่มหรือไม่ หรือเน้นเพิ่มมูลค่าการซื้อขายจากนักลงทุนต่างประเทศ – กองทุน จนละเลยนักลงทุนรายย่อยไป ซึ่งทำให้กลายเป็นประเด็นต้องจับตาไปถึงการเปลี่ยนแปลงบอร์ดตลท. ปี 2567 ไปด้วย

 

@ โดมิโน่เอฟเฟกต์ “หุ้นกู้”

ผลกระทบใหญ่ตามมาและยังมีผลข้ามปีคือ ตลาดหุ้นกู้ ที่แทบจะปิดตายสำหรับกลุ่ม Hight Yield Bond เพราะนักลงทุนเริ่มไม่เชื่อมั่นบริษัท –งบการเงิน –ผู้บริหารจะซ้ำรอย STARK อีกหรือไม่เพราะหลังจากเคส STARK ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบปรากฎการณ์ “เบี้ยวหนี้หุ้นกู้” บจ. ตลาดหุ้นไทยโผล่ขึ้นมาอีก

ไล่มาตั้งแต่บริษัท ออลล์ อินสไปร์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL ผิดนัดหุ้นกู้ 2,300 ล้านบาทรวมเคส STARK หุ้นกู้ 9.1 พันล้านบาท และยังมีเคสหุ้นกู้ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHOต้องขอผ่อนผันเหตุผิดนัดทั้ง 4 รุ่น มูลค่า 745.69 ล้านบาท จนเกิดโดมิโน่แอฟเฟค

เกิดสถานการณ์ “หุ้นกู้ขายไม่ออก” จำนวนมากจากเดิมสามารถเสนอขายเต็มวงเงิน 400-500 ล้านบาท เหลือขายจำนวนมาก หรือเสนอขายได้จริงเพียง 90 ล้านบาทก็มี

โดยเฉพาะการเสนอขายหุ้นกู้กลุ่ม High Yield หรือกลุ่มที่มีเรตติ้ง BB+ ลงไปถึงไม่มีการจัดเรทติ้ง รวมทั้งหุ้นกู้มีประกันถึงขั้นต้องเรียกร้องให้เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อด้วยการใส่สินทรัพย์ที่มาค้ำประกันเพื่อครอบคลุมหนี้ทั้งหมด ซึ่งต้องยอมรับสภาพไม่งันเจอหุ้นกู้เหลือขาย

หากแต่เคส “เบี้ยวหนี้หุ้นกู้”ที่ทำเอาโด่งดังแบบข้ามจักรวาลเจ้าของธุรกิจ“แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์”บริษัทเจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ปจำกัด (มหาชน) หรือJKN ที่มีหุ้นกู้ในมือถึง 7 ชุด มูลค่า 3,300ล้านบาท เผชิญสภาพคล่องขาดมือ-รายได้ไม่พอกับการชำระหนี้ เพราะนำไปลงทุนเกินตัวโดยเฉพาะลิขสิทธ์ MOU (Miss Universe Organization หรือ MUO) มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ หรือ 800 ล้านบาท ที่มีแต่รายจ่ายยังไม่มีรายได้เข้ามา

หุ้นกู้ชุดที่2/2563 ครบกำหนด 1ก.ย. 2566วงเงิน600ล้านบาทดอกเบี้ย6.6% ได้ผิดนัดชำระหนี้(บางส่วน) จากนั้นมีการขุดคุ้ยประเด็นงบการเงิน “ว่าฐานะการเงินที่แท้จริงของ  JKN ที่ผ่านมาถูกต้องแค่ไหน  โดยเฉพาะ “ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น " หรือ“สินทรัพย์ไม่มีตัวตน –ลิขสิทธิ์รายการ”ตีมูลค่าสูงมาก

ทั้งที่ตามงบที่ปรากฎบริษัทมีสินทรัพย์ที่สูง หนี้สูง รายได้สูง มีกำไร แต่จ่ายปันผลปี 2565 ไม่ได้ และยังผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้อีก ซึ่งด้านสินทรัพย์ที่สูงถึง 12,000 ล้านบาท เป็นสินทรัพย์ที่จัยต้องไม่ได้คือพวกลิขสิทธิ์ซีรีย์ และหนังต่างๆ มีอายุ และฮิตตามกระแสไม่ได้สร้างรายได้สม่ำเสมอกลับตีมูลค่าได้สูงขนาดนี้จากอะไร

