ตลท. เตรียมตั้งคณะทำงานพิเศษ ยกระดับกำกับ 'naked Short - โปรแกรมเทรด'

ตลท. เตรียมตั้งคณะทำงานพิเศษ ยกระดับกำกับ 'naked Short - โปรแกรมเทรด'

ตลท. เตรียมตั้งคณะทำงานพิเศษ ยกระดับกำกับ 'naked Short - โปรแกรมเทรด' รวมถึงขีดเส้นโบรกเกอร์ส่งหลักฐานลูกค้าขายชอร์ตว่ามีหุ้นในครอบครองก่อนส่งคำสั่งซื้อขายหรือไม่ ภายใน 15 วัน หากส่งไม่ทัน ส่งไม้ต่อให้คณะกรรมการวินัยดำเนินการต่อ พร้อมศึกษาความเท่าเทียมของผู้ใช้โปรแกรมเทรด กับไม่ใช้โปรแกรมเทรด

วันนี้ (21 พ.ย.66) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ได้มีการแถลงข่าวด่วน เรื่อง"แนวทางการยกระดับการกำกับดูแลเพิ่มเติม" โดย นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวทางการยกระดับการกำกับดูแลเพิ่มเติ่ม ในส่วนของการกำกับดูแลการซื้อขายโปรแกรมเทรด และเน็กเก็ตชอร์ต (Naked Short) โดยตลาดหลักทรัพย์ เตรียมจัดตั้งคณะทำงานพิเศษ เพื่อเข้ามาช่วยให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะในการตรวจสอบการซื้อขายโปรแกรมเทรด และNaked Short 

สำหรับคณะทำงานพิเศษดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้แทนจาก ตลท. ผู้แทนจากตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (NASDAQ)  และตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ (KRX)

 

"ตลท.จะมีการตั้งคณะทำงานพิเศษมาช่วยดูแลในเรื่องการตรวจสอบการซื้อขายของโปรแกรมเทรด และNaked Short  ว่ามีอะไรที่เราต้องทำเพิ่มอีกหรือไม่ "

นายรองรักษ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีเรื่องการตรวจสอบธุรกรรมชอร์ตเซล ตลาดหลักทรัพย์ได้มีการเพิ่มเกณฑ์ให้โบรกเกอร์ส่งข้อมูลหลักทรัพย์ของลูกค้าที่ทำธุรกรรมชอร์ตเซลภายใน 15 วัน ว่า ก่อนขายนั้นลูกค้ามีหลักทรัพย์ (หุ้น)ในครอบครองก่อนที่จะขายชอร์ตหรือไม่ 

ดยหากโบรกเกอร์ไม่สามารถส่งข้อมูลหลักฐานมาภายใน15 วัน จะสันนิษฐานก่อนว่า ลูกค้าไม่มีหุ้นในครอบครอง(Naked Short) ก็จะมีการดำเนินการทางวินัย ซึ่งโบรกเกอร์สามารถส่งหลักฐานหรือแก้ต่างได้ในขั้นการดำเนินการทางวินัย   แต่หากพบว่ามีการขายชอร์ตโดยที่ลูกค้าไม่มีหุ้นในครอบครองก่อนขาย การลงโทษทางวินัยกับโบรกเกอร์ มีตั้งแต่ตักเตือน  ปรับ ภาคทัณฑ์ ระงับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์จะมีการทบทวนส่วนเรื่องความเท่าเทียมของการซื้อขายของโปรแกรมเทรด กับผู้ลงทุนที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมเทรด 

ส่วนเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ดำเนินการไปแล้วนั้น ในเรื่องการกำกับดูแลธุรกรรมชอร์ตเซลขคือ ส่งหนังสือเวียนไปกำชับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ที่เป็นสมาชิก และไม่ใช่สมาชิก รวมถึงบริษัททำให้หน้าที่เป็นคัสโตเดียนช่วยกันตรวจสอบว่าก่อนที่ลูกค้าจะมีการส่งคำสั่งขายชอร์ตนั้นลูกค้ามีหุ้นดังกล่าวในครอบครองก่อนส่งคำสั่งขายชอร์ตหรือไม่ 

รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ได้มีการประสานไปยังก.ล.ต.ในการช่วยตรวจสอบบัญชีซื้อขายประเภทOmnibus (ออมนิบัส) คือ บัญชีซื้อขายที่มีมากกว่า1 คน  ซึ่งปกติเป็นนักลงทุนต่างประเทศ และมีคัสโตเดียนต่างประเทศในการเก็บรักษาหุ้น  โดยตลาดหลักทรัพย์มีข้อจำกัดไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้ แต่ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานกำกับของประเทศไทย และเป็นสมาชิก ของIO​SCO  ซึ่งสามารถประสานไปยังหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ หรือก.ล.ต.ของประเทศนั้นๆ ได้ 

นอกจากนี้ในวานนี้ (20 พ.ย.66) คณะกรรมการ(บอร์ด) ตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการประชุมด่วน เพื่อพิจารณาในส่วนของเกณฑ์ชอร์ตเซลว่า จะเปลี่ยนเกณฑ์ในกำหนดราคาการทำชอร์ตเซล (Price Rule)เป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดครั้งสุดท้าย (Uptick Rule)หรือไม่  โดยบอร์ด ตลท.ได้พิจารณาแล้วว่าด้วยสถานการณ์การซื้อขายหุ้นในปัจจุบันนั้นไม่มีความผิดปกติ และไม่ได้เกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญ ทำให้ยังคงใช้เกณฑ์ราคาขายชอร์ตในปัจจุบันต่อไปคือ ราคาขายชอร์ตจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาดล่าสุด 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์