ยังไม่นับรวมความกังขาประเด็น ราคาหุ้น JKN ได้รับความนิยมจากนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากจากสิ้นปี 2563 ราคาหุ้นปิดที่ 7.70 บาท ปี 2564 ปิดที่ 8.10 และปี 2565 ปิดที่ 4.08 บาท และระหว่างปี 2564 ราคาหุ้นกระโดดไปถึง 11 บาท และระหว่างทางมีการเทซื้อ-ขายหุ้นตัวเองออกมาอย่างต่อเนื่องของ “แอน จักรพงษ์” เฉพาะฝั่งขายหุ้นตั้งแต่ช่วงราคา 4.74 – 4.10 บาท จำนวน 4 ครั้งรวมแล้ว 300 ล้านบาท

ที่สุดหุ้นไทย ปี 2566 “สั่นคลอนความเชื่อมั่น”

จนสุดท้าย JKN ยอมจำนน “เร่งยื่นฟื้นฟูกิจการ” อย่างเร่งด่วนเพื่อลดการรุมเร้าจากเจ้าหนี้ซึ่งศาลล้มละลายกลางรับคำร้องไต่สวน 29 ม.ค. 2567 ท่ามกลางเจ้าหนี้ – ผู้ถือหุ้นต่างคัดค้านการฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้

ปัญหาหุ้นกู้ยังไม่หมดแค่เคส JKN เพราะปี 2567หุ้นกู้เอกชนครบกำหนดรวมมูลค่าสูงถึง1 ล้านล้านบาท!! ที่จะต้องมีการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนด (โรลโอเวอร์) หรือรีไฟแนนซ์จำนวนมาก โดยจะกระทบบริษัทขนาดเล็ก และขนาดกลางทำให้รีไฟแนนซ์ทำได้ยาก ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะล้มละลายในปีหน้าได้อีกด้วย

 

@ หุ้นไทยรั้งท้ายผลตอบแทน

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดีหลังจากตลาดหุ้นไทยต้นปีมีความหวังไปที่การเลือกตั้งจนเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิรอตั้งแต่ปลายปี 2565 ถึง 2 แสนล้านบาทดัชนีต้นปีที่ระดับ 1,700 จุดทำให้การลงทุนมีทิศทางที่สดใส แต่หลังจากการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ผ่านพ้นไป การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องมีการเปลี่ยนขั้วจากพรรคก้าวไกลเป็นพรรคเพื่อไทยกระทบความเชื่อมั่นตามมา

 

ที่สุดหุ้นไทย ปี 2566 “สั่นคลอนความเชื่อมั่น”

ปัจจัยภายนอกประเทศ“นโยบายดอกเบี้ยของ FED ”ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องทำให้ Yield Curve พันธบัตรอายุน้อยสูงกว่าพันธบัตรอายุมากกว่าทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลไปลงทุนในสกุลดอลลาร์ และเทขายสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตน้อยอย่างตลาดหุ้นไทยตามเศรษฐกิจที่แทบไม่เติบโตจีดีพีไตรมาส 1ที่ 1.3 % ไตรมาส 2 ที่ 1.8 % ไตรมาส 3 ที่ 2.7 % และทั้งปีไม่เกิน 2 % และเฉลี่ย 10 ปี อยู่ที่ 1.8-1.9 % จนได้รับกล่าวถึงว่าเป็นประเทศที่โตต่ำมากที่สุดในอาเซียน

ดังนั้นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยตั้งแต่เดือนพ.ค. และเป็นการขายสุทธิต่อเนื่องจนถึงเดือนธ.ค. จนทำให้ยอดขายสุทธิต่างชาติเกือบ 2 แสนล้านบาทไปแล้ว โดยระหว่างทางเป็นนักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ซื้อสุทธิ 1.2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามปัจจัยลบเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นเข้ามาถาโถมหุ้นไทยต่อเนื่องจนทำให้นักลงทุนระยะยาวลงทุน 1 ปี ขึ้นไป ต้องเผชิญผลตอบแทนที่ติดลบมากรั้งท้ายอันดับตลาดหุ้นโลกไปครอง -20 %

ดัชนีหลุด 1,600 จุด เดือน มี.ค. หลังเลือกตั้งดัชนีหลุด 1,500 จุด เดือนก.ย. จากนั้นเป็นการเทขายต่างชาติต่อเนื่องและรุนแรงจนทำให้ดัชนีทำจุดต่ำสุด 2 ครั้ง 1,366 จุด เดือน ต.ค. และ 1,359 จุด (14 ธ.ค.)สวนทางกับดัชนี Dow Jones ที่นิวไฮ 37,197 จุด และตลาดหุ้นอินเดีย SENSEX 70,514 จุด (15 ธ.ค.)

ท่ามกลางตลาดหุ้นสหรัฐ – อินเดีย –ญี่ปุ่น นำ “สถิติออลไทม์ไฮ” หรือแม้แต่สินทรัพย์ทางเลือกราคาทองคำ หรือ บิทคอยน์ กลับมาทำราคาบวกแซงหน้าหุ้นไทยไปหมด